posttoday

น่ายินดีและยังเป็นห่วง "วันช้างไทย"

13 มีนาคม 2561

หวนมาอีกปีกับวันที่ 13 มี.ค. “วันช้างไทย” วันที่จะมีเวทีเสวนาเรื่องสถานการณ์ช้างให้ผู้เชี่ยวชาญมานั่งถกถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ ปฏิภัทร จันทร์ทอง

หวนมาอีกปีกับวันที่ 13 มี.ค. “วันช้างไทย” วันที่จะมีเวทีเสวนาเรื่องสถานการณ์ช้างให้ผู้เชี่ยวชาญมานั่งถกถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข (บางประเด็นถูกพูดถึงทุกปีและยังต้องพูดถึงต่อไป) แต่จากการพูดคุยกับคนในวงการช้างไทย ดูเหมือนว่าปีนี้จะมีทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเป็นห่วงควบคู่กันไป เพราะถึงแม้ว่าไทยจะมีปริมาณช้างเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค แต่ก็มาพร้อมปัญหาใหญ่ที่อาจทำได้แค่หวังว่าจะเป็นจริง

โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง และผู้ต่อสู้เพื่อช้างมานานกว่า 25 ปี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องช้างกับคนมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ สุขภาพช้าง เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาจะคิดถึงการนั่งบนหลังช้างเป็นอันดับแรก ซึ่งเธอเคยสะท้อนปัญหาสุขภาพช้างในปางไปตั้งแต่ปี 2536 สมัยที่ยังมีปางช้างไม่กี่แห่งในประเทศไทย รวมถึงปัญหาสุขภาพของช้างเร่ร่อนที่เดินอยู่ในหัวเมืองใหญ่ ที่ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะประกาศใช้ข้อบัญญัติ กทม. ควบคุมการนำช้างมาหารายได้ในเขตกรุงเทพฯ แต่ในเขตปริมณฑลและหัวเมืองอื่นก็ยังพบเห็น

“พอการท่องเที่ยวมาก ความต้องการการใช้ช้างสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวก็มีมาก ส่งผลทำให้เกิดการใช้งานช้างมากขึ้นตามมา ปางบางแห่งให้ช้างยืนรอนักท่องเที่ยว ทำให้ช้างไม่ได้หยุดพัก ต้องยืนตากแดดทั้งวัน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขา (ช้าง) ทำให้เขาเครียดเหมือนเรายืนกลางอากาศร้อน หรือเวลาเขายืนขับถ่ายก็จะยืนอยู่บนมูลของตัวเองทำให้เกิดเป็นแผลที่เท้า ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อนช้างไม่อยากเห็นช้างป่วยเลย ไม่มีช้างป่วยมาโรงพยาบาลยิ่งดี แล้วโรงพยาบาลก็จะเป็นสถานที่ให้ความรู้ ดังนั้นถ้าท่านดูแลช้างดีจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด”

โซไรดา กล่าวต่อว่า เธอต่อต้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้ เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องกับช้างก็ต้องทำงานหารายได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนอยู่กับช้างในทิศทางของการท่องเที่ยวที่ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน คือช้างไม่บอบช้ำ และควาญไม่บอบช้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่น่าดีใจที่ได้รับความร่วมมือจากปางช้างมากขึ้นแล้ว

น่ายินดีและยังเป็นห่วง "วันช้างไทย"

“เฉพาะใน จ.เชียงใหม่ มีช้างที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 980 กว่าเชือก จากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วพื้นที่ภาคเหนือเคยมีปางช้างใหญ่ๆ อยู่แค่ 3 แห่ง มาถึงวันนี้เชียงใหม่มีปางช้าง 78 แห่ง และยังพบว่ามีลูกช้างเพิ่มจำนวนขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งกลายเป็นคำถามที่ทางมูลนิธิถามเสียงดังว่า ลูกช้างมาจากไหน”

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของช้างป่า คือ ประชากรช้างป่ามีมากและประชากรคนไทยก็มาก ทำให้คนรุกใช้พื้นที่ป่าส่งผลให้ป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างมีขนาดเล็กลง

“ปัญหาคนกับช้างเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ปัจจุบันมีประชากรช้างป่าเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ แต่พื้นที่ป่ามีจำกัดและไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติอย่างเสือคอยควบคุม ทำให้ช้างป่าออกมาหากินใกล้ที่อยู่อาศัยของคน และด้วยเหตุที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจจึงทำให้เกิดเหตุสลดกับช้างอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อมีประชากรช้างมากขึ้นก็มีความเห็นให้ย้ายช้างจากป่านี้ไปป่าอื่น รวมถึงมีข้อเสนอว่าให้นำช้างป่าไปให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีช้างน้อย แต่ทางมูลนิธิเพื่อนช้างไม่เห็นด้วยกับการส่งช้างไปต่างแดน และเรียกร้องให้ยุติการค้าช้างข้ามชาติทั้งเพื่อการศึกษาหรือไม่ก็ตาม เพราะช้างไทยต้องอยู่ในประเทศไทย ในเมื่อเราเป็นประเทศท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวก็ต้องมาดูช้างไทยในประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้าน”

