posttoday

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกปีจอ ออนไลน์เชื่อมออฟไลน์

02 มกราคม 2561

ส่องอี-คอมเมิร์ซปี 2561 ต้องปรับทั้งสินค้าที่ขาย โปรโมชั่นต้องโดน รวมถึง ต้องขยายรูปแบบกาขายเชื่อมออนไลน์กับออฟไลน์ เพื่อรับมือยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาลีบาบา กับอเมซอน

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย     

ความท้าทายการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมูลค่า ปี 2561 แบรนด์ต้องเติบโตให้เร็ว ให้ทันกับกระแสหรือความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยการแข่งขันจากยักษ์ใหญ่ระดับโลก กลยุทธ์การตลาด เทคโนโลยีใหม่ๆ และพฤติกรรมผู้บริโภค ที่กำหนดว่าใครจะอยู่หรือไปในอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ

เพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ประธานเจ้าหน้าที่ร่วมบริหาร บริษัท เอ คอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการโซลูชั่นอี-คอมเมิร์ซครบวงจร เปิดเผยว่า การแข่งขันมาร์เก็ตเพลสเมืองไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทุกค่ายยังคงงัดกลยุทธ์ราคา ลด แลก แจก แถมขึ้นมาแข่งขัน เพราะราคาเป็นปัจจัยหลักการตัดสินใจซื้อสินค้าของคนไทยอยู่ และเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกมาช็อปปิ้งออนไลน์มากกว่าจะเป็นซื้อในออฟไลน์

อย่างไรก็ดี การช็อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคคนไทย จะเริ่มเห็นสัญญาณ ดีขึ้นว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าส่วนหนึ่งมาจากความสะดวกสบายมากกว่าจะเป็นเรื่องราคาอีกต่อไป พฤติกรรมคนไทยเริ่มไม่ต้องการเดินทางไปห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการช็อปปิ้งออนไลน์ที่แท้จริง ขณะนี้เริ่มมีพฤติกรรมการช็อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง เมื่อใดก็ตามที่ปัจจัยด้านความสะดวกมาจะส่งผลให้สงครามราคามีน้อยลง

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตาอี-คอมเมิร์ซในไทย คาดการณ์ว่าตลาดเติบโต 10% หรือมีมูลค่าเพิ่มจาก 2.8 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท สำหรับเวทีการแข่งขันมาร์เก็ตเพลส สองรายใหญ่ ลาซาด้า ช้อปปี้ เดินหน้าดึงแบรนด์ใหญ่เข้ามาร่วมมือ และควบคุมคนขายสินค้าเลียนแบบ และก้าวต่อไปการสร้างแบรนด์ตัวเองเพื่อจำหน่ายช่องทางออนไลน์ ส่วนผู้ค้าทางโซเชียลคอมเมิร์ซ จะต้องปรับตัวหันมาสร้างคอนเทนต์มากกว่าจะขายของเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ อี-คอมเมิร์ซบางรายเริ่มขยายช่องทางขายสู่ออฟไลน์ เช่นโพเมโล เริ่มเปิดร้านป๊อปอัพ สโตร์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสร้างสีสันกับ ผู้บริโภค อาทิ โลกของเออาร์ วีอาร์ สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคไทย สั่งซื้อสินค้าผ่านทางมือถือมากกว่า 50% แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์มากกว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น พบว่าอุปสรรคของแอพพลิเคชั่น คือ คนส่วนใหญ่มีแอพจะจำนวนมากบนมือถือ ทำให้การดาวน์โหลดเพื่อซื้อสินค้ามีน้อย

ขณะที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซในเอเชีย อาลีบาบาหรือลาซาด้ายังคงเป็นมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ แต่การแข่งขันจะเข้มข้นภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งจับตาดูว่าเมื่ออเมซอนเริ่มเข้ามาบุกตลาดเอเชีย อาลีบาบายังสามารถตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดได้หรือไม่ สำหรับไทย อาลีบาบา ก็เผชิญกับความท้าทายการแข่งขันของ เจดีดอทคอม ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีน ผนึกความร่วมมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทยที่มีความแข็งแกร่งจะเข้าสร้างความร้อนแรงการแข่งขันเพิ่มขึ้น

สำหรับอี-คอมเมิร์ซในระดับโลก การแข่งขันอี-คอมเมิร์ซ มาร์เก็ตเพลสยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งในระดับโลกในตลาดอเมริกาและยุโรป โดยมีผู้เล่นยักษ์ใหญ่ อเมซอน อาลีบาบา แต่เป็นการแข่งขันทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ต้องจับตาดูการทำตลาดของวอลมาร์ทที่ขับเคลื่อนสู่ช่องทางออนไลน์ได้รวดเร็วมากขึ้น สำหรับในภูมิภาคเอเชีย จะเป็นปีที่ค้าปลีกขับเคลื่อนการเชื่อมต่อจากโลกออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์

แม้อนาคตอี-คอมเมิร์ซในเอเชียจะดูสดใส แต่เมื่อพิจารณาดูอี-คอมเมิร์ซแบบบีทูซี หรือการค้าระหว่างธุรกิจไปสู่ผู้บริโภคในปัจจุบันยังมีน้อยมาก แต่ด้วยเป้าหมายการเติบโต แบรนด์ มาร์เก็ตเพลส ผู้ค้าปลีกออนไลน์ เริ่มมองหาช่องทางที่ไม่ใช่บีทูซี แต่เป็นช่องทางจาก ค้าปลีกไปสู่ค้าส่งออนไลน์