posttoday

เร่งลงทุนซีเคียวริตี้ ต้าน 5 ภัยไซเบอร์

13 ธันวาคม 2561

พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ก คาด ภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่และจะเข้ามาโจมตีในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก ในปี 2562 มีด้วยกัน 5 เทรนด์

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย
         
ภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่และจะเข้ามาโจมตีในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก ในปี 2562 พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ก คาดการณ์จะมีด้วยกัน 5 เทรนด์

เควิน โอ แลรีย์ หัวหน้าด้านความปลอดภัยประจำสำนักงานเอเชียแปซิฟิก บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ก เปิดเผยว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ถูกเอาไว้ให้เป็นศูนย์กลางในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย มีการปรับเปลี่ยน ในหลากหลายแนวทาง ขณะที่การโจมตีของแฮ็กเกอร์ในแต่ละครั้งสร้างผล กระทบและโอกาสสูญเสียทางธุรกิจมหาศาล

สำหรับประเทศไทยนั้นการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ต้องให้ความสำคัญมีด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การลงทุนระบบรักษาความปลอดภัยโครงการสาธารณูปโภค เนื่องจากไทยกำลังทรานส์ฟอร์มสู่ยุค 4.0 ก้าวสู่ไอโอที ซึ่งพบว่าประเทศในตะวันออกกลางโดนโจมตีปิดน้ำและไฟฟ้ามาแล้ว ส่งผล กระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง 2.การลงทุนป้องกันการโจมตีทางมือถือ 3.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะที่ 5 เทรนด์การคาดการณ์โจมตีที่จะเกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วย เทรนด์ ที่ 1 อีเมลสำหรับใช้ในการติดต่อธุรกิจ จะได้รับไฟล์เอกสารแนบที่สร้างความประหลาดใจเพิ่มมากขึ้น จากรายงานพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการถูกหลอกให้ โอนเงินผ่านทางอีเมล มีมูลค่ารวมมากกว่า 3.92 แสนล้านบาท จากการที่อาญชากรไซเบอร์มีวิธีในการหลบเลี่ยงระบบป้องกันภายใน ในปีหน้าองค์กรธุรกิจจะเอาชนะโจรไซเบอร์ด้วยวิธีการเฉพาะของตนเอง

ทั้งนี้ เทรนด์ที่ 2 ห่วงโซ่อุปทานจะกลายเป็นจุดอ่อนให้เกิดการโจมตี ยุคดิจิทัลช่วยลดอุปสรรคที่ขัดขวางการสื่อสารระหว่างกันลงไปได้อย่างมาก อาชญากรไซเบอร์จึงอาศัยจุดอ่อนในการเชื่อมต่อระหว่างกัน และจากห่วงโซ่อุปทานโลกในการโจมตีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าบุคคลใด องค์กรหรือหน่วยงานใดบ้าง ที่ติดต่อผ่านระบบที่ใช้งานภายในองค์กรของเรา

แลรีย์ กล่าวถึงเทรนด์ที่ 3 เอเชียแปซิฟิกจะมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น จากการที่มีความร่วมมือต่อเนื่อง ดังนั้น การวางกฎระเบียบข้อบังคับในการ ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลจึงเป็น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี โดยมีแนวโน้ม ว่าปีหน้าแต่ละประเทศจะมีกรอบแนวคิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับประเทศ เพื่อใช้ปกป้องข้อมูลประชากร เหมือนเช่นในยุโรปที่ออกกฎหมาย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป (GDPR)

ระบบคลาวด์เป็นเทรนด์ที่ 4 จะเพิ่มความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากระบบที่มีหลายชั้น ทำให้การวางระบบรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับองค์กร และผู้ให้บริการคลาวด์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะหันมาร่วมมือกันในการหาแนวทางในการรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์ มากกว่าการรักษาความปลอดภัยของระบบในรูปแบบเดิม
 
สำหรับเทรนด์ที่ 5 การบริหารจัดการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มการสื่อสารโทรคมนาคม ไฟฟ้า ประปา เมื่อนำระบบดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเป็นเป้าหมายโจมตี

ทั้งหมดนี้คือ 5 เทรนด์คาดการณ์ที่องค์กร รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