posttoday

ลาล่ามูฟลงทุนเทคโนโลยี รองรับขนส่งออนดีมานด์โต

24 มกราคม 2562

การเติบโตของธุรกิจส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่มีต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 21.1% หรือกระทั่งการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

เรื่อง รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย 

การเติบโตของธุรกิจส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่มีต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 21.1% หรือกระทั่งการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจให้บริการขนส่งออนดีมานด์ เดลิเวอรี่ ในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลาล่ามูฟ เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลาล่ามูฟ ผู้ให้บริการขนส่งออนดีมานด์ เดลิเวอรี่ เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทลงทุน 100 ล้านบาท ทางด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการขยายตัวการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยนำเทคโนโลยีเชื่อมต่อเอพีไอ (Application Program Interface : API) เพื่อให้ระบบสามารถสร้างแพลตฟอร์มการสั่งและส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าออนไลน์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากปกติต้องใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ย 38 นาที เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าแบรนด์ใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบบีทูซี

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์โฉมใหม่ เพื่อตอบสนองด้านความสะดวกสบายของลูกค้า รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งจะเริ่มในหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด อาทิ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี เป็นต้น สำหรับในการขยายธุรกิจต่างจังหวัด บริษัทต้องการมอบโซลูชั่นคลังสินค้าและการจัดส่งชั้นเลิศสำหรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างครบวงจร

ชานนท์ กล่าวว่า บริษัทวางแผนเพิ่มบริการรถขนาดใหญ่เพื่อให้บริการในตลาดต่างจังหวัด โดยจะเปิดบริการการส่งสินค้าแบบแอลทีแอล (Less-Than-Truckload : LTL) หรือการจัดส่งสินค้าในจุดรับที่มีปริมาณสินค้าจำนวนมากและนำไปส่งปลายทางแต่ละจุด และบริการส่งสินค้าภายในวันเดียว (Same Day Delivery)

“โอกาสของธุรกิจขนส่งออนดีมานด์ เดลิเวอรี่ ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก เพราะธุรกิจมีอัตราการเติบโตตามการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งในปี 2560 มีมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท และในปี 2561 มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 10-15% ซึ่งการแข่งขันของตลาดขนส่งออนดีมานด์ เดลิเวอรี่ มีท้้งในด้านราคาหรือการทำโปรโมชั่น แต่สำหรับ ลาล่ามูฟ การดำเนินธุรกิจต้องยืนหยัดและยั่งยืน ปีนี้บริษัทยังไม่วางแผนระดมทุนโดยมีเงินคงเหลือ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

ชานนท์ กล่าวว่า ไทยถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับลาล่ามูฟ โดยยอดการดาวน์โหลดราว 2.5 ล้านราย และขนส่งสินค้าเป็นหลัก 10 ล้านชิ้น/ปี ซึ่งจากการลงทุน 4 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการถึงจุดคุ้มทุนเดือน มี.ค. 2560 จากปัจจุบันบริษัทขยายธุรกิจ 8 ประเทศ และ 10 เมืองในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไม่นับรวมประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีศักยภาพเติบโต คือ อินโดนีเซีย แต่ก็มีความท้าทายเพราะความแข็งแกร่งสตาร์ทอัพภายในประเทศ

ขณะที่ในปีนี้บริษัทได้วางแผนเพิ่มพนักงานขับรถในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 8หมื่นคัน เป็น 2.4 แสนคัน ซึ่งมีพนักงานขับรถที่แอ็กทีฟราว 30% เพื่อรองรับกับการขยายการบริการและตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านธุรกิจบริการขนส่งออนดีมานด์ เดลิเวอรี่ ครองส่วนแบ่ง 70% ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันธุรกิจขนส่งออนดีมานด์ เดลิเวอรี่ จะมีคู่แข่ง อาทิ แกร็บ สกู๊ตตาร์ ซึ่งมีทั้งที่สามารถยืนหยัดในตลาดอยู่ได้และออกจากตลาดไป เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการค่อนข้างสูง

สำหรับมูลค่าการทำธุรกรรมปีนี้ ตั้งเป้า 2,500-3,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเมื่อปีที่ผ่านมา 1,200 ล้านบาท เติบโต 123% แบ่งเป็น ไลน์แมน สัดส่วน 70% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการให้กับกลุ่มลูกค้าทั่วไป และอีก 30% จากแบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ที่ให้บริการในลักษณะบีทูซี ซึ่งปัจจุบันลูกค้าหลัก บริษัท ไมเนอร์ กรุ๊ป อิเกีย ซึ่งได้เริ่มบริการจัดส่งเฟอร์นิเจอร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เคเอฟซี รวมถึงบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป และคาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

ความท้าทายของลาล่ามูฟ ตลอดระยะเวลา 4 ปี การดำเนินธุรกิจ ลาล่ามูฟ มุ่งจุดยืนคือคุณภาพของการให้บริการและความมุ่งมั่นในการพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมถึงการขยายธุรกิจและพื้นที่ให้บริการในประเทศไทย ดังนั้น ณ วันนี้เราแข่งขันกับตัวเอง ด้วยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจะบริหารจัดการขนส่งสินค้าอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือให้ได้ตามเกณฑ์ของบริษัท ด้วยจำนวนพนักงานขับรถที่ปัจจุบันมีราว 8 หมื่นคัน