posttoday

โภชนาการวัยแรกเริ่ม 1,000 วันสำคัญยิ่งชีวิต

12 เมษายน 2557

พัฒนาการของชีวิตแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มเป็นตัวน้อยๆ อยู่ในครรภ์มารดา

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

พัฒนาการของชีวิตแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มเป็นตัวน้อยๆ อยู่ในครรภ์มารดาจนเติบโตยืนหยัดใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

บางคนมีร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉลียวฉลาด ขณะที่บางรายมีความผิดปกติทางร่างกาย ประสบภาวะโรคภูมิแพ้ โรคอ้วนบ้าง ฯลฯ

ข้อสงสัยเหล่านี้อาจต้องย้อนมองไปถึงภาวะโภชนาการวันแรกเริ่มของชีวิตแต่ละคนมีความเข้าใจและใส่ใจมากน้อยขนาดไหน เหมือนกับที่หลายต่อหลายคนเข้าใจเบื้องต้นว่า เมื่อกำเนิดลูกน้อยขึ้นมาจำเป็นอย่างยิ่งได้รับน้ำนมแม่เพราะนั่นคือแหล่งรวมของสารอาหารอันสุดแสนวิเศษ

ทว่า คุณแม่แต่ละท่านอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสารอาหารในน้ำนมแตกต่างกัน แตกต่างถึงขั้นอาจทำให้เจ้าตัวน้อยได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

สาเหตุก็อาจมาจากตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์คุณแม่เสริมสร้างโภชนาครบถ้วนหรือไม่แม้แต่หลังตั้งครรภ์แล้วได้ละเลยภาวะโภชนาการที่ถูกต้องหรือไม่เช่นกัน

โภชนาการวัยแรกเริ่ม 1,000 วันสำคัญยิ่งชีวิต

 

แล้วเราจะเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปอย่างไร ทันการณ์หรือไม่

วงการแพทย์รวมถึงสถาบันวิจัยโภชนาการวัยแรกเริ่มของชีวิตในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญศึกษาปัญหาเหล่านี้ เพื่อขยายความรู้ที่ถูกต้องไปถึงบรรดาคุณแม่ทั้งหลาย

เบอร์น สตาล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยนมแม่ จากสถาบันวิจัยนูทริเชีย สถาบันวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการในวัยแรกเริ่มของชีวิตเมืองยูทริกซ์ เนเธอร์แลนด์ ไขปริศนานมแม่ผ่านโพสต์ทูเดย์ว่า

“ในนมแม่ประกอบด้วยน้ำประมาณ 86% ที่เหลือ 14% เป็นสารอาหารต่างๆ ในรูปของแข็งประกอบด้วยน้ำตาลแล็กโตสประมาณ 52% ไขมันและกรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 30% ใยอาหารสุขภาพ (พรีไบโอติก) 10% และโปรตีน 8% นอกจากนี้ นมแม่ยังมีแบคทีเรียสุขภาพ (โพรไบโอติก) ปนอยู่ด้วย โดยเฉพาะบิฟิโดแบคทีเรีย”

ส่วนประกอบของสารอาหารในนมแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของแม่ เช่นแม่ที่มีกรุ๊ปเลือดต่างกันก็จะมีใยอาหารสุขภาพ (พรีไบโอติก) ที่มีส่วนผสมแตกต่างกันไปในนมของแม่แต่ละคน และยังต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของการให้นมลูกด้วย

โภชนาการวัยแรกเริ่ม 1,000 วันสำคัญยิ่งชีวิต

 

ขณะที่ส่วนประกอบของไขมันในนมแม่แตกต่างกันตามอาหารและปริมาณของแหล่งกักเก็บไขมันในร่างกาย

คุณสมบัติด้านสุขภาพที่สำคัญของนมแม่ที่มีต่อทารก ได้แก่ 1.ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครบถ้วนสมบูรณ์โดยเฉพาะจากน้ำตาลแล็กโตสและไขมันซึ่งเป็นแหล่งพลังงานและโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย

2.ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของภูมิต้านทาน โดยเฉพาะจากโปรตีน ใยอาหารสุขภาพ (พรีไบโอติก) แบคทีเรียสุขภาพ (โพรไบโอติก) และกรดไขมันไม่อิ่มตัว

