posttoday

โรคนี้ก็มีด้วย โรคขาดธรรมชาติในเด็ก

19 ตุลาคม 2559

โดย...มีนา พาแลง

โดย...มีนา พาแลง

โลกเราก้าวหน้าไปด้วยเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ก็เกิดโรคและภาวะแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น โรคขาดธรรมชาติ หรือ Nature deficit disorder คือ พ่อแม่มักเป็นห่วงกลัวว่าลูกออกไปเล่นนอกบ้านแล้วจะเกิดอันตราย หรือมีเชื้อโรคแฝงตัวอยู่ จึงทดแทนด้วยการให้ลูกเรียนรู้ธรรมชาติผ่านเทคโนโลยี จนทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะขาดธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาวะใหม่ของเด็กยุคนี้ แม้ว่าจะไม่มีการบัญญัติไว้เป็นโรคชัดเจนในทางจิตเวชเด็กก็ตาม แต่ก็เป็นภาวะที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่ควรเตรียมตัวรับมือ

สาเหตุของ “ภาวะขาดธรรมชาติ”

พญ.เบญจพร ตันตสูติ ตำแหน่งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แพทย์หญิงประจำที่โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ศูนย์การแพทย์นวบุตร สตรีและเด็ก และเจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ให้ความสนใจกับภาวะนี้ โดยศึกษาผ่านหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของ Richard Louv เรื่อง Last child in the woods ซึ่งเขียนไว้ในปี 2005 หนังสือได้อธิบายถึงเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยใช้เวลากับกิจกรรมนอกบ้านไปสัมผัสธรรมชาติ และเติบโตมามีปัญหาหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม

เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบันที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายคอยยั่วใจเด็กๆ ประกอบกับเด็กสมัยนี้ต้องเรียนหนัก การบ้านเยอะ แถมต้องเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น จึงมีเด็กในเมืองน้อยมากที่เคยไปสัมผัสธรรมชาติกับครอบครัว เช่น ไปเดินป่า ไปสำรวจธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งไปสวนสาธารณะแถวบ้าน เด็กที่มีภาวะขาดธรรมชาติจะมีผลกระทบต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการสมาธิไม่ดี มีภาวะปัญหาทางอารมณ์พฤติกรรมมากกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งยังเกิดภาวะอ้วน เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย กลายเป็นโรคไขมันในเลือดสูง เบาหวาน

“ไม่ได้เป็นโรคที่ระบุตามมาตรฐานเกณฑ์วินิจฉัยเหมือนโรคทางจิตเวชอื่นๆ แต่เป็นภาวะของเด็กเจนอัลฟา หรือเด็กยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับไอแพด พ่อแม่ถ่ายรูปจากโทรศัพท์มือถือ พ่อแม่เล่นเทคโนโลยีให้ลูกเห็น แต่จริงๆ ภาวะนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่มีแนวโน้มว่าเด็กที่เกิด ปี 2010 จะเป็น เพราะเวลาพ่อแม่พาลูกไปกินข้าวนอกบ้าน ลูกร้องงอแงพ่อแม่ก็ยื่นแท็บเล็ตให้ เพื่อเด็กจะได้นั่งนิ่งๆ ซึ่งตรงนี้ทำให้เด็กสัมผัสและติดง่าย ภาพจากแท็บเล็ตเป็นภาพที่เปลี่ยนรวดเร็ว ก็ดึงดูดใจเด็ก ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อนที่มีความสุขกับการวิ่งเล่นกับพ่อแม่ ปั้นดินน้ำมัน หรือวาดรูป แต่จุดนี้ก็ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักด้วยว่าจะเลี้ยงรูปแบบไหน ปล่อยให้ลูกเล่นแท็บเล็ตนานเกินไปหรือเปล่า”

โรคนี้ก็มีด้วย โรคขาดธรรมชาติในเด็ก พญ.เบญจพร

 

