posttoday

สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย

30 มิถุนายน 2559

เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน

โดย...รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni) วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai) และเต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) นอกจากนี้ยังมีมติอนุมัติหลักการของสัตว์คุ้มครองอีก 12 ชนิด ทั้งกระเบนแมนต้า กระเบนปีศาจ ปลาโรนิน ปลาฉนาก และกระเบนราหูน้ำจืด

มติดังกล่าวดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เชื่อไหมครับว่า เป็นเวลาร่วม 30 ปีที่ประเทศไทยไม่มีสัตว์สงวนชนิดใหม่เลย นับตั้งแต่พะยูนอันเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 15 และเป็นสัตว์ทะเลชนิดเดียวที่เป็นสัตว์สงวน มตินี้จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งของวงการอนุรักษ์สัตว์ของไทย เพราะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และเป็นการอนุมัติสัตว์สงวนทางทะเล 4 ชนิดพร้อมกัน ทำให้เรามีสัตว์สงวนจาก 15 ชนิด กลายเป็น 19 ชนิด และในจำนวนนี้มีสัตว์สงวน 5 ชนิด ที่เป็นสัตว์ทะเล

สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย

 

ประโยชน์ของมติมีหลากหลายด้าน เริ่มจากด้านการอนุรักษ์สัตว์สงวนมีน้ำหนักต่อการขอสนับสนุนด้านต่างๆ รวมทั้งงบประมาณและกำลังคนในการดูแล เช่น ศูนย์วิจัย/รักษาวาฬ ฯลฯ รวมถึงการอบรม/ประชาสัมพันธ์ชาวประมงเพื่อดูแล รายงาน และปล่อยฉลามวาฬอย่างถูกวิธี การดูแลด้านการท่องเที่ยวทั้งวาฬ ฉลามวาฬ และเต่าทะเลต่างๆ รวมถึงพื้นที่คุ้มครองที่สามารถประกาศได้โดยใช้กฎหมายเพื่อดูแลสัตว์เหล่านั้นโดยเฉพาะ

สำหรับสัตว์คุ้มครอง มติดังกล่าวหมายความว่า ต่อจากนี้เราจะมีกฎหมายดูแลกระเบนแมนต้า กระเบนปีศาจ ฯลฯ ที่เป็นสัตว์หายากและมีคุณค่าด้านการท่องเที่ยวแต่ไม่เคยได้รับการดูแลมาก่อน ใครจับสัตว์เหล่านี้มาไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใด คราวนี้อาจติดคุกได้ครับ

สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย

 

ผลของการอนุรักษ์ยังรวมถึงบทบาทของประเทศไทยในต่างประเทศ ปัจจุบันเมืองไทยโดนบีบหลายทาง ทั้งจากประมงใบเหลืองและ CITES การที่เราออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์หายาก ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นน้ำหนักต่อรองการเจรจาการค้า ฯลฯ รวมทั้งทำให้ภาพลักษณ์เราดีขึ้น เช่น กระเบนปีศาจ (Mobula sp.) CITES กำลังจะเอาเข้าที่ประชุม แต่ประเทศไทยล่วงหน้าไปโดยประกาศคุ้มครองอยู่แล้ว นับว่ามีน้ำหนักในการต่อรองเรื่องอื่นๆ

มาถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยตรง เรากำลังนิยมท่องเที่ยวดูวาฬ ยังหมายถึงดำน้ำดูฉลามวาฬ กระเบนแมนต้า และเดินเต่าเพื่อดูเต่าทะเลวางไข่ ฯลฯ เมื่อเรามีกฎหมายดูแลสัตว์เหล่านี้ จะทำให้เราออกระเบียบต่างๆ มาทำให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนมากขึ้น และสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวที่ก้าวหน้า คุณอาจไม่เชื่อว่า เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวดูวาฬของโลก แต่ละปีมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เราเคยมีส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด แต่ถ้าเรามีกฎระเบียบและมีพลังผลักดันในการส่งเสริม ยังมีตลาดเปิดกว้างอีกมาก ยังหมายถึงพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์วาฬ ศูนย์เรียนรู้เต่ามะเฟือง ฯลฯ ที่สามารถสร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงให้ความรู้

สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย

 

มองถึงข้อดีด้านภาพลักษณ์ สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่จะกลายเป็นพระเอกนางเอกแห่งท้องทะเล ก่อเกิดกระแสสังคมง่าย ยังหมายถึงการอนุรักษ์ในพื้นที่ โดยดูจากบทเรียนได้ว่าพะยูนมีความหมายกับชาวตรัง วาฬบรูด้าจะมีความหมายต่ออ่าวไทยตอนในทั้งหมด เต่ามะเฟืองมีความหมายต่อพังงาและภูเก็ต ฉลามวาฬมีความหมายกับจุดท่องเที่ยวดำน้ำ ฯลฯ ยังหมายถึงกิจกรรม CSR ของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่เปิดกว้างขึ้น สามารถขยายผลไปในเรื่องอื่นๆ ชนิดคิดแล้วไปได้ไกลมาก

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือการศึกษา เรามีปัญหาว่าเด็กไทยไม่รู้จักของดีในประเทศไทย ไม่รู้จักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ยากมาก เมื่อเรามีสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครองที่เป็นสัตว์ทะเล เด็กๆ ของเรามีโอกาสได้เรียนรู้เพิ่มเติมในบทเรียน ต่อเนื่องถึงความรู้เรื่องทะเลไทย ฯลฯ ซึ่งหากเป็นแค่สัตว์เฉยๆ คงไม่มีโอกาสเช่นนั้น

สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย

 

นอกจากนี้ มติสัตว์สงวนและคุ้มครองยังเป็นการเปิดประตูที่เคยปิดไปแสนนาน ทำให้เราให้ความสำคัญกับการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ การผลักดันสัตว์ใหม่ๆ ให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ทะเลเพียงอย่างเดียว

ในฐานะที่เป็นผู้จุดประกายและผลักดันเรื่องนี้เป็นเวลาร่วม 1 ปี ผมดีใจมากที่เสียงผู้ลงรายชื่อสนับสนุนวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน จำนวนมากกว่า 5 หมื่นรายชื่อ ไม่เสียเปล่า จึงใคร่ขอ ขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง ท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ท่านรัฐมนตรีฯ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ คณะรัฐมนตรี และทุกๆ ท่านที่เกี่ยวข้อง รวมถึง “สิงห์เอสเตท” ที่สนับสนุนการจัดนิทรรศการวาฬแห่งสยามและทริปสื่อมวลชนเพื่อไปนำเสนอข่าวเรื่องวาฬเมื่อปีที่แล้ว

นี่คือผลงาน “ประชารัฐ” ด้านการอนุรักษ์สำคัญที่สุด เป็นความร่วมมือในรูปแบบประชาชนเสนอ รัฐตอบสนอง นักวิชาการให้ข้อมูล เอกชนสนับสนุน สื่อมวลชนช่วยกันประชาสัมพันธ์ ตอกย้ำว่าหากเราร่วมแรงร่วมใจกัน เรื่องดีๆ เกิดขึ้นได้ครับ