posttoday

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

18 พฤษภาคม 2557

ความรักในของเก่า ของสะสมโบราณ อยู่ในสายเลือดของ ณรงค์ รักวาทิน

โดย...วราภรณ์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ความรักในของเก่า ของสะสมโบราณ อยู่ในสายเลือดของ ณรงค์ รักวาทิน ที่ปัจจุบันเกษียณจากงานธุรกิจนำเข้าเครื่องมือวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ ทำให้มีเวลามากขึ้นในการสะสม “วิทยุโบราณ” ซึ่งบางเครื่องอายุมากกว่า 60 ปี และอื่นๆ อีกมากมาย

ย้อนกลับไปในวัยหนุ่ม ค่าที่ศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศเยอรมนี ทำให้เขาได้สัมผัสกับวิทยุโบราณรุ่นต่างๆ เนื่องจากเยอรมนีได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตวิทยุอันดับต้นๆ ของโลก

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

ผ่านไป 30 ปี ของการเก็บสะสมวิทยุโบราณหลากรุ่นหลากชนิด รวมเบ็ดเสร็จเขามีวิทยุโบราณเป็นคอลเลกชั่นส่วนตัวมากกว่า 300 เครื่อง จนเพื่อนๆ ที่รักวิทยุโบราณต้องมาขอแบ่งปันไปเก็บบ้าง แต่มีบางเครื่องที่รักมากๆ ใครจะเอาสตางค์มาแลกก็ไม่ยอม

ณรงค์เริ่มเล่าย้อนวันวาน การเป็นนักสะสมวิทยุโบราณ เริ่มจากตอนเด็กๆ วัยเพียง 10 ขวบ เนื่องเพราะคุณพ่อของเขามีอาชีพนำข้าวสารจากต่างจังหวัดล่องเรือมาจากนครสวรรค์นำมาขายที่อ่างทอง ระหว่างทางต้องมีการเช็กราคาข้าวกลาง เลยต้องอาศัยฟังจากวิทยุ

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

วิทยุโบราณเครื่องแรกที่เขาได้สัมผัส คือ วิทยุโบราณที่ผลิตขึ้นในปี 1955 ผลิตที่ประเทศเยอรมนี ยี่ห้อ Telefunken ยอดฮิต ราคาซื้อในสมัยนั้นราว 7,000 บาท ใช้แบตเตอรี่ทั้งหมด 43 ก้อน

“สมัยก่อนวิทยุเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะเหมือนกัน เพราะราคาค่อนข้างแพง พ่อค้าข้าวต้องฟังวิทยุทุกคืน เช็กราคาข้าวในกรุงเทพฯ เวลาวิทยุเสียทีต้องยกมาซ่อมในกรุงเทพฯ แต่ซ่อมไม่ธรรมดา เอาแผงทรานซิสเตอร์จากวิทยุเราไป เอากลับมาฟังเสียงก็ไม่เหมือนเดิม ผมจึงค่อยๆ เริ่มศึกษา ชอบเปิดดูกลไกข้างใน แบตเตอรี่สมัยก่อนทนดี ผมมีเทคนิค คือ หากถ่านใกล้หมดจะเอาแบตไปฝังดินเพื่อเพิ่มความชื้น แล้วเอามาฟังต่อได้ หรือไม่ก็สลับถ่าน นี่คือ เทคนิคใช้ถ่านได้นาน

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

พอผมอยู่กรุงเทพฯ พอมีเงินเดือนก็เริ่มซื้อวิทยุเก็บ แต่ยุคนั้นในตลาดมีไม่เยอะ เพราะไม่มีใครนำเข้า พอไปเรียนต่อที่เยอรมนี เห็นวิทยุมากมาย รู้สึกตื่นเต้น ที่เยอรมนี วิทยุถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านชิ้นหนึ่ง มีหลากยี่ห้อเลย อย่าง Loewe, Opta, Operette, Concertino บางยี่ห้อเป็นวิทยุขนาดเล็ก”

ณรงค์เล่าถึงวิวัฒนาการของวิทยุให้ฟังด้วยว่า วิทยุเริ่มมาจากเอเอ็ม แล้วค่อยๆ พัฒนามาสู่เอฟเอ็ม ที่มีความละเอียดคมชัดขึ้น เพราะรับเสียงสัญญาณได้ดีกว่า แถมเสริมว่า หน้าตาและรูปลักษณ์ของวิทยุเยอรมัน ออกแบบได้สวยงามน่ามองกว่าทางฝั่งอเมริกา

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

“วิทยุที่ผลิตจากฝั่งสหรัฐเสียงจะหนักแน่น แต่ยุโรปเสียงจะฟังพลิ้ว ไม่กระแทกกระทั้น ฟังแล้วได้อรรถรสมากกว่า ขนาดเครื่องก็ไม่ใหญ่ กะทัดรัด แต่อเมริกาเน้นขนาดใหญ่ ฟังแล้วเหมือนดูคอนเสิร์ตจริงๆ