3.ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของระบบประสาทและสมองโดยเฉพาะจากไขมันและกรดไขมันไม่อิ่มตัว

สถาบันวิจัยนูทริเชียได้ทุ่มเททำการ

ศึกษาวิจัยสารอาหารและคุณสมบัติต่างๆ ของนมแม่ที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่งมานานกว่า 30 ปี ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญโดยเฉพาะปัจจุบันสถาบันวิจัยนูทริเชียมีโครงการวิจัยด้านนมแม่ร่วมกับมหาวิทยาลัย และสถาบันทางวิชาการต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 50 โครงการ

งานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์วิจัยนูทริเชีย จึงมีส่วนเชื่อมโยงในการเติมเต็มสิ่งที่คุณแม่ขาดหายไป

เบอร์น ยกตัวอย่าง เช่นช่วงแรกๆ นูทริเชียศึกษาเกี่ยวกับไขมันและกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวในนมแม่ ทำให้กลุ่มบริษัท ดานอนเป็นบริษัทแรกที่เสริมกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น DHA, ARA ลงในนมผงสำหรับทารกตั้งแต่ปี 1992 และกลายมาเป็นมาตรฐานนมผงสำหรับทารกในปัจจุบัน ด้วย


ช่วงสำคัญของชีวิต

บาสเตียน สเคาเต็น จากสถาบันวิจัยเดียวกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้บรรดาว่าที่คุณแม่ร่วมตระหนักถึงโภชนาการช่วงเริ่มต้นของชีวิต (EarlyLifeNutrition) มีความสำคัญอย่างยิ่ง

“โดยเฉพาะในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตเริ่มตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดและมีอายุครบ 2 ปี (24 เดือน)”

คนเราในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตมีความสำคัญมากถึง 80% ต่อการกำหนดภาวะสุขภาพไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ที่ได้รับจากพ่อแม่มีส่วนกำหนดเพียง 20% เท่านั้น

นักวิจัยรายนี้แจกแจงข้อมูลผ่านคณะแพทย์จากเมืองไทยที่เดินทางไปศึกษางานวิจัยในสถาบันนูทริเชียว่าในบรรดาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มากระทบคนเราในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต “โภชนาการ” เป็นปัจจัยที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญในอันดับต้นๆ การได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะน้อยเกินไปซึ่งทำให้เกิดการขาดสารอาหารหรือมากเกินไปซึ่งทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกินล้วนแต่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แล้วว่าส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้น

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยเทียบกับผู้ที่ได้รับโภชนาการที่สมดุลและเหมาะสมในช่วงวัยนี้ และถึงแม้ว่าคนเราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ได้รับโภชนาการที่สมดุลได้ตลอดช่วงชีวิต แต่ผลกระทบที่จะช่วยกำหนดภาวะสุขภาพจะมีมากที่สุดในช่วงเริ่มต้นของชีวิต

โภชนาการวัยแรกเริ่ม 1,000 วันสำคัญยิ่งชีวิต

 

ผสานงานวิจัยสุขภาพแม่สู่ลูก

สำหรับเมืองไทย งานวิจัยน้ำนมแม่เป็นไปลักษณะกระจายตัวแตกต่างกับต่างประเทศที่มีสถาบันวิจัยเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้องค์ความรู้โภชนาการวัยแรกเริ่มชีวิตไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ทางดานอน นูทริเชีย ต้องการสนับสนุนให้งานด้านโภชนาการช่วงเริ่มต้นของชีวิตมีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวคิดภาพรวมโดยเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการช่วงเริ่มต้นของชีวิต จัดตั้งเป็นชมรม และมีการปรับเปลี่ยนเป็นคลับ ต่อมาเป็นสมาคม และใช้ชื่อว่า เครือข่ายโภชนาการช่วงเริ่มต้นของชีวิต

“เราได้ร่วมมือกับ ดานอน นูทริเชีย ในการหาแนวทางการนำเสนอข้อมูลสำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งกลุ่มดานอนและผู้บริโภคทั่วไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมผงเด็กเนื่องจากผลิตภัณฑ์นมผงเด็กบางแบรนด์ใส่สารโปรตีนเกินอัตราส่วนหรือมาตรฐานส่งผลให้เกิดอันตรายแก่เด็กและผู้บริโภคได้”

