posttoday

โลกระดมกลยุทธ์ เร่งอุดช่อง'เฟก นิวส์'

14 กรกฎาคม 2561

สถาบันวิจัยเอ็มไอที พบว่า ข่าวปลอมแพร่กระจายรวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีเพียงเปิดหน้าจอสมาร์ทโฟน แต่ความรวดเร็วดังกล่าวก็เป็นดาบสองคมที่ส่งผลให้ "ข่าวปลอม" หรือ Fake News ระบาดไปไกลและรวดเร็วยิ่งขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยสถาบันวิจัยเอ็มไอทีพบว่า ข่าวปลอมนั้นแพร่กระจายรวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า

ด้วยเหตุนี้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศจึงเร่งออกกฎหมายหวังใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อช่วยสกัดการปล่อยข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นประเทศยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมถึงบราซิลและมาเลเซีย

สำหรับ "เยอรมนี" นั้น เอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่ผ่านมา เพื่อปราบปรามการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนโซเชียล มีเดีย รวมถึงข้อความแสดงความเกลียดชัง (เฮตสปีช) สื่อลามกอนาจาร และคอนเทนต์สนับสนุนการก่อการร้าย

ภายใต้กฎหมายดังกล่าว สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เสี่ยงเจอค่าปรับกว่า 50 ล้านยูโร (ราว 1,936 ล้านบาท) หากไม่สามารถขจัดคอนเทนต์สุ่มเสี่ยงดังกล่าวออกไปจากแพลตฟอร์ม ขณะที่ผู้อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่คอนเทนต์ดังกล่าวอาจโดนปรับรายละ 5 ล้านยูโร (ราว 193 ล้านบาท)

ขณะที่ "ฝรั่งเศส" กำลังพิจารณาร่างกฎหมายใหม่เพื่อใช้ปราบปรามการบิดเบือนข้อมูล ก่อนการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในปีหน้า และเพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสปี 2017 ที่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเผชิญข่าวลวงโจมตีช่วงหาเสียง

รายงานระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลฝรั่งเศสสามารถระงับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จได้ทันทีก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงยังสั่งให้สื่อต่างชาติหยุดออกอากาศข่าวได้เช่นกัน หากบั่นทอนความมั่นคงของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี เอเอฟพีรายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากหลายฝ่ายวิตกว่า ร่างกฎหมายใหม่ไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเซอร์ ที่เสี่ยงบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ เยอรมนีและฝรั่งเศสถือเป็น 2 ประเทศยุโรป ที่หวังใช้กฎหมายขจัดข่าวปลอมอย่างจริงจัง ขณะที่รัฐบาลอังกฤษเลือกแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแล ส่วนอิตาลีเพียงแค่เปิดบริการรับแจ้งข่าวปลอมออนไลน์

เมื่อข้ามฟากไปดูประเทศฝั่งอเมริกาใต้ "บราซิล" นับว่าตื่นตัวเรื่องข่าวปลอมไม่แพ้ยุโรป โดยเอเอฟพีรายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการปราบปรามข่าวปลอมกว่า 14 ฉบับ เพื่อป้องกันข่าวลวงระบาดหนักก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ต.ค.ปีนี้

รายงานระบุว่า ขณะนี้ร่างฉบับหนึ่งผ่านการพิจารณาในสภาล่าง และได้รับการส่งต่อไปยังสภาสูงแล้ว โดยร่าง ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ปล่อยข่าวปลอมต้องได้รับโทษจำคุก 3 ปี หากเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสุขภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ การเลือกตั้ง และข้อมูลทั้งหมดที่ส่งผลต่อสาธารณชน

ไม่เพียงเท่านั้น เอเอฟพีรายงานว่า บราซิลยังเพิ่มวิชาวิเคราะห์และแยกแยะข่าวปลอมในการเรียนการสอนของโรงเรียนด้วย นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2017

"จุดมุ่งหมายของวิชาดังกล่าวคือการสอนให้นักเรียนแยกแยะข่าวปลอมได้ และขณะนี้วิชานี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนไปแล้ว" เลอันโดร เบกูโอชี ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา โนวา เอสโกลา กล่าว

ขณะเดียวกัน ประเทศอาเซียนอย่าง "มาเลเซีย" เพิ่งผ่านกฎหมายคุมเข้มข่าวลวงเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ปล่อยข่าวปลอมเสี่ยงเจอโทษจำคุก 6 ปี และสั่งปรับสูงสุด 5 แสนริงกิต (ราว 3.9 ล้านบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อบีบพรรคฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และใช้โจมตี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้สมัครตัวเต็งชิงตำแหน่งนายกฯ มาเลเซีย

ทั้งนี้ มหาเธร์ ซึ่งชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ เปิดเผยว่าจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวในการประชุมสภาเดือนนี้

บิ๊กไอทีรุกอุดช่องโหว่

ปัญหาข่าวปลอมระบาดทั่วโลกออนไลน์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรดาบริษัทสื่อโซเชียลโดยตรง ทำให้บริษัทจำนวนมากเริ่มออกมาตรการต่างๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดนั้น "ยูทูบ" แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอรายใหญ่ ประกาศลงทุน 25  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 833 ล้านบาท) สนับสนุนการตั้งกลุ่มความร่วมมือกับสื่อและสำนักข่าวผลิตวิดีโอที่เชื่อถือได้ โดยกองทุนดังกล่าวคาดว่าจะใช้สนับสนุนการผลิตวิดีโอในราว 20 ประเทศ

ด้าน "วอตส์แอพ" เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ชื่อ ฟอร์เวิร์ด เลเบิล เพื่อช่วยระบุแหล่งที่มาของข้อความที่ต่อๆ กันผ่าน ผู้ใช้หลายคน หลังเกิดข่าวปลอมระบาดในอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ "เฟซบุ๊ก" กำลังหันไปจับมือกับองค์กรสื่อต่างๆ เพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบนแพลตฟอร์ม รวมถึงเพิ่มความคุมเข้มในการลงโฆษณาด้วย ส่วน "ทวิตเตอร์" ประกาศปิดบัญชีปลอมปล่อยข่าวลวงกว่า 70 ล้านบัญชีเมื่อเดือน พ.ค. และ มิ.ย.ที่ผ่านมา