posttoday

พุทธธรรม 4.0 ศาสนากับความท้าทายทางเทคโนโลยี

24 เมษายน 2561

เรากำลังก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่ง ทั้งวิธีคิด วิธีดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง นั่นทำให้โลกดิจิทัล 4.0

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์  ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข, คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เรากำลังก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่ง ทั้งวิธีคิด วิธีดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง นั่นทำให้โลกดิจิทัล 4.0 กับความท้าทายทางเทคโนโลยีที่เบื้องหน้า กลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลก ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์สำคัญทางศาสนา ในฐานะของที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว ซึ่ง(ควร)เข้าถึงมนุษย์มากที่สุด

ว.วชิรเมธี พระนักคิดนักเขียน ผู้ก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัย และศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวันเล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงคือธรรมดาของโลก พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ เมื่อรู้ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง เราชาวพุทธจึงควรยอมรับอนิจจังให้ได้

“ชาวพุทธปรับใจยอมรับในความเป็นไปของทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งในยุคดิจิทัล ที่จะได้เห็นทั้งวัดออนไลน์ วัดบนเฟซบุ๊ก การทำบุญผ่านคิวอาร์โค้ด การสวดมนต์ไหว้พระผ่านไลฟ์โปรแกรม หรือแม้กระทั่งอาตมาเอง ก็ไลฟ์สดไปทั่วโลกในทุกวันนี้” พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี กล่าว

พุทธธรรม 4.0 ศาสนากับความท้าทายทางเทคโนโลยี

ความเปลี่ยนแปลงมีทั้งบวกและลบ หากมองด้วยใจเป็นกลาง ย่อมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับโอกาส ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับเครื่องมือที่ดีที่สุดแห่งยุคสมัย ส่วนอริยสัจสี่ในยุค 4.0 ยังคงเป็นความจริงที่สากล เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ยังคงอกาลิโกเหนือกาลเวลา

ว.วชิรเมธีเล่าต่อไปว่า อริยสัจสี่แก้ทุกข์เสมอ ไม่มีวันหมดอายุการใช้งาน ยิ่งเราอยู่ในยุคอภิมหาดาต้า คนจ่อมจมและขึ้นลงอยู่ในกระแสโซเชียลมีเดีย นิโรธก็คืออย่าให้มากจนเกินไป มรรคคือจัดสรรเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม ใช้เวลาหน้าจอบนทางสายกลาง ตาหูไม่เสื่อม บริโภคอย่างมีสติ นี่คืออริยสัจสี่ในยุค 4.0

“ชาวพุทธต้องปรับตัวในแง่ของการรู้เท่าทันสื่อ รู้จักนำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้ในงานเผยแผ่ศึกษาธรรม เช่น โปรแกรมไลฟ์ก็ใช้ในการบรรยายธรรม หรือสอนสมาธิภาวนาพร้อมกันทั่วโลก คนไม่ต้องมาวัด แต่ดูยูทูบของพระอาจารย์ต่างๆ เดี๋ยวนี้ศึกษากันได้ทั่วโลกแบบ 2 ภาษาซับไตเติ้ล”

พุทธธรรม 4.0 ศาสนากับความท้าทายทางเทคโนโลยี

เฟซบุ๊กของ ว.วชิรเมธี ในปัจจุบันมีผู้ติดตาม 6 ล้านคนทั่วโลก สมัยก่อนชาวไทยและชาวต่างชาติจะศึกษาธรรมต้องเดินทางมาที่ไร่เชิญตะวัน ซึ่งจะเปิดอบรมทุก 2 เดือน แต่ปัจจุบันอินบอกซ์เข้ามาถามปัญหาได้เลยตลอดเวลา รวมทั้งทำคลิปธรรมะเผยแพร่ในยูทูบ โดยมีซับไตเติ้ลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา

ว.วชิรเมธีระบุว่า แม้จะเป็นประโยชน์มาก แต่ก็มีโทษมาก ต้องรำลึกอยู่เสมอว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ อย่าให้เป็นนายเหนือเรา รู้เท่าทันทั้งด้านบวกและด้านลบอย่ามัวภูมิใจกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คุณและโทษต้องบริหารจัดการภายใต้กรอบประโยชน์สูงสุด เทคโนโลยีพึงทำหน้าที่ของสื่อและเครื่องมือที่จะเชื่อมทั้งตัวเทคโนโลยีเอง และเชื่อมหัวใจของคนทั้งโลกให้เป็นดั่งพี่น้องพึ่งพากลมเกลียว

