posttoday

เลือดรักหนังฟิล์ม “ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

07 พฤษภาคม 2559

“เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันก้าวไกลมากต้องตามให้ทัน แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตัวเอง” คือคติประจำใจของ มานิตย์ วรฉัตรผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง

โดย... ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

“เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันก้าวไกลมากต้องตามให้ทัน แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตัวเอง”  คือคติประจำใจของ มานิตย์ วรฉัตรผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค อ.งาว จ.ลำปาง

ปัจจุบันโลกแห่งดิจิทัลพัฒนาไปไวมาก การดูหนังแสนจะสะดวกสบาย เพียงแค่เปิดยูทูบ หรือเว็บไซต์หนังมากมายบนโลกออนไลน์ ก็สามารถดูได้บนคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือโทรศัพท์มือถือ แต่หากย้อนหลังไปประมาณ 30 ปี การจะดูหนังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องเดินทางไปดูที่โรงภาพยนตร์เท่านั้น หรือถ้าไม่มีเงินก็ต้องรอดูหนังฟรีตามงานวัด งานบวช งานศพ หรือหนังกลางแปลงขายยา ซึ่งมีไม่บ่อยนัก

วันนี้พัฒนาการแห่งสื่อดิจิทัลรุกคืบ ทำให้กิจการหนังกลางแปลงหรือหนังฟิล์ม กลายเป็นอดีตไป ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ฟิล์ม ปิดกิจการกันหมดสิ้น นักพากย์หนังหลายคนต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น บ้างเปิดร้านส้มตำไก่ย่าง บ้างทำธุรกิจค้าขาย ยกเว้นคนนี้ นักพากย์ นาม “รวีวรรณ” หรือชื่อจริง มานิตย์ วรฉัตร อดีตนักพากย์ทีมโกญจนาท และที่ปรึกษาทีมพากย์พันธมิตร ที่ยังคงปักหลักในอาชีพพากย์หนังฟิล์มที่ตนรัก และทำให้หนังฟิล์มยังคงฉายได้อยู่จนถึงทุกวันนี้

เลือดรักหนังฟิล์ม “ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

 

มานิตย์ วรฉัตร อายุ 69 ปี เกิดเมื่อปี 2490 ที่ จ.ยโสธร เป็นหลานชายเจ้าของโรงภาพยนตร์เฉลิมกิจวัฒนา อ.เมือง จ.ยโสธร ได้คลุกคลีกับกิจการโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็กจนเกิดความชอบภาพยนตร์แบบชนิดเข้าเส้นเลือด โดยเริ่มงานแรกด้วยการเป็นเด็กตรวจตั๋วหน้าทางเข้าโรงภาพยนตร์ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม และเริ่มชื่นชอบการพากย์หนัง เพราะอาชีพพากย์หนังในสมัยนั้นได้รับการยอมรับมาก มีชื่อเสียง มีคนชื่นชอบมาก นักพากย์ที่ดังๆ ก็จะมีแฟนคลับเยอะ ไปที่ไหนก็จะมีคนเข้ามารุมล้อมขอถ่ายรูปคู่ เหมือนศิลปินดารา หรือเน็ตไอดอลในยุคปัจจุบัน

เมื่ออายุ 15 ปี ในปี พ.ศ. 2510 ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ก็เริ่มงานพากย์ภาพยนตร์เรื่องขุนโจร 5 นัด เป็นเรื่องแรก ด้วยความตื่นเต้น พากย์ตะกุกตะกักบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่าดี ทำให้ได้รับการยอมรับและแจ้งเกิดในแวดวงนักพากย์ เริ่มแรกได้ค่าแรง เรื่องละ 20 บาท และต่อมาได้รับเพิ่มเป็นเรื่องละ 50 บาท ซึ่งขณะนั้นราคาทองอยู่ที่บาทละ 400 บาท (ปัจจุบันประมาณบาทละ 2 หมื่นบาท)

เลือดรักหนังฟิล์ม “ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

 

เริ่มงานพากย์อย่างจริงจัง ปี พ.ศ. 2515 ในนาม “รวีวรรณ” ประจำสายบริการเฉลิมวัฒนา จ.นครราชสีมา จนชื่อเสียงโด่งดัง และได้เข้าร่วมงานกับทีมพากย์โกญจนาท ซึ่งถือว่าโด่งดังมากในยุคนั้น เรียกว่าเป็นยุครุ่งเรืองในอาชีพการพากย์หนังเลยทีเดียว