น่ายินดีและยังเป็นห่วง "วันช้างไทย"

โซไรดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันช้างถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่เขาก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เมื่อซื้อมาก็ต้องดูแลเหมือนสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อใช้งานอย่างเดียวจนตายแล้วซื้อใหม่ หรือถ้าไม่สามารถดูแลต่อได้ ตอนนี้ประเทศไทยมีองค์กรเกี่ยวกับช้างหลายแห่ง ซึ่งสามารถช่วยเหลือ หรือหากช้างเจ็บป่วยก็สามารถแจ้งได้ที่มูลนิธิเพื่อนช้าง จ.ลำปาง ภายในมูลนิธิเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลช้าง ซึ่งรักษาช้างมาแล้ว 4,000 กว่าเชือก และมีช้างที่อยู่กับมูลนิธิไปตลอดชีวิตจำนวน 9 เชือก

ถามเธอต่อถึงชีวิตการต่อสู้เพื่อช้างมานานถึง 25 ปี ว่าเป็นอย่างไร “ร้องไห้ทุกวัน” เธอตอบ “เพราะสิ่งที่ทำอยู่เป็นงานที่เหนื่อย และส่วนตัวมีปัญหาด้านสุขภาพหลายโรค ทั้งโรคที่เป็นตั้งแต่เกิดและที่ได้มาใหม่ระหว่างทำงาน จนตอนนี้ร่างกายจะไม่ไหวแล้ว อยากส่งไม้ต่อก็ยังไม่มีคนรับ”

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2560 โซไรดาประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอลาออกจากบทบาทเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความเหมาะสมมารับหน้าที่แทนต่อไป” แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีคนสมัครแม้แต่คนเดียว

“ถามว่าความหวังสูงสุดคืออะไร เราอยากให้มีกองทุนช้างแห่งชาติ ซึ่งกองทุนนี้จะได้ช่วยมูลนิธิหรือองค์กรหรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง จะได้ไม่ต้องรบกวนเงินบริจาคจากประชาชน ถ้าหากภาครัฐเกื้อหนุนให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็จะสามารถผ่อนภาระที่จะต้องพึ่งเงินบริจาคได้มาก ซึ่งเรื่องนี้พูดกันมา 20 กว่าปีแล้ว จนตอนนี้มีความคืบหน้าเพราะเรื่องกองทุนช้างแห่งชาติได้บรรจุอยู่ในแผนแม่บทเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาช้างเลี้ยง และอยู่ระหว่างการรอนำเสนอแผนต่อรัฐบาล ถ้าหากรัฐบาลเห็นชอบก็จะได้นอนตายตาหลับ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

อีกหนึ่งมูลนิธิที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวต่างชาติอย่าง มูลนิธิโกลเด้นท์ไทรแองเกิ้ลเอเชียนเอเลเฟนท์ ทำงานเพื่อสวัสดิภาพของช้างและให้ความช่วยเหลือปางช้างในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของช้าง โดย จอห์น โรเบิร์ตสผู้อำนวยการช้างและฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างเลี้ยงมากถึง 3,400 เชือก และเพิ่มขึ้นทุกวัน (มีช้างเลี้ยงที่ลงทะเบียนจำนวน 3,878 เชือก) โดยช้าง 1 เชือก กินอาหารวันละ 250 กิโลกรัม ต้องการการดูแลจากสัตวแพทย์ รวมถึงควาญช้างหรือเจ้าของช้างเองก็ต้องมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน จึงเกิดคำถามขึ้นว่าจะมีวิธีจัดการกับช้างจำนวนนี้และผู้ดูแลช้างอย่างไร

น่ายินดีและยังเป็นห่วง "วันช้างไทย"

“ผมคิดว่าช้างดีกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวจะดีกับช้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ปฏิบัติกับเขา เราสามารถทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดีสำหรับช้าง ถ้าเราทำโดยคำนึงถึงความต้องการของช้าง เข้าใจลักษณะนิสัยของช้างแต่ละเชือก เราไม่สามารถบังคับช้างทุกเชือกให้อยู่ในปางช้าง หรือล่ามโซ่ปล่อยไว้ในพื้นที่เล็กๆ เพราะช้างจะสู้ถ้าเราบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบ ในปางช้างบางแห่งช้างอาจต้องทำงานหนัก หรือแม้แต่ปางช้างที่ดีก็อาจมองข้ามบางเรื่อง เช่น การใส่เสลี่ยงที่น้ำหนักเยอะบนหลังช้าง

ดังนั้น เรายังต้องการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถเลี้ยงช้าง 3,400 เชือกได้ ซึ่งผมคิดว่ากุญแจสำคัญคือ เราต้องพยายามพัฒนาการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้างให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มตั้งคำถามว่าเราต้องการประชากรช้างมากขนาดนี้หรือไม่”

โรเบิร์ตส กล่าวด้วยว่า สมัยก่อนควาญเคยอาศัยอยู่กับช้างในป่า แต่เมื่อช้างไม่สามารถทำงานลากซุงได้ พวกเขาก็ออกจากป่ามาเร่ร่อนตามถนน จนปัจจุบันเปลี่ยนมาอยู่ตามบ้านหรือปาง ซึ่งคนไม่สามารถผูกช้างไว้เฉยๆ และลืมไปได้