ดังนั้น ผมจึงจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้กับกลุ่มพยาบาลในประเทศไทย โดยเจาะกลุ่มทั้งโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และมีผลสำรวจออกมาว่า โดยส่วนใหญ่กลุ่มพยาบาลไม่ทราบว่าระหว่างโฟเลทและโฟลิค มีความแตกต่างกันอย่างไร

“ทางเราได้ให้คำแนะนำแก่คุณแม่ที่มาฝากครรภ์ เช่น การรับประทานอาหาร ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เป็นต้น โดยจะมีสมุดเล่มสีชมพู ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฝากครรภ์ ซึ่งทางดานอนก็ตอบโจทย์ผู้บริโภคและรับกับคอนเซปต์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมือกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นอีกด้วย”

คุณหมอวิทยา บอกว่า ทุกคนมีความรู้หลากหลายด้าน แต่ยังขาดการร่วมมือกันหรือการแบ่งปันข้อมูลกัน แพทย์ที่ดี นักวิชาการที่ดีควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นอันดับแรก แล้วจึงคำนึงถึงประโยชน์ของตัวเองเป็นอันดับสอง ควรร่วมมือกันหาแนวทางให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการวัยแรกเริ่มของชีวิตที่เป็นเครือข่ายให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ เรายังจะต้องหาทางโปรโมทให้กลุ่มผู้บริโภคและสาธารณะรับรู้ โดยใช้ช่องทางสื่อสารหรือการประชาสัมพันธ์มาช่วยเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภค หากสื่อสารผิดเพี้ยนไปอาจส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือเด็กทารกได้ เช่น มีการให้ความรู้ว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารให้มากขึ้น เพราะมีลูกอยู่ในครรภ์ แต่จากงานวิจัยพบว่า คุณแม่ที่เดิมมีรูปร่างอ้วนและค่าเกินมาตรฐาน ถ้าน้ำหนักขึ้นเกิน 7 กิโลกรัม จะมีปัญหาแน่นอน ซึ่งผลการวิจัยนี้จะเห็นได้ว่าศาสตราจารย์ที่เกี่ยวกับวิตามินอาหารให้ผู้บริโภครับสื่อโฆษณาและสื่อบางประเด็นที่ไม่ครอบคลุมแบบครบถ้วน

หมอวิทยา ยังถ่ายทอดงานวิจัยของอาจารย์แพทย์ ท่านเล่าถึงคนไข้ที่มีลูกที่ทานแต่นมแม่และแพ้นมวัว และถูกตั้งเป็นประเด็นว่า ทานแต่นมแม่ แต่ทำไมแพ้นมวัว และให้เหตุผลว่าเพราะแม่โหมทานแต่นมวัว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้นเราควรสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคเพื่อไม่ให้เข้าใจแบบผิดๆ เพราะอาจส่งผลร้ายให้ทั้งแม่และเด็ก

สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำวิจัยของประเทศของเรา เพื่อปรับและนำหลักการมาใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับคนในประเทศ

การก้าวต่อไปของเครือข่ายแพทย์ด้านโภชนาการวัยแรกเริ่มของชีวิต หมอวิทยายอมรับว่าต้องใช้เงินทุนสนับสนุนซึ่งในเบื้องต้นทางดานอนตกลงที่จะให้การสนับสนุนใน 3 ปีแรก โดยในปีที่ 1 จะให้เงินสนับสนุนจำนวน 2 ล้านบาท สำหรับการดำเนินกิจกรรมซึ่งทำให้ต้องมีผลลัพธ์ที่ประเมินได้ว่าคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้รับมาเพื่อการพัฒนาความก้าวหน้าในส่วนนี้

โภชนาการวัยแรกเริ่ม 1,000 วันสำคัญยิ่งชีวิต

 

“ดานอนเป็นบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งผมรับได้ เพราะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และงานทางวิชาการจริงๆ นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้”

หมอวิทยา บอกว่า การดำเนินงานที่จะเห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีทั้งการเลกเชอร์ เวิร์กช็อป สำหรับผู้ที่จะให้ความรู้กับผู้ป่วยก็อาจจะเริ่มจากพยาบาล เช่น ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้ทราบว่า โฟลิคกับโฟเลทมีความแตกต่างกัน แต่เป็นยาชนิดเดียวกัน แล้วต้องกินขนาดเท่าไหร่ เป็นต้น