posttoday

ปวดหลังทรมาน เทคโนโลยีใหม่ช่วยได้

12 ตุลาคม 2556

หนึ่งในความสำเร็จเชิงประจักษ์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คือการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลัง

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน


หนึ่งในความสำเร็จเชิงประจักษ์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คือการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลัง

ความโดดเด่นในกระบวนการรักษา ซึ่งแตกต่างจากสถานพยาบาลแห่งอื่นตามที่บำรุงราษฎร์กล่าวอ้างคือ “การรักษาอย่างตรงจุด” ด้วยเครื่องมือทรงศักยภาพ

ปัจจุบันสามารถแบ่งวิธีการรักษาอาการปวดหลังออกเป็น 3 วิธี คือ 1.ให้ยาและกายภาพบำบัด 2.ฉีดยาเข้าโพรงประสาท 3.ผ่าตัด โดยหลักของแพทย์จะยึดแนวทางที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุด

นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า กรณีที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการไม่รุนแรง แน่นอนว่าแพทย์จะเลือกรักษาด้วย 2 วิธีแรก แต่หากผู้ป่วยปวดหลังรุนแรงโดยมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือโพรงประสาทตีบแคบ หรือปวดหลังร้าวลงขาจากการกดทับหรืออักเสบของเส้นประสาทเนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อน จำเป็นต้องผ่าตัด

สำหรับการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบไม่ดามกระดูก และการผ่าตัดแบบที่ต้องดามเชื่อมข้อกระดูก โดยวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานนั้นจะทำโดยการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งแพทย์ต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดีออกเพื่อเปิดทางเข้าไปเพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่ดีในการผ่าตัด

การผ่าตัดแบบไม่ต้องดามกระดูก ทุกวันนี้มีเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยแพทย์จะสอดกล้องและอุปกรณ์การผ่าตัดผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 7.9 มิลลิเมตร เลนส์ที่ปลายกล้องสามารถทำให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่มีปัญหาได้

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดบางประการในคนไข้ที่มีปัญหาโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ที่ผ่านมาอาจมีความยุ่งยากในการรักษาบ้าง แต่ล่าสุดมีการคิดค้นกล้องเอ็นโดสโคปที่พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยขนาด 10.5 มิลลิเมตร ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ให้สามารถรักษาอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้หลากหลายและดียิ่งขึ้น

ส่วนการผ่าตัดแบบดามเหล็กเชื่อมข้อกระดูก ราวๆ 10% จะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาการปวดหลังรุนแรงแต่ไม่มีอาการร้าวลงขา มีวิธีการผ่าตัด 3 วิธีที่จะเลือกนำมาใช้ตามข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ALIF (Anterior Lumbar Interbody Fusion) คือการผ่าตัดเข้าทางด้านหน้า OLIF (Oblique Lumbar Interbody Fusion) คือการผ่าตัดเข้าด้านข้างค่อนไปทางด้านหน้า และ DLIF (Direct Lateral Interbody Fusion) คือการผ่าตัดเข้าทางด้านข้างของลำตัว โดยทั้ง 3 วิธี ทำได้โดยวิธีการผ่าตัดเปิดแบบมาตรฐานและการผ่าตัดแผลเล็ก

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังรุนแรงและร้าวลงขาจากกระดูกที่เคลื่อนและเกิดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งคิดเป็น 90% ของผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูก แพทย์ไม่สามารถใช้ 3 วิธีที่กล่าวมาได้ เนื่องจากแพทย์จะมองไม่เห็นกลุ่มเส้นประสาทที่อยู่ทางด้านหลัง การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้วิธีการผ่าตัดเปิดจากทางด้านหลัง ได้แก่ วิธี TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) และ PLIF (Posterior Lumbar Interbody Fusion)

“ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธี TLIF จนสามารถผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กเพื่อดามเหล็กผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ได้สำเร็จ ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อแหวกเส้นประสาทเข้าไปดามเหล็ก เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงจึงได้รับความบอบช้ำน้อย ลดอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และฟื้นตัวได้เร็วไม่เกิน 3-4 วัน” นพ.วีระพันธ์ กล่าว