“เมื่อช้างไม่ได้ทำงานเหมือนแต่ก่อน บรรดาควาญช้างก็ไม่ควรจะใช้วิธีการเดิมที่เคยทำ เราจึงต้องช่วยกันหาวิธีใหม่ในการดูแลช้างให้พวกเขา ผมไม่คิดว่างานโปโลช้างจะช่วยให้เราสามารถช่วยช้างทั้ง 3,400 เชือกได้ (โรเบิร์ตสยังมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการช้างที่อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำฯ โดยกลุ่มโรงแรมอนันตราได้จัดงานการแข่งขันโปโลช้าง เมื่อวันที่ 8-11 มี.ค.ที่ผ่านมา) แต่ก็เป็นโอกาสที่ให้เราได้นำเสนอวีถีควาญช้างและสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน”

มูลนิธิโกลเด้นท์ไทรแองเกิ้ลเอเชียนเอเลเฟนท์มีโครงการช่วยเหลือช้างหลายโครงการ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สวัสดิภาพของช้าง การปกป้องช้างป่า และการวิจัยเกี่ยวกับช้าง ซึ่งงานที่เกี่ยวข้องกับช้างเลี้ยงส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เนื่องจากช้างกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศลงทะเบียนอยู่ที่นั่น ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับช้างป่า มูลนิธิได้สนับสนุนหลายโครงการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น

หลังจากนี้ทางมูลนิธิจะสนับสนุนศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ในการฝึกอบรมให้ควาญช้างมีทักษะทางเทคนิคการสัตวแพทย์ อบรมโปรแกรมสอนควาญช้าง สอนวิธีฝึกช้างเชิงบวกโดยไม่ใช้วิธีการลงโทษ ส่งครูไปสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กในหมู่บ้านช้าง พาเด็กไปทัศนศึกษา และให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ช้างป่า และการอนุรักษ์

น่ายินดีและยังเป็นห่วง "วันช้างไทย"

ด้าน นสพ.เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า ช้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไทยกับเมียนมาที่ยังเหลืออยู่เป็นล่ำเป็นสัน ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย มีจำนวนช้างลดลง และถ้าเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ปกป้องช้างอย่างแข็งขันและมีจำนวนช้างป่ามากขึ้นอย่างชัดเจน คือ ประเทศไทย

“พื้นที่บางแห่งมีช้างป่าค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น เช่น กุยบุรี แก่งหางแมว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ในขณะที่ชาวบ้านรอบๆ ป่าใช้พื้นที่ทำกินไปเรื่อย จึงเกิดเป็นปัญหาคนกับช้าง เพราะช้างมีปริมาณคงตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนก็ตัดป่าและเข้าไปหาช้างใกล้ขึ้น เลยมีข่าวช้างป่ากับคนทะเลาะกันบ่อยและมีอยู่เสมอ

ตอนนี้จำนวนช้างทั้งในและนอกป่าของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในจำนวนที่น่าเป็นห่วงหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะจากที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาช้างเลี้ยงทั้งหมดพบว่า มีช้างเลี้ยงอยู่ 7-8 สายยายทวด ซึ่งเป็นปริมาณพันธุกรรมที่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงช้างไทยไม่ให้แคระแกร็น และไม่มีโรคทางพันธุกรรม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ปริมาณป่าและธรรมชาติต่างหากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุด ดังนั้นสถานการณ์ช้างไทยจึงมีทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเป็นห่วง”

นสพ.เกษตร แนะหนทางแก้ไข 2 ทาง คือ หนึ่ง เพิ่มพื้นที่ป่าให้เป็นผืนป่าใหญ่ต่อเนื่องกัน และ สอง พื้นที่ไหนที่มีช้างมากเกินไปให้ย้ายไปป่าอื่นที่มีปริมาณช้างน้อย (หมายถึงเฉพาะป่าในประเทศไทย) ส่วนคำว่า คุมกำเนิดช้าง พบว่า บางพื้นที่ในแอฟริกาใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีฝังฮอร์โมนในการควบคุมประชากรช้าง แต่สำหรับในไทยไม่มีการนำวิธีนี้มาใช้ตั้งแต่บรรพกาล

“ผมอยากเห็นประเทศไทยมีป่าให้ช้างและปราศจากการล่าของมนุษย์ และอยากให้ช้างที่ถูกเลี้ยงไว้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลที่ดี ก็คงหวังได้เท่านี้ แต่จะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าก็คงต้องรอดูต่อไป” นสพ.เกษตร กล่าวทิ้งท้าย

เหมือนคำส่งท้ายบนเวทีเสวนาที่เคยฟัง การจบด้วยความหวังจะทำให้ประเด็นที่กำลังถกอยู่นั้นมีพลังขับเคลื่อนต่อไป และสำหรับวันช้างไทยปีถัดไปหวังว่าจะไม่ย้อนกลับมาหวังในเรื่องเดิมๆ