posttoday

รำลึก...อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

15 กันยายน 2553

วันที่ 15 ก.ย. 2435 คือวันเกิดของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้เปรียบเสมือนบิดาของวงการศิลปะและของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งในด้านการสอน การวิจัย การเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะไว้อย่างมั่นคงเป็นแบบฉบับของการพัฒนาการศึกษาศิลปะในสมัยต่อมาจนถึงทุกวันนี้

วันที่ 15 ก.ย. 2435 คือวันเกิดของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้เปรียบเสมือนบิดาของวงการศิลปะและของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งในด้านการสอน การวิจัย การเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะไว้อย่างมั่นคงเป็นแบบฉบับของการพัฒนาการศึกษาศิลปะในสมัยต่อมาจนถึงทุกวันนี้

โดย....มัลลิกา

 

รำลึก...อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

ดังนั้นในวันที่ 15 ก.ย. ของทุกๆ ปี ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงร่วมกับกรมศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อร่วมรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ เมื่อเยาว์วัยท่านชื่นชมผลงานศิลปกรรมของ “ไมเคิล แองเจโล” ประติมากรเอกของโลกชาวฟลอเรนซ์ เมื่อโตขึ้นจึงได้เข้าศึกษาศิลปะที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ ชีวิตในเมืองไทยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2466 ก้าวแรกกับตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร ทว่าท่านเป็นผู้นำศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกระทั่งปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ในประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังได้สร้างผลงานทางวิชาการอีกมากมาย ท่านได้อุทิศตนเพื่อสอนศิลปะทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่ศิษย์ จนกระทั่งผลงานของท่านตลอดจนลูกศิษย์แพร่หลายอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความมุ่งมั่นของท่านที่ได้สร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษา ทำให้ท่านสามารถพัฒนาโรงเรียนศิลปากร จนสามารถพัฒนาและยกฐานะมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตลอดเวลาที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เดินทางเข้ามารับราชการและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ท่านได้ทุ่มเทความรัก ความรับผิดชอบให้แก่งานราชการอย่างมหาศาลแม้ว่าท่านอยู่ในฐานะของชาวต่างชาติก็ตาม จนปี 2485 ท่านได้โอนสัญชาติเป็นไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยจนถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและโรคเนื้องอกในลำไส้ เมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. 2505

 

รำลึก...อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

สำหรับกิจกรรมเนื่องในงานวันศิลป์ พีระศรี ในปี 2553 นี้ ภาคเช้ามี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯต่อด้วยการแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 15 เรื่อง “การค้นคว้าคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง สมัยอยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และไตรภูมิพระร่วงเจ้า เป็นผู้ช่วยทุกอย่างของอาจารย์เฟื้อหริพิทักษ์ กับหัวใจศิลปะไทยสยาม” โดย “อังคาร กัลยาณพงศ์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ 15.00 น. การเสวนา เรื่อง “ร่ายมนต์คนเล่านิทานกับเทพศิริ สุขโสภา” ณ บริเวณสวนแก้ว 17.00 น. การแสดงดนตรีของคณาจารย์และนักศึกษา คณะดุริยางคศาสตร์ ณ เวทีลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 19.30 น. จุดเทียนรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการให้ชม อาทิ นิทรรศการศิลปกรรมอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ครั้งที่ 27 “ChairShare” ระหว่างวันที่ 15–28 ก.ย. ณ หอศิลป์ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ นิทรรศการสถาปัตยปริวรรต ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 15–30 ก.ย. ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นิทรรศการผลงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 15–30 ก.ย. ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ และนิทรรศการศิลปะมหกรรมร่วมสมัย เนื่องในวันศิลป์ พระศรี ประจำปี 2553 หัวข้อ “ปิติ” ระหว่างวันที่ 15 ก.ย.–30 ต.ค. ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