ข้อดีของสัมผัสธรรมชาติ

พญ.เบญจพร ระบุมีงานวิจัยบอกว่า การให้เด็กไปสัมผัสธรรมชาติรอบตัวอย่างเหมาะสม จะทำให้มีผลดีตามมา ได้แก่ สุขภาพที่ดีเพราะได้ออกกำลังกาย มีภาวะอารมณ์ และพฤติกรรมในเชิงบวกมากขึ้น รู้จักปรับตัวกับสิ่งรอบข้างในสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ดี เห็นอกเห็นใจคนอื่น เข้าใจและรับรู้อารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสม  และที่สำคัญคือเกิดผลทางด้านจิตใจคือ เด็กส่วนหนึ่งมีความเห็นอกเห็นใจคนรอบข้างน้อยลง เพราะขาดการเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติและคนรอบข้าง

ข้อดีของการที่เด็กได้สัมผัสธรรมชาติจะทำให้เขามีจิตใจที่ละเอียดอ่อนและอ่อนโยนทำให้เข้าใจคนรอบข้างได้มากขึ้นแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง การหมกมุ่นกับตัวเองทำให้เกิดความเครียดง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวลได้ง่าย

“เทคโนโลยีให้ลูกเล่นได้ แต่มีเกณฑ์ที่เหมาะสมคือ ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทุกชนิด เด็กอายุ 6-12 ปี ควรใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง ซึ่งเด็กเล็กๆ ถึงอายุ 3 ขวบ ก็ควรให้เด็กฝึกพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ดีกว่า หรือพาเด็กไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนอกบ้านกับพ่อแม่ เพราะเด็กจะรู้สึกสนุกทุกอย่างหากได้ทำกิจกรรมกับพ่อแม่ มันเป็นธรรมชาติของเด็ก ที่พ่อแม่ทำอะไร เด็กก็อยากเลียนแบบ ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกติด ก็ไม่ควรเล่นให้เขาดูมากจนเกินไป ต้องมีเวลาพูดคุย ให้ลูกสัมผัสกับธรรมชาติบ้าง”

หากลูกอยู่ในภาวะขาดธรรมชาติ

หากพบว่าลูกกลายเป็นภาวะขาดธรรมชาติไปแล้ว คุณหมอมีวิธีดูแลมาแนะนำ... “สังเกตอย่างไรว่าลูกตกอยู่ในภาวะขาดธรรมชาติ คือ ลูกจะติดเกมหรือเล่นโทรศัพท์หรือเล่นคอมพิวเตอร์นานเกินไป จนไม่มีใจทำกิจกรรมอย่างอื่นเป็นเวลานาน ตักเตือนก็แก้ไขไม่ได้ อีกทั้งจะพบว่าเด็กจะมีสมาธิไม่ดี เพราะภาพในเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว เด็กสัมผัสตรงนี้มากๆ จะพบกว่าเด็กซน ใจไม่จดจ่อ เด็กที่มีแนวโน้มจะสมาธิสั้นก็ทำให้เป็นเร็วเป็นมากขึ้น ประกอบกับพ่อแม่เลี้ยงลูกตามใจ ซึ่งหากพบในเด็กอายุก่อน 3 ขวบ

อย่างแรกเราพบว่าเด็กขาดการพัฒนาทางด้านภาษา พูดช้า เพราะไม่มีใครพูดคุยกับเขา เพราะเล่นเทคโนโลยีเป็นการสื่อสารทางเดียว อีกทั้งยังส่งผลกระทบคือทำให้เด็กกับพ่อแม่มีสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกัน คือ ในครอบครัวที่ติดเทคโนโลยีมักไม่คุยกัน ไม่มีการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้ถามไถ่กัน ทำให้เวลาคุณภาพที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าหายไปในครอบครัวไทยสมัยใหม่ แต่หากพ่อแม่อยากส่งเสริมพัฒนาให้ลูกก็ต้องสื่อสารโต้ตอบกับลูก อันนี้เขาเรียกว่านก ต้นไม้ อันนี้ท้องฟ้า พาลูกออกไปดูธรรมชาติเพื่อให้เขาได้สัมผัสกับโลกภายนอก เขาจะได้รู้ว่าโลกนี้มีความหลากหลาย

