posttoday

งานศิลป์บน‘ปกหนังสือ’ปกพ็อกเกตบุ๊กนั้นสำคัญไฉน

28 กันยายน 2556

วงการหนังสือถือว่าภาพปกเปรียบเสมือนห้องรับแขก เป็นสิ่งเย้ายวนจูงใจให้คนอ่านสะดุดตาจนมองซ้ำ หยิบพลิกมาดูปกหลังบ้าง

W14 Hot n cool 28 sep

เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล

ณรงค์ จันทร์เรือง นักเขียนรุ่นใหญ่ เคยกล่าวไว้ดังนี้

“วงการหนังสือถือว่าภาพปกเปรียบเสมือนห้องรับแขก เป็นสิ่งเย้ายวนจูงใจให้คนอ่านสะดุดตาจนมองซ้ำ หยิบพลิกมาดูปกหลังบ้าง เปิดอ่านเนื้อในบ้าง ส่วนมากก็จะควักกระเป๋าซื้อกันทั้งนั้น

แต่ถ้าห้องรับแขกไม่เอาไหน นอกจากไม่อยากโยนหางตาไปชำเลืองแล้ว ยังต้องรีบมองผ่านไปโดยพลัน ถึงแม้ชื่อนักเขียนกับชื่อเรื่องจะมีความสำคัญอยู่ แต่ถ้าหน้าปกไม่เอื้ออำนวย หนังสือดีๆ นักเขียนดีๆ ก็อาจจะม้วยเซ็กข้าวต้มสุกได้ง่ายๆ”

เพราะฉะนั้นอย่าล้อเล่นกับ “ปกหนังสือ” ทีเดียวเชียว

งานศิลป์บน‘ปกหนังสือ’ปกพ็อกเกตบุ๊กนั้นสำคัญไฉน

 

ยุคเฟื่องฟูของนักวาดภาพปก

ว่ากันว่ายุคหนังสือฉบับกระเป๋า หรือคนสมัยนี้เรียกว่า “พ็อกเกตบุ๊ก” เฟื่องฟูสุดขีด (พ.ศ. 25092515) สำนักพิมพ์ผุดสะพรั่งเป็นดอกเห็ดในฤดูฝน ต่างพิมพ์หนังสือออกวางแผงกันทุกสัปดาห์ นักเขียนเกิดใหม่มากหน้าหลายตา เช่นเดียวกับจิตรกรฝีมือดีหันมาเขียนปก เขียนภาพประกอบกันเป็นล่ำเป็นสัน

ไม่ว่าครูเหม เวชกร จิตรกรผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักวาดภาพปกมือทอง ผลิตงานออกมาหลายหมื่นชิ้น ตั้งแต่ภาพปก ภาพประกอบ นิยายภาพ อาภรณ์ อินทรปาลิต น้องชาย ป.อินทรปาลิต เขียนปกนิยายชุดสามเกลอ (พล นิกร กิมหงวน) ให้พี่ชายทุกเล่ม พนม สุวรรณบุณย์ เจ้าของผลงานปกเล็บครุฑ และเพชรพระอุมาของ พนมเทียน ราช เลอสรวง เจ้าของฉายาศิลปินหมื่นปก มงคล วงศ์อุดม พ.บางพลี สุรินทร์ ปิยานันท์ ปยุต เงากระจ่าง สมพร ภูริพงศ์ นพรัตน์ ลิวิสิทธิ์ ช่วง มูลพินิจ ฯลฯ ล้วนแต่มีงานล้นจนมือเป็นระวิงแทบทั้งนั้น

“ปกนวนิยายเรื่องเสเพลบอยชาวไร่ที่ผมเขียนให้คุณ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ คนชอบกันมาก มันแสดงออกถึงความเป็นไทย มีลายประดับที่งดงาม เป็นภาพหญิงสาว ธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า บางคนถึงขั้นตัดเก็บไปใส่กรอบประดับฝาบ้านเลยนะ” ช่วง มูลพินิจ เล่าถึงคุณค่าความเป็นศิลปะของปกพ็อกเกตบุ๊กในอดีต

งานศิลป์บน‘ปกหนังสือ’ปกพ็อกเกตบุ๊กนั้นสำคัญไฉน

 

‘ผีเสื้อ’ขึ้นชื่อเรื่องคลาสสิก

เอ่ยชื่อ อภิชัย วิจิตรปิยกุล อาจไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ ผู้อยู่เบื้องหลังปกสุดคลาสสิกของพ็อกเกตบุ๊กกว่า 300 เล่ม ในเครือสำนักพิมพ์ผีเสื้อตลอดระยะเวลาเกือบ 27 ปี หนอนนักอ่านคงร้องอ๋อด้วยความตื่นเต้น

อภิชัยได้รับการขนานนามว่าเป็นนักวาดภาพปกที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ยังใช้วิธีวาดภาพปกด้วยมือ ในวันที่สำนักพิมพ์แทบทั้งหมดใช้โปรแกรมกราฟฟิกดีไซน์กันหมดแล้ว

