posttoday

‘อัครศิลปิน’ ทรงเป็นครูแห่งศิลปินไทย

17 มกราคม 2555

ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 มีเอกลักษณ์เฉพาะ อันเป็นโภชย์ผลแห่งความเบิกบานของเหล่าศิลปินน้อยใหญ่

โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 มีเอกลักษณ์เฉพาะ อันเป็นโภชย์ผลแห่งความเบิกบานของเหล่าศิลปินน้อยใหญ่ ที่มี “องค์ต้นแบบ” เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ศิลปกรรมทั้งภาพเขียน งานปั้น งานเพลง ภาพถ่าย วรรณกรรม ตลอดรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนับเป็นอีกยุคของความรุ่งเรืองที่สุด

ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีบทบาทด้านงานศิลปะ “ในฐานะอัครศิลปิน” ทรงสร้างผลงานอันทรงคุณค่ามาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายสาขา

ทั้งในด้านทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วรรณศิลป์ และนฤมิตศิลป์ ทรงศึกษา ค้นคว้า และสร้างสรรค์ผลงานด้วยพระองค์เอง “ทรงเป็นครู” คือคำกล่าวยืนยันของ 3 ศิลปินระดับชาติสอดคล้องในวาระแห่งสัปดาห์วันครู นิติกร กรัยวิเชียร ช่างภาพชื่อดัง ถาวร โกอุดมวิทย์ พิษณุ ศุภนิมิตร ที่ร่วมวงเสวนาพูดคุยกันไว้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ และเว็บไซต์ “ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 อัครศิลปิน” ซึ่งเจ้าภาพมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 จัดอย่างเป็นทางการที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ราชดำริ

‘อัครศิลปิน’ ทรงเป็นครูแห่งศิลปินไทย

ฯพณฯ องคมนตรี พล.ร.อ.ม.ล.อัศนี ปราโมช ประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 และประธานโครงการอัครศิลปิน เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการและที่ปรึกษาทีมงานจัดทำหนังสือและเว็บไซต์ ร่วมงานเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีด้วยศิลปบรรณาการอันสูงค่านี้

‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์’ ครูของช่างภาพไทย

“77 ปีแห่งการทรงงานศิลปะที่ยาวนานที่สุด คือ สาขาภาพถ่าย” ช่างภาพใหญ่ฝีมือระดับอินเตอร์ กล่าวบนเวทีเสวนา นิติกร กรัยวิเชียร ให้ความรู้ว่า นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสนพระทัยการถ่ายภาพ เมื่อได้รับพระราชทานกล้องโคโรเน็ต มิดเจ็ต จากพระราชชนนีเป็นกล้องแรกเมื่อพระชนมพรรษา 8 พรรษา ปี 2478 และทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และเว็บไซต์ www.SupermeArtist.org ให้ข้อมูลไว้ว่าทรงสนพระราชหฤทัยในด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ทรงคิดค้นและประดิษฐ์แว่นกรองแสงพิเศษ ทรงนำไปทดลองฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ภายหลังที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ยังทรงงานด้านการถ่ายภาพมาโดยตลอด กล้องถ่ายรูปเป็นดังหนึ่งในอุปกรณ์ในการทรงงานที่จะทรงนำไปด้วยแทบทุกครั้ง ก่อให้เกิดภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศอีกมากมายตามมา โดยในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทุกท้องที่ทั่วพระราชอาณาจักร จะทรงบันทึกสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกร ภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมและสภาพสังคม เพื่อนำข้อมูลมาทรงพิจารณาประกอบพระราชดำริในโครงการต่างๆ มากมาย

นิติกร กล่าวว่า ถ้าดูที่ตัวเลข 77 ปีแล้ว ข้าราชการบางคนเกษียณไปแล้ว แต่ในหลวงยังทรงงานอยู่นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่ยังทรงมีเวลาทรงงานศิลปะอีกหลากหลายสาขา

“งานทัศน์ศิลป์ สาขาภาพถ่ายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมมองคุณค่า 2 เรื่อง คือ เรื่องศิลปะซึ่งก็แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนไปนะครับ แต่อีกคุณค่าที่ผมคิดว่าไม่มีใครปฏิเสธได้ คือ ทุกภาพคือการบันทึกประวัติศาสตร์ ที่ทรงบันทึกไว้ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระอนุชาธิราช สภาพบ้านเมืองหลายๆ เหตุการณ์นับไม่ถ้วนได้ถูกบันทึกไว้โดยสายพระเนตรพระเจ้าแผ่นดินของพวกเรา

