posttoday

เทพิตา นวนิยาย ละคร คือชีวิต

03 เมษายน 2559

“ตั้งแต่เด็กชอบอ่านนิยาย ชอบดูละคร จนทำให้เรามองออก มีเซนส์ว่าพล็อตแบบไหนจะเป็นละคร

โดย...นกขุนทอง-ศศิธร จำปาเทศ  ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

“ตั้งแต่เด็กชอบอ่านนิยาย ชอบดูละคร จนทำให้เรามองออก มีเซนส์ว่าพล็อตแบบไหนจะเป็นละคร อะไรที่จะโดนใจคนอ่านคนดู เชื่อว่าการที่เราอ่านเยอะ ดูละครเยอะ มันมีโอกาสจะซึมซับไปในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เรา แต่ถ้าเราจะไปเขียนแนวที่คนอื่นเขาเคยเขียนแล้วเราก็ต้องหาจุดแตกต่างให้ได้ ด้วยการสร้างมันใหม่ขึ้นมา” เทพิตา กล่าวถึงการสร้างผลงานนวนิยาย

เทพิตา นามปากกาของ สุเทพ คล้ำนคร ชื่อชั้นของเขากลายเป็นนักเขียนนวนิยายที่คนในวงการโทรทัศน์จับตาจ้องจีบผลงานนำไปสร้างเป็นบทละครโทรทัศน์ ที่ถูกซื้อไปสร้างแล้วก็มี เจ้าบ่าวกลัวฝน รักพลิกล็อก ธิดาผ้าซิ่น ลูกไม้หลากสี คู่แค้นแสนรัก บ่วงรัก เหลี่ยมรัก ดอกไม้ของซาตาน พรหมพิศวาส พายุริษยา คู่ร้ายคู่รัก แรงเสน่หา
ไฟรักไฟพิศวาส เป็นอาทิ

เทพิตา นวนิยาย ละคร คือชีวิต

 

กุหลาบเล่นไฟ คือ นวนิยายเรื่องแรกที่ถูกนำไปเป็นบทละครโทรทัศน์ทางช่อง 7 เทพิตาเขียนตอนเป็นนักศึกษา ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงพลังขับอันยิ่งใหญ่ให้เทพิตามุ่งมั่นบนทางสายนวนิยาย แม้ว่าหลังเรียนจบทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เป็นสิบปี แต่สุดท้ายเขาก็เลือกงานเขียนนวนิยายให้เป็นงานเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

“ต้องยอมรับว่าเงินที่ขายลิขสิทธิ์นวนิยายไปทำละครค่อนข้างสูง พอเราได้เงินมาก้อนนั้นมันก็เหมือนจุดประกายทำให้เราอยากจะเดินบนเส้นทางนี้ มันเหมือนมีแรงบันดาลใจเขียนนวนิยายเพื่อให้ถูกนำไปสร้างเป็นละคร”

เทพิตา นวนิยาย ละคร คือชีวิต

 

หากแต่ผลงานเรื่องที่ 2 ผลตอบรับไม่เข้าตาผู้จัดละคร ซึ่งทำให้เขารู้ในข้อบกพร่องของตัวเองและปรับปรุง จนผลงานหลายต่อหลายเล่มเข้าตาผู้จัด ถึงขนาดผลงานเทพิตารวมเล่มหรือตีพิมพ์ในนิตยสารต้องอ่านหรือติดต่อขอดูพล็อตกันเลยเทียว

“คิดว่าการเขียนให้เป็นละครเลยมันยาก เพราะว่าไม่เป็นธรรมชาติในตัวเรา ส่วนใหญ่ถ้าเราไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นละคร เราจะเขียนในสิ่งที่เราอยากเขียน แต่ถ้าคิดว่าต้องเป็นละครเราจะคิดเยอะว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ตลาดละครต้องการแบบนี้ เราจะเขียนให้ถูกใจเขาให้ได้ หลังจากนั้นก็ได้คำตอบว่ามันไม่ใช่ มีความรู้สึกกลับไปเขียนเหมือนเรื่องแรกที่เราอยากเขียน ที่เราคิดว่ามันสนุกที่สุดในความรู้สึกของเรา หลังจากนั้นมันจะเดินไปขั้นตอนไหน แล้วแต่เส้นทางของมัน

เทพิตา นวนิยาย ละคร คือชีวิต

 