“วิธีการเขียนปกก็คือต้องอ่านทั้งเล่ม เจออะไรที่มันสะดุดตาสะดุดใจก็จดไว้ เช่น เหตุการณ์บางอย่าง บุคลิกของตัวละคร อย่างเรื่อง รอยประทับ ของ นฤมล เทพไชย ใช้เวลาอยู่สองสามเดือน แก้แล้วแก้อีก ฉากหลังเป็นบ้านเรือนกรุงเทพฯ ริมเจ้าพระยา สมัย ร.4 เราต้องค้นคว้ารูปขาวดำเก่าๆ มาใส่สี เติมจินตนาการเอง ส่วนเล่มชื่อ สาธนา ภาพเหมือนของกฤษณมูรติ ถ้ามีภาพต้นฉบับดีๆ ก็ง่าย แค่วาดให้เหมือน ลงสีให้สวย

อีกเล่มคือชายชราผู้อ่านนิยายรัก เขียนโดยหลุยส์ เซปุล์เบดา นี่ก็ยากเพราะรายละเอียดเยอะ ต้องมีการวางแผนการทำงานภายใต้เวลาจำกัด หรือโลกสุดขอบฟ้า ต้องหาข้อมูลเรื่องเรือ พันธุ์วาฬชนิดต่างๆ ต้องเอาทุกอย่างมาประกอบรวมกันให้เป๊ะลงตัว”

ทุกวันนี้อภิชัยยังคงมีความสุขอยู่กับการวาดภาพปกให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เขาดีใจทุกครั้งที่มีคนชมปกสำนักพิมพ์ผีเสื้อว่าสวยงาม มีคุณค่า น่าสะสม

“การทำหนังสือเป็นเรื่องของศิลปะ ตั้งแต่ปก ภาพประกอบ ตัวอักษร รูปเล่ม มันควรจะสวยงามทั้งเล่ม ไม่ว่าคุณจะใช้เทคนิคอะไรมาทำ กราฟฟิก ภาพถ่าย หรือภาพเขียน หนังสืออยู่เป็นร้อยปี ถ้าวาดภาพปกห่วย คนอ่านก็จะเห็นไปอีกนาน แต่ถ้าวาดมันให้ดี ก็จะทำให้เราภูมิใจไปจนวันตาย”

งานศิลป์บน‘ปกหนังสือ’ปกพ็อกเกตบุ๊กนั้นสำคัญไฉน

 

ป๊อปอาร์ตทันสมัยสไตล์ ‘อะบุ๊ก’

ภูมิชาย บุญสินสุข บรรณาธิการสำนักพิมพ์อะบุ๊ก ให้ความเห็นว่า ปกหนังสือมันไม่ใช่แค่เปลือก แค่สิ่งห่อหุ้ม แต่เป็นหน้าตาที่ทำให้คนอ่านเกิดความประทับใจ จนต้องหยุดหันมามอง และทำความรู้จัก

“คำพูดที่ว่าอย่าตัดสินหนังสือจากปกก็ถูก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปกมันทำให้เราตัดสินใจหยิบหนังสือขึ้นมาดู และตัดสินใจซื้อ ถ้าปกสวยดีไซน์ดี เราก็ชื่นชม อยากจะหยิบมันขึ้นมาพลิกอ่าน แต่ถ้าปกแย่ มันก็พานให้เรายั้งมือไม่หยิบ หรืออาจมองข้ามไปเลยเหมือนกัน”

สไตล์การออกแบบปกหนังสือของสำนักพิมพ์อะบุ๊กนั้นหลากหลาย ไม่มีรูปแบบตายตัว ทว่าต้องสนุก

“เสน่ห์อย่างหนึ่ง ก็คือ ทำนายไม่ได้เลยว่าเราจะมาไม้ไหน ไม่มีสไตล์เฉพาะเจาะจง ผมเลือกมาใช้หมดถ้ามันดีจริง ไม่ว่าภาพถ่าย กราฟฟิก ภาพเขียนที่วาดด้วยปากกา พู่กัน ดินสอ จะเท่ก็ไม่เท่ หล่อก็ไม่หล่อ น่ารักก็ไม่น่ารัก แต่คนอ่านจะรู้ว่านี่คือปกอะบุ๊ก”

กว่า 6 ปีที่ บก.บิ๊กเข้ามากุมบังเหียนสำนักพิมพ์อะบุ๊ก เขายอมรับว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการออกแบบดีไซน์มากที่สุด

“คิดเยอะ ไม่ทำลวกๆ แน่นอน ผมว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปกำกับด้วยตัวเองทุกปก ถ้าไอเดียดี คนทำเก่ง เราก็ปล่อยอิสระ ให้เขากล้าคิดกล้าทำ แล้วค่อยมาคุยกันทุกฝ่ายว่าชอบไหม”

ภาพถ่ายสุดเท่ในแบบ‘สามัญชน’

