posttoday

บทบันทึก จาก “เซลฟี่” ถึง “เซลฟี่”

04 มีนาคม 2557

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมพบข่าวที่น่าสนใจอยู่สองข่าว ข่าวแรกคือ พจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด ยกให้คำว่า เซลฟี่ (Selfie) เป็นคำแห่งปี ประจำปี 2013

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ นัด มาบุชี่ (www.facebook.com/maaja)

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมพบข่าวที่น่าสนใจอยู่สองข่าว ข่าวแรกคือ พจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด ยกให้คำว่า เซลฟี่ (Selfie) เป็นคำแห่งปี ประจำปี 2013 โดยให้คำจำกัดความไว้ว่า เซลฟี่ หมายถึง รูปที่คนถ่ายรูปตัวเอง โดยใช้สมาร์ทโฟนหรือเว็บแคม แล้วอัพโหลดสู่เว็บโซเชียลมีเดีย

ข่าวต่อมา ได้ถูกนำเสนอผ่านเว็บไซต์เดลีเมลของอังกฤษว่า วัยรุ่นในโลกโซเชียลมีเดียได้สร้างมหกรรมการแข่งขัน “เซลฟี่ โอลิมปิกส์ 2014” ขึ้น โดยใช้เวลาการแข่งขันเพียง 3 วัน เพื่อเฟ้นหาบุคคลที่ถ่ายรูปตัวเองได้แปลก แหวกแนว หวาดเสียว พิลึกพิลั่น มั่น มัน ฮา บ้าบอคอแตก และสุดติ่งที่สุด ผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์

ผลปรากฏว่าการแข่งขันนี้ได้ลุกลามไปสู่บรรดาเซลฟี่ทั่วทุกมุมโลก ที่ต่างประชันขันแข่งแต่งแต้มให้รูปของตัวเองเฟี้ยวเงาะกว่าใครเพื่อน

นั่นอาจเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่น่าสนใจภายใต้คำว่า เซลฟี่ มันคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ ที่สะท้อนผ่านรูปถ่ายที่มีตัวเราแผ่หราอยู่ในนั้นทุกรูป

บทบันทึก จาก “เซลฟี่” ถึง “เซลฟี่”

 

เราถ่ายรูปตัวเองเพื่ออะไร?

ผิดไหมที่ถ่ายรูปตัวเองแล้วอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดีย?

ที่อัพโหลดลงไป เพื่ออะไร เพื่อใครกันแน่?

เราหวังอะไรจากการอัพโหลด แค่แชร์ แค่โชว์ หรือหวังอะไรมากกว่านั้น?

แล้วถ้าไม่เป็นอย่างหวัง ผลที่ตามมาจะเกิดอะไรขึ้น?

แล้วเราจะหลุดพ้นจากการเป็นเซลฟี่ได้อย่างไร หลุดพ้นแล้วดีจริงไหม?

เชื่อไหมว่าผมเฝ้าถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองซ้ำไปซ้ำมา เพราะผมรู้สึกว่าในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ผมถ่ายรูปตัวเองแล้วอัพโหลดลงในอินสตาแกรม แล้วพ่วงด้วยการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กอยู่ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง และแต่ละครั้ง แต่ละรูป ผมจะต้องสาละวนตรวจเช็กว่ามีใครมากดไลค์ มีใครมาคอมเมนต์บ้าง เป็นหนักถึงขั้นนับจำนวนคนที่มากดไลค์ จนเกิดอาการคาดหวังยอดกดไลค์ ถ้าคนมากดไลค์น้อยจะรู้สึกหงอยเหมือนหมาเหงา (ขั้นหนักสุด คือ ตัวเองกดไลค์เพื่อเพิ่มยอดให้รูปตัวเอง)

บทบันทึก จาก “เซลฟี่” ถึง “เซลฟี่”

 

“ลองถอยตัวเองออกมาดู” รุ่นพี่คนหนึ่งในกองบรรณาธิการแนะนำผมไว้อย่างนั้น และเมื่อผมตกปากรับคำ ผมเหมือนคนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการพยายามพิชิตอาการชอบถ่ายรูปตัวเองแล้วอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดีย อีกทั้งพยายามหักดิบจากการคาดหวังยอดกดไลค์จากผู้คนให้ได้มากที่สุด

ระหว่างเส้นทางแห่งความพยายามนั้น ผมได้มีโอกาสสนทนากับรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต “พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” ซึ่งท่านได้บอกเล่าว่า พฤติกรรมที่เรียกว่า เซลฟี่ เป็นพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง

“การที่เซลฟี่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลค่ะ การอัพโหลดรูปลงในโซเชียลมีเดีย เพราะอยากได้การตอบรับจากสังคม และการได้ยอดกดไลค์ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำ แต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เท่ากัน บางคนลงรูปไปแล้วได้แค่สองไลค์ เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้ยอดกดไลค์มากๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติด เพราะถือว่าเป็นรางวัล

ในทางตรงกันข้าม หากได้รับการตอบรับน้อยไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ และทำใหม่ แล้วก็ยังไม่รับการตอบรับ จะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง บุคคลนั้นจะสูญเสียความมั่นใจ และส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติ พฤติกรรมเซลฟี่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราได้ค่ะ”

บทบันทึก จาก “เซลฟี่” ถึง “เซลฟี่”

 

แพทย์หญิงท่านนี้ยังได้บอกเล่าให้ผมฟังว่า มีนักจิตวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่ง ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า พฤติกรรมเซลฟี่สามารถกัดกร่อนความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเองได้ หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ แต่หากมากไปและคาดหวัง จดจ่อว่าจะมีใครเข้ามาดู เข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงว่าเซลฟี่กำลังสร้างปัญหา และเป็นสัญญาณเตือนบอกให้เรารู้ตัวว่า เรากำลังขาดความมั่นใจในตัวเอง

“ความมั่นใจในตัวเอง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนนะคะ เพราะมันจะทำให้คนพอใจในตัวเอง มีความสุข มีสมาธิ ไม่กังวล ไม่โหยหาความรักและความสนใจจากคนอื่นๆ กล้าทำในสิ่งใหม่ที่เหมาะสม มีความเป็นผู้นำ กล้าเผชิญความจริง มีบุคลิกภาพดี เป็นมิตรกับทุกคน หากขาดความมั่นใจในตัวเองแล้ว จะเกิดความกังวล ลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ อาจมีความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดกลัว หวาดระแวง เครียด อิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น และซึมเศร้า”

เมื่อผมถามถึงหนทางแก้ไข หรือวิธีป้องกันการเสพติดเซลฟี่ รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในตัวเองบนโลกแห่งความเป็นจริง แพทย์หญิงท่านนี้ยิ้มอย่างอ่อนโยนก่อนตอบคำถามผมว่า เราต้องให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน

บทบันทึก จาก “เซลฟี่” ถึง “เซลฟี่”

 

“ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องฝึกความอดทนให้กับตัวเอง เพราะเราถ่ายรูปแล้วอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดียไม่ได้ตลอดเวลา ครั้งไหนที่ทำไม่ได้เราต้องยอมฝืนใจที่จะไม่ทำ หากเราผ่านจุดนั้นไปได้ ในครั้งต่อๆ ไป เราก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมการถ่ายรูปแล้วอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดียของเราได้ในท้ายที่สุด”

หากการยอมฝืนใจของแพทย์หญิงท่านนี้ กับการลองถอยตัวเองออกมาดูของรุ่นพี่คนหนึ่งในกองบรรณาธิการ คือความเหมือนที่อาจเป็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ ผมว่า มันก็น่าเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้าและเข้าท่าดีกับตัวผมเองอยู่มิใช่น้อย

นับตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาจนมาถึงวันนี้ ปฏิบัติการฝืนใจและถอยตัวเองออกมาดูของผม มันก็มีอะไรบางอย่างสะท้อนออกมาให้เห็น โดยคนรอบข้างพูดกับผมว่า ผมถ่ายรูปแล้วอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดียน้อยลง แม้จะมีให้เห็นบ้าง แต่ก็ถือว่าดีขึ้น แต่สำหรับผม ผมว่ายังฝืนใจและก้าวถอยตัวเองออกมาดูได้ไม่ดีพอ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดหรับผมในตอนนี้ ไม่ใช่จำนวนรูปที่อัพโหลดลงไป แต่มันคือการลดการจดจ่อและลดการคาดหวังในจำนวนคนกดไลค์ให้ได้ต่างหาก ซึ่งนี่คือการฝืนใจและการก้าวถอยออกมาดูที่ยากที่สุด แต่ต้องทำให้ได้ และต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง ณ บัดนาว

แม้มือมันจะสั่น ใจมันจะหวั่นไหว ที่ว่างนิดว่างหน่อยเป็นต้องหยิบโทรศัพท์มาดูให้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้ แล้วเราจะไปเริ่มทำตอนไหน จริงไหม

คุณว่าจริงไหมครับ?

บทบันทึก จาก “เซลฟี่” ถึง “เซลฟี่”