พ่อแม่ควรสอนด้วยว่า ในธรรมชาติดำรงชีวิตอยู่ได้ทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน สอนให้ลูกไม่เบียดเบียนผู้อื่น ควรสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมไปด้วย หากเรามีเวลาคุณภาพน้อยเพราะไม่มีเวลาตรงนี้ ความสนิทสนมจะน้อยลง ต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นความเคยชิน เด็กจะคิดว่าฉันก็อยู่คนเดียวได้ กลายเป็นคนไทยต่างคนต่างอยู่ สังคมแข่งขันกันมากขึ้น สังคมขาดความเห็นอกเห็นใจกัน”

เด็กไทยมีแนวโน้มจะเป็นภาวะขาดธรรมชาติกันมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ตอนนี้ทุกครอบครัวในสังคมก็มีลูกตกอยู่ในภาวะขาดธรรมชาติได้เหมือนๆ กัน เพราะอิเล็กทรอนิกส์ หรือเทคโนโลยีไม่ได้หมายถึงแค่แท็บเล็ต แต่ทีวีก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ยิ่งตอนนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้ เพราะราคาไม่ได้แพงมาก สังคมเมืองจึงพบเด็กมีภาวะนี้เพิ่มมากขึ้น แต่สังคมชนบทจะพบน้อย เพราะเด็กชนบทจะเติบโตมากับวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง พ่อแม่พาลูกไปเก็บของป่า หาปลาในแม่น้ำคือชีวิตคนชนบทต้องพึ่งพาธรรมชาติ เด็กชนบทก็โตมากับธรรมชาติ เด็กกลุ่มนี้จึงหลีกไกล แต่เด็กในสังคมเมืองเป็นมาก 

ถ้าพ่อแม่ในสังคมเมืองตระหนักนิดหนึ่ง เด็กก็จะจัดสมดุลได้ พ่อแม่ต้องสอนลูกด้วยว่า ควรใช้ชีวิตให้มีคุณค่า พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก มีลูกเล็กก็เล่นกับลูก อ่านนิทานให้ฟัง และเลี้ยงลูกควรมีกฎกติกาในการใช้อิเล็กทรอนิกส์ ลูกที่โตแล้วต้องกำหนดเวลาว่าเล่นได้เมื่อไหร่บ้าง ให้อยู่กับเทคโนโลยีวันละกี่ชั่วโมงต่อวัน”

โรคนี้ก็มีด้วย โรคขาดธรรมชาติในเด็ก ธันยาดา บวรธรานนท์

 

เลี้ยงลูกให้ใกล้ชิดธรรมชาติ

คุณแม่เจ้าของเพจดัง Mommy Tanya สอนภาษาให้ลูก ธันยาดา บวรธรานนท์ ก็มีวิธีเลี้ยงลูกให้ห่างไกลจากภาวะขาดธรรมชาติ ซึ่งเธอใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบคุณแม่สมัยใหม่ คือ ให้ลูกเล่นในสวนสาธารณะในหมู่บ้าน แล้วสอดแทรกการสอนภาษาอังกฤษลงไปด้วย ลูกก็จะได้ประโยชน์ทั้งเก่งภาษาอังกฤษ แล้วยังเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วยในตัว

 “ดิฉันมีลูกสองคน คนโตอายุ 3 ขวบ คนเล็ก 1 ขวบครึ่ง ตอนเย็น ๆ ดิฉันชอบพาลูกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะปล่อยให้เขาเล่น เหยียบดิน เล่นใบไม้ ให้ใช้มือจับก้อนกรวดมาเรียงกันแล้วก็สอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย อีกทั้งยังพูดคุยสอนลูกว่า ชีวิตคนกับธรรมชาติต้องพึ่งพากัน