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ประเทศไทยก็มีวิทยุยี่ห้อธานินทร์ ที่ซื้อไลเซนส์มาสร้างแบรนด์ เป็นวิทยุหลอด และค่อยพัฒนาเป็นทรานซิสเตอร์ ซึ่งตอนนี้ธานินทร์เลิกผลิตไปแล้ว ยุคนี้คนหันกลับมานิยมของเยอรมันอีก ยุคนี้คนชอบวิทยุโบราณ เพราะเวลาฟังเขาเหมือนได้กลับย้อนไปสู่ยุคที่เขาเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยความที่บ้านเราอากาศร้อนชื้น ทำให้วิทยุเสื่อมสภาพเร็ว ผิวไม้แตก แต่ยุโรปอากาศแห้ง รักษาได้ดีกว่าบ้านเรา”

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

ณรงค์บอกว่า วิทยุหลอดมีเสน่ห์ตรงสามารถเปลี่ยนหลอดได้หลากหลายยี่ห้อ ซึ่งทำให้เสียงเวลาฟังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้เสียงนุ่มหวาน หรือทุ้มกว่า อีกทั้งช่างสมัยเก่ามีการคิดค้นวิวัฒนาการวิทยุได้อย่างฉลาดมากๆ สามารถเล่นกับซีดี หรือต่อเข้ากับเครื่องเสียงได้ รูปลักษณ์วิทยุโบราณต่างยี่ห้อ ก็มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น มน เหลี่ยม ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ฯลฯ ส่วนคุณภาพเสียงแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น ทุ้มแหลมหรือนุ่มนวลกว่ากัน แต่มีปุ่มให้ปรับได้

วิทยุโบราณสุดรักของณรงค์ที่ใครจะมาจีบขอแบ่งไปฟังบ้างก็ไม่ยอมแน่นอน มีจำนวน 40 ตัว เช่น วิทยุหลอดขนาดเล็กๆ เขานำมาเก็บใส่ตู้โชว์อย่างดี เช่น แบรนด์ชไนเดอร์ แม้เป็นเพียงวิทยุเล็กๆ แต่สามารถต่อเข้าเครื่องเล่นแผ่นเสียง เล่นระบบอะนาล็อกให้เสียงที่ธรรมชาติมากๆ ซึ่งแตกต่างจากวิทยุสมัยใหม่ที่เล่นด้วยระบบดิจิทัล อ่านแผ่นด้วยลำแสง แต่อะนาล็อกใช้หัวเข็มเป็นตัวอ่านเสียง

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

“ผมเก็บอย่างดี ไม่ยอมให้ใคร เพราะรูปลักษณ์มีความแปลกแตกต่าง บางยี่ห้อบางรุ่นเปิดแล้วมีไฟขึ้นมา ดูเก๋มากๆ เช่น ยี่ห้อฟิลิปส์ที่ผมเก็บอายุ 60 ปี เก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก”

นอกจากนี้ ณรงค์ยังมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณแบบหลอด เปิดแผ่นเสียงก็ได้ มีอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว ยี่ห้อวอยด์ มาสเตอร์ มีโลโก้เป็นรูปสุนัข ให้เสียงที่วินเทจ ฟังสบายๆ ซึ่งเขาได้มาจากเยอรมนีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วิทยุโบราณที่รักมากๆ บางเครื่องเจอสภาพแรกต้องส่งซ่อมเพราะชำรุดมากๆ แต่โชคดีที่เข้ารู้จักช่างซ่อมฝีมือดีอายุ 60-70 ปี อยู่หลายคน เวลาส่งซ่อมเขากำชับต้องเป็นอะไหล่เดิม ไม่ชอบดัดแปลง เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถหาอะไหล่ได้อยู่ เพราะเมืองนอกเวลาผลิตอะไหล่ที เช่น หลอด ก็จะผลิตครั้งละมากๆ และคุณภาพก็ไม่เสื่อม หากเขาพบใครขายอะไหล่วิทยุโบราณเหล่านี้เขาจะซื้อเก็บไว้เลย เพื่อเป็นอะไหล่สำรองให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ ที่ชื่นชอบวิทยุโบราณเหมือนกันด้วย

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

หากใครอยากหันมาเก็บวิทยุโบราณรูปทรงคลาสสิกบ้าง ณรงค์แนะแหล่งซื้อ คือ นักสะสมเก่าๆ ที่เก็บไว้เป็นจำนวนมากๆ แต่มาถึงยุคหนึ่งไม่อยากเก็บแล้ว เมื่อรู้แล้วก็ลองติดต่อขอซื้อดู แต่ส่วนใหญ่อย่างตัวเขาเองมักได้จากร้านขายของเก่าที่เยอรมนี หรือตามบ้านเรือนชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ชาวเยอรมันมักมีวิทยุติดตามบ้านกันทุกหลัง แต่พอเยอรมนีเปิดประเทศ วิวัฒนาการใหม่ๆ เข้าไปชาวเมืองก็มักหันไปฟังวิทยุสมัยใหม่ แล้วทิ้งวิทยุโบราณเครื่องเก่า ณรงค์ก็จะให้ญาติช่วยซื้อเก็บไว้ให้ แล้วค่อยขนย้ายทางเรือมาสู่ประเทศไทย