เราก็พอมีเซนส์ว่าพล็อตเรื่องไหนสามารถเป็นละครได้ก็ต้องพยายามเขียนให้มันพอดี ไม่ใช่บังคับให้เป็นละครอย่างเดียว วงการละครหรือคนอ่านหนังสือเชื่อว่าทุกคนพอจะจับจุดได้ว่าละครไทยพล็อตยอดฮิตมันมีไม่กี่แบบ อยู่ที่เราจะบิดเนื้อเรื่องอย่างไรไม่ให้ซ้ำ แต่ละปีจะเขียนประมาณ 3 แนว คือ เขียนเอาใจตลาดละคร ตามใจตัวเอง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งจะเป็นเรื่องที่กลางๆ ไม่ได้ไปทางใดทางหนึ่ง นิยายเรื่องไหนได้รวมเล่มก็เป็นรางวัล แต่ถ้าได้ทำละครด้วยถือเป็นโบนัสสำหรับเรา”

จากบทเรียนที่ได้จากการทำงาน จนหาจุดพอดีให้กับชีวิตได้ ถึงวันนี้เทพิตามีนวนิยาย 40 เรื่อง เป็นละครไปแล้ว 10 เรื่อง อีก 20 เรื่องอยู่ในขั้นตอนการผลิตเป็นละครโทรทัศน์

เทพิตา นวนิยาย ละคร คือชีวิต

 

“หนังสือเล่มหนึ่งกว่าจะผ่านเป็นละครยากมาก ต้องมีฝ่ายคณะกรรมการของสถานี บางสถานีมีเป็น 10 คน ซึ่งทุกคนต้องอ่านแล้วมาโหวตกัน ผลงานเราบางเรื่องผู้จัดชอบมากแต่สถานีไม่ชอบ ดังนั้นชื่อของเราไม่ได้การันตีว่าทุกเรื่องจะได้เป็นละคร มีผู้จัดละครเสนอให้เขียนแนวเรื่องตามที่ต้องการ แต่ก็ไม่เคยรับ เพราะธรรมชาติของเราไม่ชอบให้ใครมาเร่ง รู้สึกว่ากดดันจะเขียนออกมาไม่ดี แต่จะเสนอเรื่องที่เขียนไว้แล้วให้ผู้จัดแทน”

เมื่องานที่ประทับชื่อ เทพิตา ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กลุ่มนักอ่าน แต่แทบทุกเรื่องมีโอกาสไปสู่ผู้ชมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ ดังนั้นเมื่อเป็นน้ำแรก สิ่งที่นำเสนอในนวนิยายนั้นจะต้องให้ทั้งสาระบันเทิง

เทพิตา นวนิยาย ละคร คือชีวิต

 

“แนวที่ชอบเลยส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องครอบครัวกับสังคม ลูกไม้หลากสี กุหลาบเล่นไฟ คู่ปรับฉบับหัวใจ สามเรื่องนี้ค่อนข้างเด่นชัดในสิ่งที่เราต้องการสะท้อน เรื่องครอบครัวสังคมที่เราสะท้อนไปเชื่อว่าคนอ่านจะจับจุดได้ ฉากล่อแหลมต่างๆ ในสมัยก่อนเราใส่ไม่ยั้ง แต่พอช่วงหนึ่งที่เราทำงานมานานหรือสภาพสังคมที่มันเปลี่ยนไป เราก็รู้แล้วว่าในบางเรื่องเราก็ต้องยั้งต้องตัดทอนด้วยตัวของเราเอง พยายามที่จะทำให้มันอยู่ในระดับที่พอดี ถามว่าต้องมีฉากเหล่านี้ไหมมันก็ต้องมี เพราะฉะนั้นการใส่แบ็กกราวด์ตัวละครสำคัญมาก ทำให้รู้เหตุผลว่าทำไมตัวละครจึงตัดสินใจทำอย่างนั้น เชื่อว่านิยายทุกเรื่องไม่ได้มีมุมดีทั้งหมด ถ้าเราเขียนสิ่งที่ไม่ดีก็อยากสะท้อนให้คนเข้าใจ ถ้าดีก็คือคุณค่า ถ้าไม่ดีก็อย่าไปทำ เชื่อว่าสมัยนี้ทั้งคนอ่านหนังสือดูทีวีมีวิจารณญาณกันหมด”

สุดท้ายแล้วนักเขียนนวนิยาย นามปากกา เทพิตา ผู้เคยตั้งเป้าหมายเริ่มต้นให้งานเขียนของตัวเองได้เป็นละครก็ได้บทสรุปแล้วว่า ไม่ว่าผลงานจะตีพิมพ์ในนิตยสาร รวมเล่มเป็นหนังสือ หรือได้ผลิตเป็นละครโทรทัศน์ ความสำเร็จนั้นอยู่ที่ผู้สัมผัสงานของเขาต่างหากว่า ไม่ว่าจะเสพจากสื่อไหนแล้วสนุกและได้ข้อคิด นั่นคือสิ่งที่เขาปรารถนา