posttoday

นวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้า สำหรับพื้นที่ห่างไกล

09 มิถุนายน 2561

แหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ไม่มีไฟฟ้าส่วนใหญ่กว่า 210 แห่งทั่วประเทศ

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : มจธ.

แหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ไม่มีไฟฟ้าส่วนใหญ่กว่า 210 แห่งทั่วประเทศ ใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากควันและเขม่า เสียงดัง คราบน้ำมัน ดูไม่ดีเลยถ้าอุทยานแห่งชาติฯ เสมือนกลายเป็นผู้ปลดปล่อยมลภาวะเสียเอง

จากจุดเริ่มต้นที่กลายมาเป็นไอเดียบวกๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จัดทำโครงการการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมดของไทย

ทั้งนี้ เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนากลุ่มอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้ ครั้งที่ 1 เพื่อศึกษารูปแบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศต่อไป

นวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้า สำหรับพื้นที่ห่างไกล

นับหนึ่งที่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ ซึ่งได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับหัวหน้าอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาคใต้กว่า 54 หน่วยงาน พร้อมสาธิตนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกล จะได้ผลอย่างไรตามไปดูกันเลยดีกว่า

ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง นักวิจัย มจธ. เล่าว่า ห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาดได้ทำการศึกษาโจทย์วิจัยระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบต่ำที่สุด ขณะที่เสถียรภาพสูงสุด โดยปัจจุบันใช้เทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าที่มี
ค่าใช้จ่ายเพียง 8 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน (ยูนิต) จากเดิม 20 บาท/ยูนิต หากเป็นเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลมีค่าใช้จ่ายประมาณ 25 บาท/ยูนิต

“การควบคุมระบบที่หลากหลาย ขนาดระบบมีความสะดวกในการขนส่ง เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จึงทำให้มีโมเดลขนาดระบบผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในการผลิตกำลังไฟฟ้า ตรงกับความต้องการในการใช้ในแต่ละอุทยาน เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้า 10 ยูนิต/วัน 30 ยูนิต/วัน 50 ยูนิต/วัน”

ผศ.ดร.อุสาห์ เล่าต่อว่า โครงการฯ ดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมากว่า 4 ปี มั่นใจว่าจะสามารถนำไปใช้กับอุทยานแห่งชาติฯ ทั่วประเทศ โครงการฯ ได้เริ่มจัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาคใต้ เพื่อสำรวจข้อมูลการใช้ไฟของแต่ละหน่วย เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนแม่บท ยกระดับอุทยานแห่งชาติสีเขียวทั่วประเทศ

นวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้า สำหรับพื้นที่ห่างไกล

“นวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ เป็นเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานที่ใช้เทคนิคการควบคุมแบบทำนายล่วงหน้า โดยใช้ระบบพยากรณ์อากาศ ที่จะช่วยให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบต่ำลง นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมและแสดงผลผ่านมือถือได้”

คณะผู้วิจัยมีแนวคิดในการนำเทคนิคการทำนายล่วงหน้าในการประเมินศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเดินเครื่องระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซล แทนระบบควบคุมแบบปรับตั้งค่าคงที่ (Set Point) ที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อระดับพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลดลงถึงระดับที่กำหนด

ระบบควบคุมแบบทำนายล่วงหน้า จะช่วยให้อุทยานฯ ลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลงกว่า 20% แก้ปัญหาอัตราค่าพลังงานที่สูง โดยระบบใหม่ค่าใช้จ่ายเพียง 8 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน (ยูนิต) โดยระบบทั้งหมดแสดงผลและควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ สะดวกและมีประสิทธิภาพมาก

พื้นที่บนเกาะแหล่งท่องเที่ยวที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงนั้น รัฐบาลมีนโยบายเดินสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งราคาสูงมากและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเมื่อไฟฟ้าเข้าถึงได้สะดวก ก็ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้เสื่อมโทรม แต่นวัตกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวในจำนวนที่พอเหมาะ รักษาสิ่งแวดล้อมได้ ราคาไม่สูง

นวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้า สำหรับพื้นที่ห่างไกล

สุพจน์ เพริดพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และหน่วยพิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเห็นความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งง่าย ราคาไม่สูงนัก

“อุทยานแห่งชาติ 4.0 หรือ Smart National Park เราเป็นหน่วยงานต้นแบบที่สามารถพัฒนาพลังงานสะอาดใช้เอง ถือเป็นนวัตกรรมเยี่ยมยอดที่ส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

ทางด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. ให้ความสำคัญกับโจทย์วิจัยระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลมากว่า 25 ปี เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะมีประโยชน์สูงสุด เมื่อนำไปใช้ในชุมชนที่ห่างไกล โรงเรียนที่สายไฟเข้าไม่ถึง พื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องทำให้ชุมชนตระหนักถึงประโยชน์การใช้พลังงานหมุนเวียนด้วย