posttoday

สังคมการอ่าน ไม่ไร้ความหวังยุคสื่อดิจิทัล

04 เมษายน 2560

เปิดตัวโครงการประกวดนักเขียนรุ่นใหม่ Neilson Hays Young Writers Awards 2017

โดย...ปอย

เปิดตัวโครงการประกวดนักเขียนรุ่นใหม่ Neilson Hays Young Writers Awards 2017 จัดขึ้นเป็นปีแรกโดยเจ้าภาพ เนียลสัน เฮส์ ห้องสมุดบนนถนนสุรวงศ์ อายุกว่า 150 ปี อาคารสไตล์นีโอคลาสสิก แหล่งความรู้รวมหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งเวลานี้อาคารห้องสมุดเก่าแก่กำลังปิดบูรณะ การจัดเวิร์กช็อปสร้างนักเขียนและนักวาดประกอบรุ่นเยาว์ จึงย้ายสถานที่มาจัดในบรรยากาศกันเอง อบอุ่น รายล้อมด้วยต้นไม้อันร่มเย็น ณ จักรพงษ์วิลล่า วังเก่าซึ่งออกแบบโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลีผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม และออกแบบห้องสมุดเนลสัน เฮส์ แห่งนี้ด้วย

สถานที่สวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้การอุปการคุณโดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ หนึ่งนักเขียนผู้สนับสนุนโครงการ ด้วยความหวังอยากเห็นอนาคตการอ่านการเขียนที่เข้มแข็ง ไม่พ่ายแพ้กลืนหายไปกับสังคมยุคสื่อดิจิทัล

การจัดประกวดแข่งขันเฟ้นหาผู้ชนะเลิศ Neilson Hays Young Writers Awards 2017 รวม 5 รางวัล สร้างสรรค์วรรณกรรมภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ Hope เยาวชนผลิตผลงานได้ทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว งานเขียนมีรูปวาดประกอบสมบูรณ์เต็มฉบับเช่นเดียวกับการทำงานของมืออาชีพ หนังสือนิทานพร้อมภาพประกอบ แบ่งออกเป็นกลุ่มจำนวน 12 หน้า ความยาว 300 คํา สร้างสรรค์ผลงานโดยนักเขียนและนักวาดรุ่นจิ๋วรุ่น อายุ 9-12 ปี กลุ่มจำนวน 16หน้า 500 คํา รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ไปจนถึงเรื่องสั้นประเภทนิยาย 800-1,000 คํา รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี

ความคึกคักของเวทีแรกในนี้เริ่มในเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา มีผลงานส่งมา รวม 178 ชิ้นงาน ทางคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศรวม 17 ชิ้นงาน เจ้าของผลงานเยาวชนทั้ง 22 คน จะได้เข้าเวิร์กช็อปกระทบไหล่นักเขียนมืออาชีพเพื่อถ่ายทอดพลังแกร่งของการสร้างวรรณกรรมคุณภาพ

ใคร(เคย)เชื่อว่ากลุ่ม “Gen-C” หรือกลุ่มคนยุคใหม่ที่บัญญัติตามพฤติกรรม ว่าวันๆ จ่อมจมแค่การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก คนรุ่นเยาว์(อาจ)จะเลิกอ่านหนังสือกันแล้ว บรรยากาศเวิร์กช็อปครั้งนี้คึกคัก อบอุ่น สั่นคลอนความเชื่อได้เบาๆ เลยทีเดียวเชียว

สังคมการอ่าน ไม่ไร้ความหวังยุคสื่อดิจิทัล

เวทีให้โอกาส “นักเขียนรุ่นจิ๋ว”

การประกวดมีรายชื่อคณะกรรมการคร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมยาวเหยียด เช่น คุณหญิงจํานงศรี หาญเจนลักษณ์ นักเขียนและนักแปลวรรณกรรมเยาวชน รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ นักเขียน ผู้กำกับและนักวิชาการด้านศิลปะการละคร งามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2549 จากนวนิยายเรื่อง ความสุขของกะทิ  ผศ.ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ผู้กำกับและผู้ผลิตแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์ (Yak : The Giant King) เคธี่ แมคคลาวด์ นักวาดภาพประกอบและนักเขียนการ์ตูน และอีกหลายๆ ท่าน

เด็กทั้ง 22 คนได้ร่วมเรียนรู้กับนักเขียนดัง เพื่อกลับไปพัฒนางานเขียนของตัวเอง แล้วนํากลับมาส่งเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งในรอบสุดท้าย ตัดสินในเดือน มิ.ย.ปีนี้

ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญการอ่าน ฯพณฯ โดนิกา พอตตี เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ให้เกียรติมาเป็นประธานการกล่าวเปิดงาน...