“ในฐานะคนทำหนังสือและคนอ่านหนังสือ ผมมองว่า เรื่องแบบนี้มันควรจะประณีตพิถีพิถัน เพราะมันเป็นการแสดงความนับถือระหว่างผู้ผลิต นั่นคือสำนักพิมพ์กับผู้เสพ นั่นคือผู้อ่าน” เวียงวชิระ บัวสนธ์ เจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน บอกด้วยน้ำเสียงจริงจัง

กว่า 24 ปีที่สำนักพิมพ์สามัญชนยืนหยัดยืนยงบนถนนหนังสือ ได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากเนื้อหาอันเข้มข้นหนักหน่วง ผลงานการประพันธ์ของนักเขียนเอกของโลกและนักเขียนชาวไทยระดับยอดฝีมือ ภาพปกหนังสือยังมีเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่น นั่นคือ การใช้ภาพถ่ายใบหน้านักเขียนมาเป็นตัวชูโรง

เวียงวชิระ บอกว่า จำนวนหนังสือทั้งหมดกว่า 400 ปก ไม่มีเล่มไหนที่ไม่ผ่านตา ผ่านมือของเขา

“ตั้งแต่ภาพเขียน ภาพถ่ายใบหน้านักเขียน ภาพวาดใบหน้านักเขียน โดยเฉพาะภาพถ่ายพอร์เทรต ต่างประเทศทำกันมาเยอะ บ้านเราไม่ทำ พูดง่ายๆ คือสำนักพิมพ์ไม่ได้ลงทุนไปกับเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นที่สามัญชนทำก็เพื่อบอกให้รู้ว่า ใบหน้านักเขียนมันก็เป็นงานศิลปะได้ ถ้าหากมันถูกถ่ายภาพโดยช่างภาพมืออาชีพที่เข้าใจ”

ภาพถ่ายขาวดำเผยให้เห็นใบหน้าเข้มขรึม แววตาแฝงอารมณ์ความรู้สึกที่ยากจะบรรยายของนักเขียนระดับโลกอย่างกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ อัลแบร์ กามูร์ ฌอง ปอล ซาร์ต หรือนักเขียนไทยระดับแถวหน้า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แดนอรัญ แสงทอง ประกาย ปรัชญา วิมล ไทรนิ่มนวล เดือนวาด พิมวนา พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ สุรชัย จันทิมาธร ฯลฯ ทุกเล่มได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากนักสะสม

“ถือว่าได้ผลนะ มีคนอ่านไล่เก็บปกใบหน้านักเขียนเหล่านี้ เราอยากจะให้ผู้อ่านได้เห็นว่า ไอ้ตัวหนังสือที่เรียงเป็นแถวในเล่ม มันถูกผลิตโดยคนหน้าตาแบบนี้ คนบนปกนั่นแหละ สมัยก่อนไอ้เครื่องไม้เครื่องมือที่จะไปดูหน้านักเขียนมันจำกัดจำเขี่ย ไม่ใช่เสิร์ชในกูเกิลได้ เผื่อวันดีคืนดีเจอกันที่ไหนผู้อ่านจะได้ทักทายกัน” ผู้ออกแบบปก ภายใต้นามแฝง ดอน วังน้ำใส และ วารีกระจ่าง เมรัยสุข กล่าว

ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สามัญชน ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะวาดเส้น ภาพถ่าย หรือการใช้กราฟฟิกดีไซน์ มาเป็นเครื่องมือในการออกแบบปกพ็อกเกตบุ๊ก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นรสนิยมของคนอ่านที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในทุกยุคทุกสมัย

“จริตของสังคมมันก็เคลื่อนไปตลอด รสนิยมทางศิลปะ อารมณ์ที่จะเสพงานมันจะเคลื่อนไป ยุคนี้ชอบงานสกุลนี้ ยุคต่อมาชอบอย่างงี้ แต่ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดมาทำปกก็ต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาของเล่มด้วย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าแต่ละสำนักพิมพ์จะหาไอ้สิ่งที่เรียกว่าบุคลิกของตัวเองเจอหรือไม่ แล้วยืนหยัดยืนยันที่จะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่ปรากฏ กระทั่งผู้อ่านสามารถยอมรับนับถือได้หรือเปล่า”

ทั้งหมดนี้ คือ จุดมุ่งหมายสำคัญของการทำปกหนังสือให้โดดเด่นโดนใจคนอ่าน

เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์ เคยเขียนอธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมไว้ว่า

“ภาพปกหนังสือที่เป็นภาพวาดที่งดงามและมีคุณค่า โดยเฉพาะนิยาย ปกหนังสือช่วยส่งเสริมให้ตัวเอกในเรื่องเด่นชัดขึ้น คนที่ซื้อหนังสืออ่าน มักจะพลิกอ่านเนื้อเรื่องสลับกับปกสวย แล้วค่อยมาเริ่มอ่านตั้งแต่หน้าแรกอีกครั้ง”

แม้จะผ่านล่วงเลยมากว่าครึ่งศตวรรษ ความงามที่ถ่ายทอดจากปลายพู่กัน ก็ยังคงมีเสน่ห์ตรึงใจของผู้อ่านที่ได้สัมผัสและครอบครองจวบจนทุกวันนี้