สังเกตได้เลยว่าการเลี้ยงลูกโดยวิธีธรรมชาติจะทำให้เด็กเป็นเด็กช่างสังเกตช่างพูด อย่างลูกคนโตเวลาเห็นใบไม้ร่วงปลิวจากต้น ลูกจะเกิดคำถามว่าทำไมใบไม้หล่น ดิฉันก็อธิบายให้ลูกฟังว่า ใบไม้ที่แก่ก็ต้องล่วงหล่นจากต้น แล้วใบใหม่ก็จะเกิดขึ้นมา และการให้ลูกออกไปวิ่งเล่นทำให้ลูกมีนิสัยที่ร่าเริง แข็งแรง แต่การปล่อยลูกไปวิ่งเล่นโดยไม่ห้ามการสังเกตและการเรียนรู้ของลูกแต่ในฐานะคุณแม่ก็ต้องดูแลด้านความปลอดภัยให้ลูกด้วย เช่น อย่าไปเล่นใกล้สระน้ำเป็นต้น

ทว่า คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้กลัวลูกเปื้อน กลัวเชื้อโรค กลัวลูกได้รับอันตราย หากเรากลัวลูกก็จะไม่ได้รับสิ่งดีๆ เหล่านี้ แต่พ่อแม่ยุคใหม่ไม่ได้มีเวลาพาลูกไปเดินเล่น แต่ตัวเองกลัวลูกพัฒนาการไม่ทันเพื่อนก็ซื้อของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กแพงๆ หรือใช้สื่อไอแพดสอนลูกเพื่อให้ลูกได้ใกล้ธรรมชาติ ดิฉันคิดว่าเป็นความเข้าใจผิด สิ่งเหล่านี้ทดแทนกันไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กห่างไกลธรรมชาติเข้าไปอีก” ธันยาดายังเชื่ออีกว่าหากเด็กๆ ได้เรียนรู้จากการสัมผัสและมองเห็นของจริงเด็กจะเรียนรู้ได้เร็วและดีขึ้น

หรือเวลาพาลูกไปร้านอาหารหากลูกงอแงอย่าหยิบยื่นแท็บเล็ตให้เขา แต่พ่อแม่ควรให้ลูกได้เรียนรู้การอยู่กับบุคคลอื่นได้ดีอีกด้วย “พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกแบบเชิงบวก คือ ใช้คำพูดที่เหมาะสมกับวัยของลูก เข้าใจพัฒนาการของเด็ก อย่าดุ แล้วเด็กจะเติบโตมีความมั่นใจ เพราะเราไม่ได้ปมให้เขา ไม่ต้องแก้ในวันที่เขาโต โตแบบธรรมชาติ เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ยึดติดกับวัตถุนอกกาย”

ทุกการเล่นคือการเรียนรู้

ในฐานะคุณแม่ ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ยาหยี ให้แนวทางการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตัวเองที่เน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ด้วยความเชื่อที่ว่า “ทุกการเล่น คือการเรียนรู้” การเลี้ยงลูกของตนจึงไม่ได้เป็นเพียงการให้ใกล้ชิดธรรมชาติที่เป็นต้นไม้เท่านั้น แต่เป็นการเลี้ยงตามธรรมชาติของเด็กโดยอิงธรรมชาติของพ่อแม่

“การเลี้ยงลูกให้ธรรมชาติ ต้องเริ่มต้นจากส่งเสริมความรักและความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพราะความรักคือพื้นฐานสำคัญที่สุดในการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและศักยภาพด้านอื่นๆ แก่ลูก โดยให้เวลาและทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกับเขา เวลาเดินทางไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ก็พาเขาไปด้วย ทุกอย่างเราจะไม่ปรุงแต่งมาก ไม่พยายามยัดเยียด แต่ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ

ถ้าเขาอยากเล่นก็ให้เล่น เพราะทุกการเล่นคือการเรียนรู้สำหรับเขา ไม่จำเป็นต้องให้ลูกไปเรียนเสริมในสถาบันต่างๆ แต่เด็กๆ ส่วนตัวคิดว่าถึงอย่างไรเขาก็ต้องเข้าโรงเรียนอยู่แล้ว ไม่อยากให้ลูกเครียด อยากให้เขาได้เล่นสนุก ให้สมกับวัย แต่จะมีกรอบกว้าง เช่น ไม่ให้เกเร หรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พยายามสอนและปรับ สอนให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเอง และช่วยเหลือคนอื่นๆ เช่น ให้เขาช่วยทิ้งขยะ ช่วยเก็บเตียง ซักผ้าชิ้นเล็กๆ เป็นต้น”