“ความหวัง ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ช่วยให้คนมองอนาคตด้านบวกท่ามกลางสภาวะของโลกในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นนัก เยาวชนเหล่านี้ได้กลั่นกรองเรื่องราวเกี่ยวกับความหวังออกมาได้ดีมาก สถานทูตแคนาดามีส่วนร่วมในโครงการนี้ โดยมอบประกาศนียบัตรเป็นรางวัลพิเศษ สำหรับเรื่องราวความหวังที่มีเนื้อเรื่องโยงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ผู้ซึ่งมีพระปรีชาสามารถอย่างหาที่สุดในเรื่องนี้อีกด้วย”

จัดเป็นสนามใหม่ให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ ประธานกรรมการหอสมุดฯ นลิน วนาสิน กล่าวรายละเอียดเด็กๆ ได้รับโจทย์ให้ทำงานภายใต้แนวคิดเรื่อง “ความหวัง-Hope” การจัดปีแรกจึงไม่คาดว่าจะมีผลงานส่งมาประกวดล้นหลามขนาดนี้

สังคมการอ่าน ไม่ไร้ความหวังยุคสื่อดิจิทัล คุณหญิงจํานงศรี หาญเจนลักษณ์

“ตื่นเต้นมากๆ ค่ะ เด็กทุกๆ คนเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ลึกซึ้ง วาดภาพประกอบได้สวยมาก แสดงออกได้ถึงความตั้งใจ กระตือรือร้นของกลุ่มครูและนักเรียน การที่เราเป็นหอสมุดหนังสือภาษาอังกฤษจึงต้องเริ่มที่การเขียนการอ่านภาษานี้ก่อน แต่จำนวนที่ส่งกันเข้ามาร้อยกว่าผลงาน ก็บอกเราได้ถึงความกระหายในการอ่าน การเขียน และอยากสร้างสรรค์ผลงานของตัวเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้

แม้ว่าสังคมการอ่านลดลง ซึ่งก็เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้จากสิ่งที่เห็นวันนี้ ลูกๆ ของดิฉันก็อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ลดลง หันมาอ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่ดิฉันเชื่อมั่นค่ะว่า การมีกิจกรรมกระตุ้นและสร้างสรรค์โอกาสให้เขามีเวทีทำงาน พวกเขาจะสนุกในการได้ประสบการณ์หลากหลาย ไม่จมอยู่แค่สื่อที่อยู่ในโทรศัพท์ หรือจมอยู่กับคอมพิวเตอร์

การกำหนดรูปแบบการเขียนมีส่วนสำคัญให้เด็กๆ เริ่มอ่านหรือเขียนขนาดสั้นก่อนเลยค่ะ เช่น นิทานสำหรับเด็กวัยประถม อายุไม่เกิน 12 ปี ก็เขียนให้ได้ 12 หน้า 300 คำ อายุ 16 ปีก็เขียน 16 หน้า 500 คํา ส่วนวัยรุ่นเริ่มเขียนเรื่องสั้นประเภทนิยาย 800-1,000 คําได้สบายแล้ว ส่วนวิธีสร้างสรรค์ก็แล้วแต่เลยว่าทำเองคนเดียว หรือจับกลุ่มกับเพื่อนๆ ตามใจให้เขาเลือก เขาต้องเริ่มต้นที่ความรู้สึกสนุก