พระนวลจันทร์ กิตติปัญโญ พระวิปัสสนาจารย์ สถานปฏิบัติธรรมวิวัฏฏะ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เล่าว่า ดิจิทัล 4.0 ถ้าทำหรือพัฒนาในสิ่งที่เป็นธรรม ไม่ทำลายโลก ไม่ทำลายธรรมชาติ ก็ถือเป็นความหมายและเครื่องมือในการพัฒนาโลกอย่างแท้จริง ธรรมะไม่จำกัดกาล จึงใช้ได้กับโลกทุกยุคสมัย หรือจะ “แอดวานซ์” ไปกว่า 4.0 ก็ยังได้

พุทธธรรม 4.0 ศาสนากับความท้าทายทางเทคโนโลยี

“เป็น อยู่ คือ ด้วยโซเชียลมีเดียนั้น ควรมีธรรมะกำกับ เพื่ออยู่ เย็น และเป็นประโยชน์”

วางใจอย่างไรในโลกยุคออนไลน์ มุมของโลกที่ไม่ได้มีแต่ออฟไลน์เหมือนเก่า ในมุมของพระสงฆ์พระศาสนา โลกจะพัฒนาไปในแบบใดก็ตาม หัวใจคือการพัฒนาที่ประกอบกับธรรม ความรู้มากมายในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น หากความรู้จริงในอริยสัจสี่จึงจะเป็นความรู้สู่การหลุดพ้น

การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียการว่ากล่าว การตำหนิ ติฉิน หรือแม้กระทั่งการซ้ำเติม ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัยของยุคสมัยไปแล้ว พระอาจารย์นวลจันทร์แนะให้ตั้งคำถามแก่ตัวของตัวว่า เราจะอยู่ในสภาวการณ์แบบนี้ได้อย่างไร โดยไม่ไหลตามไป ทำอย่างไรให้ได้เห็น “ตัวคิด”สติที่ยับยั้ง

“เราช่วยเขาได้มั้ย ช่วยได้ควรช่วย ถ้าช่วยไม่ได้ อย่างน้อยก็ช่วยด้วยการไม่ซ้ำเติม” พระนวลจันทร์กล่าว

ท่ามกลางยุคโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางความรวดเร็วของการประมวลผล โลกเปลี่ยนเร็ว ใจ (สติ) ไม่ทันเทคโนโลยี มนุษย์จึงต้องการสติที่มากขึ้น เพราะโลกไหลบ่าด้วยสิ่งกระตุ้นและความรุนแรงของผัสสะต่างๆ ทุกข์เกิดเพราะเหตุแห่งทุกข์ พ้นทุกข์ก็พ้นได้ด้วยการละเหตุแห่งทุกข์เหมือนๆ กัน

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ เจ้าของกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy) ผู้ประยุกต์ใช้หลักธรรมในองค์กรเล่าว่า การวางใจของชาวพุทธในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ประการแรกต้องรู้จัก Disconnect มีชีวิตรอดให้ได้ โดยไม่ต้องออนไลน์

พุทธธรรม 4.0 ศาสนากับความท้าทายทางเทคโนโลยี

“ไม่ต้องออนไลน์ ไม่เช็กข้อมูล ไม่บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ไอจี มีเวลาเว้นวรรคใจ ชาร์จพลังสมอง ด้วยวิธีนี้ก็จะเพิ่มพลังสติปัญญาสมาธิให้มากขึ้น”

ข้อมูลออนไลน์ที่ถาโถม เป็นการจู่โจมสู่พื้นที่ชีวิตส่วนตัว เป็นข้อมูลที่ผลักเข้ามาโดยที่เราไม่ได้เสาะแสวงหา ล่อลวงให้ส่งใจไหลออกไปกับเรื่องราวต่างๆ ทำให้เวลาไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว บางทีร่วมชั่วโมงหรือหลายชั่วโมงต่อวัน

“เวลาที่ไหลไปแล้วไม่ย้อนคืน หากชาวพุทธจะวางใจไว้ให้ได้ ต้องวางมือถือและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ลงให้ได้ก่อน”

