posttoday

เกมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สุดล้ำ

31 มีนาคม 2561

จาก Farm Ville ถึง Hay Day หลายเวลานาทีและหลายปีที่ผ่านไป นั่นอาจทำให้หลายคนที่เล่นเกมปลูกผักเสียจนไม่เป็นผู้เป็นคน (ฮา)

 โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : มจธ.

 จาก Farm Ville ถึง Hay Day หลายเวลานาทีและหลายปีที่ผ่านไป นั่นอาจทำให้หลายคนที่เล่นเกมปลูกผักเสียจนไม่เป็นผู้เป็นคน (ฮา) ดีใจที่ได้ยินว่า ไทยก็มีเกมปลูกผักให้เล่น

 แถมเป็นเกมที่ได้รับรางวัลชมเชยในงานมหกรรมอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ส (Internet of Things) ในฐานะนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้

 เจ้าของรางวัลคือทีมแพลนโทเปีย (Plantopia) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. ไปรู้จักพวกเขาและนวัตกรรม... เกมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แอพพลิเคชั่นสุดล้ำ ที่เล่น (เกม) ก็ได้กิน (ผักที่ปลูกจริงๆ ผ่านแอพ) ก็ได้

 หนึ่งในทีม ญาณิศา เหมประชิตชัย นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น เมื่อแรกสมาชิกมีความสนใจในหัวข้อที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องการปลูกผัก การทำเกษตรกรรมในไทย จนกระทั่งการพัฒนาเกมและแอพพลิเคชั่น ทีมรวมตัวกันระดมสมอง จนที่สุดก็ออกมาเป็น Plantopia : Edutainment Hydroponics Kit

เกมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สุดล้ำ

 “มันคือแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ในทุกเวลาและสถานที่ ที่สำคัญคือการได้ลงมือปฏิบัติจริงในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อีกด้วย”

 แพลนโทเปีย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่เป็นกระถางปลูกที่มีการติดเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจวัดค่าความเข้มแสง อุณหภูมิน้ำ อุณหภูมิอากาศ และความชื้นในอากาศ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ แล้วนำมาแสดงผลบนแอพพลิเคชั่นแบบเรียลไทม์ 

 2.ส่วนแอพพลิเคชั่นผู้เล่น ที่สามารถส่งการควบคุมกลับไปยังกระถางต้นไม้ได้ โดยผ่าน HTTP Protocol POST Method เพื่อบันทึกค่าไปยังฐานข้อมูลออนไลน์ เช่น การเพิ่มแสงแดด เพิ่มความเร็วปั๊มน้ำ เปิดวาล์วให้สารอาหาร โดยมีข้อแม้ว่าทั้งตัวกระถางและสมาร์ทโฟนที่มีแอพพลิเคชั่นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

เกมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สุดล้ำ

 “รูปแบบคล้ายเกมเลี้ยงสัตว์ ‘ทามาก็อตจิ’ ที่เราสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ในอุปกรณ์เล็กๆ ซึ่งในแพลนโทเปีย พืชผักที่เราเลี้ยงอยู่ ก็จะสามารถแสดงสีหน้า หรือแสดงข้อความได้ตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง เช่น อากาศร้อนเกิดไป หรือแสงมืดเกินไป”

 ทั้งนี้ จะมีการติดกล้องและการทำ Image Processing เพื่อวัดการเจริญเติบโตของต้นพืช เพื่อใช้ในการเพิ่มระดับของตัวละครในแอพพลิเคชั่นอีกด้วย

 สำหรับระบบการให้คะแนนอยู่ระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น แต่หลักการคือ การทดลองหาค่าที่ดีที่สุด (ค่าอุดมคติ) ของแต่ละสภาพแวดล้อม ด้วยการปลูกพืชทดสอบทั้งในและนอกอาคาร พร้อมกับตรวจวัดค่าทุกระยะ จากนั้นวัดผลด้วยการหาค่าเฉลี่ยจากต้นที่มีขนาดใหญ่และสุขภาพดี เช่น ค่าแสงแดด อุณหภูมิ ที่ดีต่อการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ค่าเหล่านี้นำมาใช้ในการให้คะแนนผู้เล่น

 “หากผู้เล่นรักษาระดับค่าความเข้มแสง ค่าอุณหภูมิ ได้ใกล้เคียงกับค่าอุดมคติ +/- 2 หน่วย ก็จะได้คะแนนเต็ม ที่ห่างออกไปก็ลดหลั่นไป จากนั้นก็นำทุกค่ามาเฉลี่ยเป็นคะแนนให้ผู้เล่น”

เกมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สุดล้ำ

 ผักที่ปลูกสามารถรับประทานได้จริง เพราะทีมพัฒนาได้นำวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ของจริงมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เหมือนกับผักการปลูกเอง บางทีต้นแข็งแรงกว่าด้วย เพราะในกระถางที่ควบคุมผ่านแอพสามารถควบคุมปัจจัยการเติบโตของพืชได้ดีกว่าการปลูกตามธรรมชาติ ส่วนปัญหาปุ๋ยตกค้าง แก้ด้วยการงดปุ๋ยก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์

 ด้านความสนุกของเกม เนื่องจากรอบการปลูกผัดสลัดใช้ระยะเวลา 45 วัน การที่ผู้เล่นจะเล่นเกมเดิมๆ ต่อเนื่องถึงเดือนครึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สนุกตลอดเวลา

 ดังนั้น นอกจากเกมเลี้ยงสัตว์ที่เป็นแกนหลักแล้ว จึงเพิ่มส่วนของภารกิจรายวัน เพื่อให้ผู้เล่นมีกิจกรรมทำ มีเป้าหมายในการเข้าเกมมาดูแลผักของตน รวมถึงการทำให้เป็นโซเชียล เกม นำคะแนนไปแชร์แข่งกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้

 “ปลูกผักก็ท้าทายได้ แถมผักที่ปลูกก็กินได้จริงๆ”

เกมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สุดล้ำ

 ผู้เล่นจะได้ประโยชน์เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในแง่นวัตกรรมคือประโยชน์ที่ทำให้เกษตรกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนมีพืชผักสดรับประทาน คุณภาพไม่สูญเสีย ลดการขนส่ง (Farm to Table)

 “แพลนโทเปียคือสื่อการเรียนรู้ที่ไม่น่าเบื่อ นำเสนอเรื่องการทำเกษตรกรรมขนาดย่อมในรูปแบบที่ทันสมัย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่”