เด็กจะเขียนได้ ต้องเริ่มต้นที่การได้อ่านได้ฟัง ให้เขาได้ท่องในโลกที่ชีวิตจริงไม่สามารถพาเขาไปได้ จำให้เขามีจินตนาการที่น่าทึ่ง ผลงานในกลุ่มเด็กวัย 16 ปีที่ส่งคราวนี้น่าทึ่งมาก เขียนเกี่ยวกับความหวังในการอุทิศตัวเองในประเทศเกิดสงคราม เรื่องหนึ่งเป็นเด็กไทยเขียน อีกเรื่องเป็นเด็กฝรั่งเขียน เกี่ยวกับชีวิตเพื่อนของเขาที่เผชิญในประเทศเกิดสงคราม แต่คนก็ต้องมีความหวัง

สังคมการอ่าน ไม่ไร้ความหวังยุคสื่อดิจิทัล

โรงเรียนที่ส่งเข้ามามีทั้งโรงเรียนสองภาษา และโรงเรียนนานาชาติ ก็ต้องยอมรับค่ะภาษาอังกฤษต้องดีระดับหนึ่งจึงจะเขียนเรื่องยาวๆ ได้ ซึ่งก็อยากให้การอ่านขยายไปได้ทุกกลุ่มนะคะ เนียลสัน เฮส์ มุ่งสร้างบรรยากาศการอ่านไปสู่ชุมชนขาดแคลนต่างๆ ด้วยค่ะ เช่น จัดโครงการไปอ่านหนังสือนิทานให้เด็กบ้านเมอร์ซี่ คลองเตย ก็จะจัดนักอาสาไปอ่านนิทานให้เด็กๆ ฟังกันได้ต่อเนื่อง” นลิน เล่ารายละเอียด

อีกหนึ่งท่านกรรมการนักเขียนอาวุโส คุณหญิงจํานงศรี หาญเจนลักษณ์ ร่วมเวิร์กช็อปให้ความรู้เด็กๆ กล่าวด้วยความดีใจที่ได้มาเจอนักเขียนรุ่นใหม่ เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์อย่างมากน่าชื่นใจ

“ขอสารภาพว่าการตัดสินว่าใครจะได้รับรางวัลชนะเลิศนี้ ทำได้ยากมากๆ เพราะความคิดสร้างสรรค์ล้วนเป็นงานเฉพาะบุคคล เด็กๆ มีแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน และสิ่งนี้เองค่ะที่เราเรียกว่าความงามของจินตนาการ เป็นลักษณะที่แตกต่างกันในเด็กแต่ละคน ดิฉันคิดว่าการเขียนหนังสือ ก็เหมือนการเดินทาง เหมือนผจญภัย เราไม่รู้ว่าเรื่องของเราจะไปจบลงที่ตรงไหน

ดิฉันต้องขอบคุณเยาวชนที่เลือกที่จะเริ่ม ‘เดินทาง’ ตั้งแต่พวกเขาอายุน้อยๆ ดิฉันอยากฝากว่ารางวัลไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุด แต่กระบวนการทำงานคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ เก็บรักษาเรื่องราวและพลังดีๆ ไว้ภายในตัวเอง เมื่อไรที่เรารู้สึกไม่มีความสุขกับเรื่องใดก็ตาม ขอให้กลับมาสำรวจภายในตัวเราเอง แล้วเราจะพบความหวัง เหมือนกับหัวข้อการเขียนในครั้งนี้นั่นเองค่ะ” คุณหญิงจํานงศรี บอกแนวทางการเรียนรู้ฐานะผู้ทรงคุณวุฒิและมืออาชีพ

รุ่นใหญ่สอน “เขียนดี+ภาพประกอบสวย”

นอกจากด้านวรรณกรรมภาษาแล้ว ความรู้ทางด้านศิลปะเป็นอีกกระบวนการเรียนรู้ ที่ประกอบไปด้วยการรับฟังคำวิจารณ์ การแลกเปลี่ยนพูดคุย การสร้างสรรค์งานเขียน ตลอดถึงการเรียนรู้เทคนิคการวาดภาพประกอบก็เป็นอีกแขนงหนึ่งของการผลิตหนังสือคุณภาพ