ประการต่อมา เมื่อใช้เครื่องมือสื่อสารแล้ว ให้มุ่งความสนใจเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ อย่าปล่อยผ่านเวลาเปิดมือถือ นั่งอ่าน นั่งเช็ก นั่งดู กดจิ้มไปเรื่อยๆ เป็น Passive Learner ไม่ใช่ Active Learner กล่าวคือใส่ใจเฉพาะเรื่องที่สนใจและเป็นประโยชน์ จำกัดเวลาออนไลน์ต่อครั้งต่อวันอย่าเสพติดมือถือ

ประการสุดท้าย เมื่อได้รับข้อมูลใดแล้ว ใจเกิดพองโต เพราะชอบใจ ชื่นชม หรือใจเกิดแฟบฝ่อ เพราะความไม่พอใจ ไม่สบายใจ ไม่สบใจ ให้ปล่อยวาง พยายามรักษาความเป็นกลางของหัวใจ ไม่ให้ใจสวิงหรือแกว่งไหว หมั่นชำเลืองดูใจตนเอง
บ่อยๆ

มองในมุมของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นตัวช่วยในการเผยแผ่ศาสนาให้กว้างขวาง แม้ไม่ลึกซึ้งเหมือนสมัยก่อน ที่ผู้คนต้องเสาะแสวงหาครูอาจารย์ หากปัจจุบันธรรมะมีในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเสียงภาพข้อความ ที่มาถึงในทุกช่องทางและตลอดเวลา

ปัจจุบันกูเกิลมีแม้กระทั่งโปรแกรมสอนวิปัสสนากรรมฐาน A Search Inside Yourself Program ซึ่งได้รับความนิยมมาก เช่นเดียวกับบริษัทชั้นนำในซิลิคอนวัลเลย์ เช่น เฟซบุ๊ก อีเบย์ ฯลฯ ที่ล้วนให้ความสนใจกับการศึกษาปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม

ต่อความท้าทายที่สุดของชาวพุทธในการเจริญสติยุคโซเชียล คือความจริงที่มนุษย์จะฟุ้งซ่านได้ง่ายมาก เทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีความอดทนน้อยลง มองในมุมของโอกาสก็คือเจริญสติได้แม้กำลังออนไลน์ เช่น ระหว่างรอข้อมูลที่กำลังโหลด ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ หรืออ่านข้อความใดแล้วใจกระเพื่อม ก็ให้สังเกตความรู้สึกในใจ

“ชอบบ้าง ชังบ้าง ขอแค่รู้ตัว ก็สามารถรักษาความเป็นกลาง ความเป็นปกติของใจไว้ได้ เป็นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ท่ามกลางกระแสดิจิทัล”

ดนัยกล่าวว่า ใช้เทคโนโลยีแต่ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี ไม่ติดยึด เพลิดเพลิน หลงใหล รู้เท่าทันการทำงานของกิเลส ตัณหา อุปาทาน หากมนุษย์เข้าใจและไม่ยึดติด มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ก็เท่ากับเราได้อยู่เหนือเทคโนโลยีแล้ว

ส่งท้ายด้วย ว.วชิรเมธี ที่สรุปด้วยความสุขที่แท้จริงตามหลักพุทธธรรมว่า คือสภาวะที่มีจิตใจเป็นอิสระจากความยึดติดถือมั่น เป็นอิสระเหนือความโกรธโลภหลง ขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธสุขแบบชาวโลก ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจได้เสพอารมณ์ต่างๆ ก็ยอมรับเหมือนกันเพียงแต่ขอให้เสพอย่างมีสติ เหมือนกินปลาทูโดยที่ก้างไม่ตำคอ

“ก็เช่นเดียวกับการเสพสื่อสังคมออนไลน์ในยุคสมัยนี้ ขอให้เสพอย่างมีสติ เสพแบบไม่ให้ก้างปลาทูตำคอ”

ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้ค้นพบเป้าหมายสำคัญของการเกิดมาเป็นมนุษย์หรือไม่ การค้นหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต อีกการฝึกอบรมตนเพื่อการมีชีวิตที่สงบเย็น ยังคงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ คอมพิวเตอร์ทำแทนไม่ได้!