“งานพากย์ภาพยนตร์เป็นงานที่ต้องพูดสดๆ เหมือนการถ่ายทอดสด เพราะฉะนั้นผู้พากย์จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมและมิให้มีข้อผิดพลาด หากเกิดความผิดพลาดขึ้น นักพากย์จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่รวดเร็วในการแก้ปัญหา”  แต่อย่างว่าทำงานมามากมายไม่พลาดเลยคงเป็นไปไม่ได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อไปพากย์ที่โรงภาพยนตร์วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ทีมพากย์ของคุณมานิตย์ก็มีอาการหลุดให้เห็น ในขณะกำลังพากย์ภาพยนตร์เรื่อง ชุมทางเขาชุมทอง ซึ่ง มิตร ชัยบัญชา แสดงคู่กับ พิศมัย วิไลศักดิ์  ด้วยเพราะหนังที่ฉายเป็นรอบที่ 4 ซึ่งดึกมาก ผู้ช่วยของคุณมานิตย์ มีอาการง่วงมาก จนใส่เสียงแบ็กกราวด์ผิดร่อง  ในเรื่องช่วงที่กำลังมีการยิงต่อสู้กันอย่างเมามัน และต้องใส่เสียงปืนเป็นแบ็กกราวด์ กลับเผลอไปใส่เสียงหมาหอนแทน “รวีวรรณ” ไหวตัวทัน รีบพากย์ “เห้ย...ใครไปยิงโดนหมาว่ะ” ทำให้ผู้ชมชอบใจส่งเสียงฮากันทั้งโรง พลิกสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี

ครั้งหนึ่ง มานิตย์ เคยเผลอพากย์เสียดสีตำรวจ ขณะพากย์ภาพยนตร์เรื่อง คอนวอย โรงภาพยนตร์เจริญรัตน์ จ.อุดรธานี จนถูกตำรวจเชิญตัวไปคุยและกักตัวไว้ที่สถานีตำรวจ ในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อนักพากย์โดนจับ ทำให้หนังฉายไม่ได้ ชาวบ้านโดยเฉพาะคนขับตุ๊กตุ๊ก สามล้อ ต่างไม่พอใจเพราะอยากดูหนัง จึงรวมตัวกันเดินทางไปล้อมโรงพัก แต่การเจรจาไม่เป็นผล ตำรวจยืนยันจะดำเนินคดีตามกฎหมาย สุดท้ายชาวบ้านช่วยกันเรี่ยไรเงินจนได้ 200  บาท (ขณะนั้นทองบาทละ 400 บาท) จ่ายเป็นค่าปรับ แล้วนำตัวนักพากย์ชื่อดัง นั่งสามล้อ แห่กลับมาพากย์หนังต่อ ซึ่งตำรวจที่เชิญตัวไปตอนนั้นคือ พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ ต่อมาภายหลังก็กลับกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน 

เลือดรักหนังฟิล์ม “ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

 

อาชีพของมานิตย์มั่นคงมากขึ้น เมื่อได้เข้าทำงานในบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ฝ่ายโฆษณาภูมิภาค ตำแหน่งนักพากย์โฆษณา ออกเร่ฉายหนังกลางแปลงตามภาคอีสาน ในปี 2520 อัตราเงินเดือน 5 หมื่นบาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 3,000 บาท ถือเป็นรายได้ที่สูงมากในยุคนั้น

จากเด็กพากย์หนังเรื่องละ 20 บาท สู่นักพากย์ชื่อดัง รายได้มากกว่า 5 หมื่นบาท/เดือน  ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิต มีแฟนคลับมากมาย มานิตย์เล่าถึงหลักคิดสู่ความสำเร็จว่า “เราต้องมีความแน่วแน่ในการทำอาชีพ จะเป็นอาชีพอะไรก็ได้ ขอให้เป็นอาชีพที่เราชอบ เพราะหากเราชอบ เราก็จะทำสิ่งนั้นได้ดี เราจะมีพลังในการทำงาน และที่สำคัญต้องเป็นอาชีพที่สุจริตด้วย ผมเชื่อว่าเวรกรรมมีจริง หากเราทำในสิ่งไม่ดี เวรกรรมก็จะตามสนองเรา เป็นอุปสรรคต่อประสบความสำเร็จ หากเราทำแต่กรรมดี ความดีก็จะคอยส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จได้”

หลังจากปลดเกษียณในปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงขาลงของธุรกิจหนังฟิล์ม มานิตย์จึงได้ริเริ่มความคิดในการอนุรักษ์หนังฟิล์มซึ่งเป็นสิ่งที่ตนรัก โดยการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค บนพื้นที่ส่วนตัว ที่หมู่บ้านท่องเที่ยว ท่าเจริญ ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง

เลือดรักหนังฟิล์ม “ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

 

“ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

“ผมมองเห็นแผ่นซีดีหนัง วางขายเกลื่อนเต็มท้องตลาด ผมก็เริ่มคิดแล้วว่า อนาคตสิ่งเหล่านี้ต้องเข้ามาแทนที่หนังฟิล์มอย่างแน่นอน หนังฟิล์มจะกลายเป็นแค่อดีต ผมจึงคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ที่จะทำให้หนังฟิล์มไม่สาบสูญไปตามกาลเวลา ในที่สุดผมก็คิดได้ เริ่มรวบรวมเก็บสะสมหนังฟิล์ม ทั้งโปสเตอร์หนัง เครื่องฉายหนังฟิล์ม ก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค เพื่อที่ว่าสิ่งที่ผมรักจะไม่หายสาบสูญไป จะยังคงมีให้ลูกหลานได้ดู ได้รู้ถึงวิวัฒนาการจากจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ฟิล์ม” มานิตย์ กล่าวถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์ฯ

ปี 2535 ความกังวลของมานิตย์ก็เป็นจริง วาระสุดท้ายของธุรกิจหนังฟิล์มได้มาถึง ไม่มีโรงภาพยนตร์ฉายหนังฟิล์มอีกต่อไป ยกเว้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ที่นี่ดัดแปลงจากบ้านไม้เก่าๆ ไม่ใหญ่มาก ทำเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม มีเก้าอี้ไม้ 23 ที่นั่ง จุคนได้ประมาณ 30-40 คน (รวมยืน) ระบบเสียงอาจไม่ยอดเยี่ยมเหมือนโรงฉายหนังใหญ่ๆ มีแสงเล็ดลอดเข้ามาได้ด้วย ผนังห้องประดับด้วยโปสเตอร์หนังมากมายติดจนเต็มพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังเก่า หาชมที่ไหนไม่ได้แล้ว มีโปสเตอร์หนังใหม่บ้างประดับแซมกันไป มีเครื่องฉายหนังฟิล์ม หลายเครื่องที่ทยอยซื้อเก็บไว้ บางเครื่องก็เป็นตำนานแห่งประสิทธิภาพที่ได้รับการยอมรับในวงการ มีหนังฟิล์มที่โด่งดังในอดีต อาทิ เพชรตัดเพชร, แม่นาคพระโขนง, วัลลี, เรือนแพ และสารคดีต่างๆ รวมประมาณ 500 เรื่อง ด้านนอกมีป้ายพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ทำขึ้นแบบเรียบง่าย และโปสเตอร์หนังติดประดับ

เลือดรักหนังฟิล์ม “ไม่สืบสาน ก็สาบสูญ”

 

ปัจจุบันที่นี่เปิดให้ชมฟรี นักพากย์รวีรรรณ บริการพากย์สดๆ ให้ชมฟรี ทั้งยังบริการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หนังฟิล์มในอดีตด้วย มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชมประมาณเดือนละ 4,000 คน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อินโดนีเซีย ฮอลแลนด์ และจีน รายได้ของที่นี่มาจากร้านชำเล็กๆ ข้างๆ ซึ่งเป็นของคุณมานิตย์เอง บริการขายอาหาร เครื่องดื่ม ขนม  และผลิตภัณฑ์โอท็อปจำพวกสมุนไพร รายได้ประมาณเดือนละ 1-2 หมื่นบาท  นอกจากนั้นคุณมานิตย์ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรไปพูดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และหนังฟิล์มในหลายที่ และรับงานฉายหนังกลางแปลงนอกสถานที่ซึ่งหายากมากในสมัยนี้ ล่าสุดก็ได้มีโอกาสไปฉายที่งานกาชาด ฤดูหนาว อ.งาว จ.ลำปาง เมื่อเดือน ม.ค. 2559

นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของกระทรวงยุติธรรม เพื่ออบรมผู้ถูกคุมประพฤติ จนได้รับรางวัล อาสาสมัครคุมประพฤติดีเด่นจังหวัดลำปาง เมื่อ 16 มี.ค. 2559

รายได้อาจไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีต แต่ก็เพียงพอเลี้ยงครอบครัว ภรรยาและลูก 2 คน ที่สำคัญคือได้ทำและอยู่กับสิ่งที่รัก มานิตย์ได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยบอกว่า “เราต้องเชื่อมั่นตนเอง ยึดหลักคุณธรรม และเอื้ออาทรต่อกัน”

ความตั้งใจของนักพากย์ในตำนานผู้นี้ คือ “การอนุรักษ์หนังฟิล์มให้คงอยู่ตลอดกาล ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิวัฒนาการ ประวัติศาสตร์แห่งภาพยนตร์”

มานิตย์ กล่าวทิ้งท้าย “ที่นี่ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ แต่เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งของเพื่อการเรียนรู้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีวิญญาณ มีรวีวรรณ คอยพากย์สดบอกเล่าถึงเรื่องราวของหนังฟิล์ม”