การถ่ายภาพไม่จำกัดเฉพาะส่วนพระองค์เท่านั้น ทรงรับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความโชคดีของพวกเราช่างภาพไทยนะครับ ซึ่งในช่วงแรกครองราชย์เมื่อว่างจากพระราชกรณียกิจก็ทรงเสด็จฯ มาร่วมงานประกวดภาพถ่าย ทรงมีพระราชวินิจฉัยจากประสบการณ์ที่ทรงถ่ายรูปมายาวนาน พระองค์ทรงมีความเป็นครูอย่างแท้จริงครับ คือมีอยู่ครั้งหนึ่งประกวดภาพถ่าย หัวข้อ ธรรมชาติแวดล้อมล้วนงดงาม ภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ชื่อภาพ “สามพันโบก แกรนด์แคนยอนแห่งเมืองสยาม” ถ่ายโดย จามิกร สุนทรจามร

‘อัครศิลปิน’ ทรงเป็นครูแห่งศิลปินไทย

กรณีนี้ก็มีหนังสือจากกองราชเลขาธิการตามมาด้วย โดยมีรับสั่งให้เจียนภาพด้านข้าง 9 นาฬิกา และ 3 นาฬิกา คือด้านซ้ายและขวาเพื่อให้คนดูภาพได้ชัดเจนขึ้น เป็นเรื่องที่เราปลาบปลื้มกันมากครับ เป็นสิ่งที่แสดงได้ชัดเลยนะครับว่าทรงสนพระทัยผลงานเราอย่างแท้จริง” นิติกร กล่าว

ศิลปะแผ่นดิน ธ ทรงสร้างสรรค์

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนจนถึงปัจจุบันรวบรวมได้ 132 องค์ สามารถระบุปีที่ทรงวาด ระหว่างพุทธศักราช 2503-2509 จำนวน 68 องค์ และไม่ทราบปีที่ทรงวาด จำนวน 64 องค์

สองศิลปินรุ่นใหญ่ซึ่งร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ด้วย ถาวร โกอุดมวิทย์ พิษณุ ศุภนิมิตร เริ่มที่ศิลปินภาพพิมพ์ชั้นเยี่ยม อ.ถาวร กล่าวว่า บรรดาลูกศิษย์ลูกหามักตั้งคำถามเสมอๆ ว่า “ภาพวาดของในหลวงงดงามอย่างไร?” ศิลปินย่อมต้องมีบุคลิกภาพ วาดภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในหลวงไม่ต่างอะไรจากภาพของ วินเซนต์ ฟาน โกะห์ ที่ดูก็รู้ว่าคือภาพวาดโดยใคร ภาพวาดในหลวงศิลปินดูก็รู้ว่าภาพท่าน ภาพวาดพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวาดอย่างอิสระ ไม่ใช่ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) แต่คือภาพเหมือนบุคคล (Portrait)

“พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านคือทรงสะท้อนบุคลิกของพระองค์เองออกมาได้อย่างชัดเจน นี่คือเรื่องยากที่สุดของศิลปินเลยครับ แล้วไม่ทรงหยุดอยู่กับที่ ภาพเหมือนทรงพัฒนาไปในแบบสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในแบบ Semi Abstract และอิ่มตัวสูงสุดในแบบแอบสแตรกอย่างสมบูรณ์

รูปแลนด์สเคป ทรงแสดงออกในแบบ Expressionism ผมเคยคุยเล่นๆ กับ อ.พิษณุ ว่า โชคดีที่พระองค์ท่านไม่ได้เรียนศิลปากร (หัวเราะ) ไม่อย่างนั้นอาจทรงมีโมเดล มีครู แต่การที่ทรงเรียนรู้เองทำให้ทรงก้าวข้ามกรอบอย่างที่มีปราชญ์หลายๆ คนกล่าวไว้ว่า ความรู้เสมอด้วยกันได้ด้วยการศึกษาเล่าเรียน แต่จินตนาการความคิดอิสระ มากน้อยวัดยากกว่านะครับว่าเสมอกันได้ คุณค่าทางศิลปะซึ่งแสดงออกมาได้อย่างมีมิติ สะท้อนพุทธิปัญญา คุณค่าครับนี่คือคำตอบที่ผมให้กับลูกศิษย์ที่ตั้งคำถาม” อ.ถาวร กล่าว