เคธี่ แมคคลาวด์ นักวาดภาพประกอบและนักเขียนการ์ตูนนิตยสารชื่อดัง บอกเลยว่าแต่ละเรื่องที่ได้เข้ารอบเวทีนี้ เนื้อหาปึ้กมาก เด็กไทยไม่แพ้เด็กฝรั่งเลยในเรื่องความสามารถทางภาษาอังกฤษ แต่ที่ไม่แตกต่างกันและเป็นหน้าที่ของการ์ตูนนิสต์คือการเพิ่มความรู้เรื่องการวาดภาพในแต่ละหน้าให้เนื้อหาแต่ละช่องมีความต่อเนื่องกัน เพื่อสาระของการอ่านเต็มอิ่มยิ่งขึ้น

“เด็กกลุ่มหนึ่งเขียนเรื่องสงคราม โดยใช้ประสบการณ์ของเพื่อนที่เป็นเรฟูจีในตะวันออกกลาง แต่การพูดในเรื่อง Hope เรื่องในความเศร้าแม้มีสงคราม มีการโยกย้ายอพยพ แต่ชีวิตมีความหวังรออยู่ในอนาคตของโลกใบนี้เสมอ

โครงเรื่องของเด็กๆ น่าสนใจ แต่พอลงรายละเอียดเนื้อหาเด็กก็จะเล่าอย่างตรงๆ เกินไป เช่น แม่บอกฉันว่าชีวิตมีความหวัง แต่ก็จะจบแค่นี้เลย (หัวเราะ) ก็ต้องเข้าไปกระตุ้นว่าอะไรล่ะที่เป็นความหวัง? เพิ่มเรื่องราวช่วยให้เขาจินตนาการออกมาด้วย หรืออีกคนเขียนเกี่ยวกับเด็กตาบอด แล้วมีคนมาช่วยผ่าตัดตาให้หายและมองเห็นได้ แต่เรื่องต้องไม่จบแค่นี้นะคะ ต้องมีรายละเอียดให้การอ่านเกิดพลังด้วย

นอกจากการเรียนรู้เทคนิคการวาดภาพประกอบเราก็ต้องกระตุ้นให้เขาสนุกการการสื่อเรื่องราวออกมาค่ะ” เคธี่ กล่าวพร้อมรอยยิ้มใจดี

สังคมการอ่าน ไม่ไร้ความหวังยุคสื่อดิจิทัล งามพรรณ เวชชาชีวะ

นักเขียนระดับรางวัลซีไรต์ งามพรรณ เวชชาชีวะ บอกว่า กระบวนการเรียนรู้ประกอบไปด้วยการรับฟังคำวิจารณ์ การแลกเปลี่ยนพูดคุย คือความสำคัญการเพิ่มทักษะงานเขียนที่ดี

“ทั้งเด็กไทยและเด็กฝรั่ง ดิฉันเห็นข้อดีของคนรุ่นนี้คือรู้จักที่จะรับฟังคนอื่น ดิฉันสอนเด็กให้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานของเพื่อนๆ ให้เขาสนุกกับการแลกเปลี่ยนกันและกัน สนุกกับการตั้งคำถาม การฟัง คนจะเขียนดี ก็ต้องเป็นนักอ่านตัวจริง ดิฉันถามดูก็ได้รู้ว่าเขาเป็นนักอ่านและเป็นนักคิดเมื่อเราได้คุยกัน การอ่านเก่งเป็นก้าวแรก การเขียนดีก็จะเป็นก้าวต่อไปค่ะ”  

เด็กนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ได้เข้าเวิร์กช็อปในห้องของนักเขียนรางวัลซีไรต์ “น้องปัน”ด.ญ.ฑิตยา บุณยรัตนพันธุ์ บอกว่า หนังสือติดมือตอนนี้ เรื่อง City of Thieves เขียนโดย David Benioff เรื่องราวของสองเพื่อนรักที่ต้องใช้ชีวิตในเมืองเลนินกราด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบการณ์อ่านจึงสามารถเขียนและวาดภาพประกอบเองทั้งหมด

น้องปัน กล่าวว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียนไม่มีทางลัดเลย ต้องเริ่มที่การอ่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เมื่อได้เป็นเจ้าของงานเขียนเล่มแรก ก้าวต่อไปในโลกวรรณกรรมก็กรุยทางไว้ได้แล้ว