“วิทยุโบราณแม้อายุมากถึง 60-40 ปีแล้ว ก็ยังสามารถฟังได้อยู่ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้สร้างแบรนด์สามารถออกแบบเครื่องเสียงและวิทยุได้ โดยไม่มียุคหรือสมัยมาขีดจำกัด สามารถฟังกับซีดี ไอโฟนก็ได้ แค่มีสายเชื่อมต่อก็สามารถฟังได้ และด้วยการออกแบบและการผลิตที่ประณีตทำให้เสียงที่ดีมากๆ ฟังก้องกังวานไพเราะมากๆ อันนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้คนหันมาเก็บสะสมวิทยุโบราณ”

‘วิทยุโบราณสุดคลาสสิก’ ของรัก ณรงค์ รักวาทิน

 

หลักการเลือกซื้อหาวิทยุโบราณสำหรับมือใหม่ ให้ดูสภาพภายนอกว่าครบถ้วนเป็นอันดับแรก ไม้ผิวรอบนอกต้องไม่ถลอก ไม้แตกลายงาไม่เป็นไร เพราะนั่นคือเสน่ห์ ส่วนคุณภาพเสียงไม่ต้องห่วงเพราะเสียงมักดีอยู่แล้ว หากไม่ดังไม่เป็นไร เราสามารถนำมาซ่อมได้

“ก่อนซื้อต้องถามเลยว่า เป็นวิทยุโบราณแบบดั้งเดิมหรือเปล่า ถ้าไม่เดิมคืนนะ เอาใบรับประกันมาว่า ถ้าไม่เดิมจริงเปลี่ยนคืนได้ และพยายามซื้อกับพ่อค้าที่มีความซื่อสัตย์และมีเครดิตที่ดี ”

สุดท้ายณรงค์บอกว่า การที่เขาสะสมวิทยุโบราณก็ทำให้เขาได้มีสังคมเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้พูดคุย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ฟังเพลงที่ชื่นชอบจากเครื่องเสียงและวิทยุดีๆ ก็เกิดความสุขเรียบง่ายที่สามารถหาได้ง่ายๆ ที่บ้าน

วิธีเก็บรักษาวิทยุโบราณ

1. คือ วางหรือเก็บรักษาวิทยุโบราณไว้ในที่ไม่ค่อยมีฝุ่น เพราะฝุ่นจะเข้าไปทำให้อุปกรณ์ข้างในเสื่อมสภาพเร็ว บางครั้งน้ำมันในเครื่องอาจทำให้การเดินของไฟติดขัด ฝุ่นที่จับอยู่ที่ขั้วไฟทำให้กระแสไฟเดินไม่สมูท ไฟขาดๆ หายๆ เสียงก็ขาดๆ หายๆ ตามไปด้วย

2. เก็บไว้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ อย่าตากแดด ฝน หรือโดนน้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เครื่องมีคววามชื้น เกิดไฟชอร์ตได้ ควรเก็บไว้ในห้องรับแขก ห้องนอนที่มีอุณหภูมิปกติได้ ไม่ต้องกลัวเครื่องร้อน เพราะพอเปิดฟังเครื่องร้อนอยู่แล้ว จากสิ่งที่เขาสังเกตเครื่องยิ่งร้อนยิ่งฟังไพเราะ แต่อย่าเอาไปตากแดด ตากแดดทำให้ไฟเสื่อม อีกทั้งอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกกับความชื้น ถ้ารักษาดีๆ วิทยุโบราณสามารถอยู่ได้ถึงสิ้นอายุขัยของเรา อะไหล่ไม่ต้องกลัวเสียหายเพราะมีอะไหล่เปลี่ยนอยู่แล้ว

3. เวลาวิทยุเสีย ควรส่งกับช่างซ่อมที่มีฝีมือและมีความซื่อสัตย์จริงๆ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนอะไหล่บางชิ้น ถ้าให้ดีควรขอคำแนะนำจากนักสะสมด้วยกันและบอกกันปากต่อปาก เราควรส่งช่างซ่อมที่ไว้ใจได้ ส่วนค่าซ่อมบำรุงแล้วแต่เครื่องว่าเสียมากเสียน้อย สามารถทิ้งวิทยุไว้ไม่เปิดฟังได้ เครื่องไม่เสีย จะเสียกรณีความชื้น หรือหนูกัดแผงข้างหลังแล้วเข้าไปข้างในจึงทำความเสียหายให้เครื่องข้างใน ดังนั้น ควรเก็บไว้ในห้องดีๆ อย่าเก็บไว้ในโรงรถ ถ้าวิทยุเครื่องไหนมีร่องรอยฉี่หนู ช่างบางคนจะไม่ซ่อมเลย เพราะเขากลัวโรคฉี่หนู แต่เมืองนอกไม่มีปัญหานี้