‘อัครศิลปิน’ ทรงเป็นครูแห่งศิลปินไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย และฝึกฝนงานด้านศิลปะมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้ทรงเริ่มการวาดภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในช่วงปี 2502 ทรงศึกษาการวาดภาพด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงแลกเปลี่ยนความรู้กับศิลปินที่มีความสามารถทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เช่น เหม เวชกร เขียน ยิ้มศิริ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ จำรัส เกียรติก้อง พิริยะ ไกรฤกษ์ ระเด่น บาซูกิ และออสการ์ โคโคชกา เป็นต้น

ในปี 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยุติการวาดภาพด้วยเหตุผลพระราชภารกิจมากมาย แต่งานทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรมในยุคสมัยรัชกาลที่ 9 ก็ไม่จบแค่นั้น ศิลปินชั้นครูอีกหนึ่งท่าน อ.พิษณุ กล่าวบนเวที “ในหลวงทรงคิดโปรเจกต์ใหญ่” ให้จิตรกรไทยได้ร่วมงานสร้างสรรค์ผลงานไว้ประดับแผ่นดิน

และความเป็นครูของพระองค์ก็เริ่มขึ้นในหมู่ศิลปินชั้นเยี่ยมอีกครั้ง

“ผมยอมรับเลยครับ เมื่อได้รับต้นฉบับเพื่อวาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์ ‘พระมหาชนก’ ผมพยายามอ่านสิบเที่ยวก็ไม่รู้เรื่อง พระมหาชนกคือใคร?!! งง จนถึงวันที่ศิลปินได้เข้าเฝ้าฯ วันนั้นเราไม่ใช่คณะสุดท้ายแต่ทรงมีรับสั่งให้เราไปเข้าเฝ้าฯ เป็นคณะสุดท้าย แสดงว่าจะต้องมีเรื่องตรัสกับศิลปินยาวนานแน่ๆ ซึ่งก็จริงอย่างนั้นครับ ทรงอธิบายพระมหาชนกในเวอร์ชันของพระองค์ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ให้พวกเราฟัง แล้วเมื่อฟังก็ชัดเจนขึ้นทันทีเลยครับว่าทีมศิลปิน 8 คน ใครต้องทำอะไรกันบ้าง ทรงมีพระกระแสให้แบ่งหน้าที่กันทำ เขียนคน เขียนธรรมชาติ เขียนสถาปัตยกรรม ใครถนัดอะไรก็ให้ทำอย่างนั้น

ทรงมองการณ์ไกลครับ เพราะศิลปินมารวมตัวกันเยอะ ก็ย่อมมีทั้งเรื่องสนุกสนาน และไม่สนุกสนาน (หัวเราะ) การแบ่งงานจึงแก้ปัญหาแบบนี้ได้อย่างง่ายๆ และคำที่ว่า ‘ทำถวายพระเจ้าอยู่หัว’ ก็ทำให้ทุกอย่างราบรื่น” อ.พิษณุ กล่าว

ภาพในพระมหาชนก วาดโดย ปัญญา วิจินธนสาร ซึ่งเป็นแนวไทยประเพณีมีการแทรกรูปแบงก์โพธิ์สีม่วงธนาคารไทยพาณิชย์ รูปคิวบิกซึม ของ ปิกัสโซ รูปที่มีเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ตกอยู่บนพื้นเสนอข่าวงานแต่งงานเลดีไดอานากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ คือความร่วมสมัยศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9

“ทุกภาพผ่านพระราชวินิจฉัยแล้วครับ มีพระกระแส ‘ก็ดีเหมือนกัน’ แต่ภาพสงครามมีนายทหารถือไม้กอล์ฟ ในหลวงทอดพระเนตรแล้วตรัสวิจารณ์ ‘ไม่ดีๆ แรงไปๆ’ คนอื่นเขากำลังทำสงครามกันแต่ทหารตีกอล์ฟ ศิลปินเลยเปลี่ยนเป็นไม้เท้า” อ.พิษณุ เล่าพลางหัวเราะ

คำว่า อัครศิลปิน ถูกอธิบายได้อย่างชัดเจนที่สุดในชื่อหนังสือ : ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 อัครศิลปิน และคำว่า “ทรงเป็นครูของศิลปินไทย” ก็เด่นชัดขึ้นมาอีกครั้ง