posttoday

เพราะเรากำลังพัฒนา ค่าไฟฟ้าจึงต้องไม่แพง!!!

16 ธันวาคม 2560

ยานยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) กำลังมาแรง รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Car)

ยานยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) กำลังมาแรง รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Car) ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะที่บางประเทศก็มีนโยบายลดการใช้เครื่องยนต์สันดาป (Combustion Engine) ลง ทำให้มีการคาดเดากันว่า อนาคตข้างหน้าประเทศเศรษฐีน้ำมันอาจไม่ได้ครองเศรษฐกิจโลกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และวาระสำคัญของทุกประเทศ คือ การผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอและมั่นคง

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้เพียงพอและมั่นคง นอกจากนั้นยังต้องบวกเอาคำว่ายั่งยืนเข้าไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้อาจยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าจะต้องลงมือปฏิบัติอย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว จะมีปัจจัยสำคัญที่เรียกว่า “บริบท” มาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเสมอ

ประเทศฝั่งตะวันตกหลายประเทศ ตั้งใจจะสร้างความมั่นคง และความยั่งยืนด้านไฟฟ้า โดยตั้งเป้าว่าจะเลิกใช้เชื้อเพลิงแบบเดิมๆ แล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเยอรมนี  เดนมาร์ก และนอร์เวย์

เพราะเรากำลังพัฒนา ค่าไฟฟ้าจึงต้องไม่แพง!!!

เยอรมนี ตั้งเป้าว่าจะยกเลิกการใช้ถ่านหินให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2040 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ถึงร้อยละ 45 ในปีเดียวกัน ส่งผลให้พลังงานหมุนเวียนได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นจริงเป็นจัง จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในช่วงที่ผ่านมา แต่นอกจากเยอรมนีแล้วก็ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีประเทศอื่นใดที่จะสามารถทำได้แบบเดียวกัน นั่นก็เพราะว่า เยอรมนีมี “บริบท” เป็นของตนเอง ประการแรก คือ ประเทศนี้มีประวัติศาสตร์การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ทำให้มีพื้นฐานที่เข้มแข็ง ประการที่สอง คือ เยอรมนีมีโรงไฟฟ้าฐานที่เพียงพออยู่แล้ว ทำให้การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่สร้างความเสี่ยงของการเกิดไฟฟ้าดับ ในกรณีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผลิตได้ไม่เพียงพอ ประการที่สาม คือ เยอรมนีเป็นประเทศพัฒนาแล้วทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจ่ายค่าไฟ (แม้ว่าจะแพงติดอันดับต้นๆ ของโลกก็ตามที) ซึ่งเหตุผลที่ชาวเยอรมันต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนของประเทศอื่นๆ ก็เพราะว่างบประมาณที่รัฐบาลนำไปอุดหนุนค่าไฟฟ้านั้น ต้องนำไปบวกเพิ่มจากบิลไฟฟ้าของประชาชน

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เดนมาร์ก ประเทศที่ไม่อยากต้องปวดหัวกับความผันผวนของราคาน้ำมัน จึงเริ่มต้นพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของตนเอง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 จนปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายว่า จะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งก็อาจทำได้จริง ก็เพราะว่า ประเทศนี้มี “บริบท” ที่สนับสนุนความเป็นไปได้ ประการแรก คือ เดนมาร์กเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรแค่ 5.6 ล้านคน ทำให้การใช้ไฟฟ้ามีไม่มาก ประการที่สอง คือ กำลังการผลิตที่มีอยู่บวกกับโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถถ่ายเทไฟฟ้าเข้าหากันได้ ทำให้เดนมาร์กมีกำลังการผลิตสูงเกือบ 3 เท่าตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง ดังนั้น จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนอีกเท่าไรก็ไม่ต้องกังวล ส่วนเหตุผลประการที่สาม คือ ประเทศนี้เป็นผู้นำเทคโนโลยี กังหันลมของโลก ทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุน มิหนำซ้ำ มูลค่าจากการส่งออกเทคโนโลยีและอุปกรณ์ ก็มากมายจนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าที่แพงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก (เดนมาร์ก มีค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในยุโรปและอเมริกา)

นอร์เวย์ ประเทศที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ตั้งเป้าว่า จะต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2050 เช่นกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญ ประการที่หนึ่ง ที่ทำให้นอร์เวย์ค่อนข้างมั่นใจมาก ก็เพราะว่าประเทศนี้มีไฟฟ้าพลังน้ำถึงร้อยละ 93 รวมกับก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มาก ทำให้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดได้แบบสบายๆ ประการที่สอง คือ ประเทศนี้มีประชากรน้อยมาก (5.3 ล้านคน) แต่เศรษฐกิจดี ติด 1 ใน 10 ของโลก ประการที่สาม คือ ภูมิประเทศที่แสนจะอุดมไปด้วยทรัพยากรณ์ด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

เพราะเรากำลังพัฒนา ค่าไฟฟ้าจึงต้องไม่แพง!!!

ในบรรดาทั้งสามประเทศที่ยกตัวอย่างมา ดูเหมือนว่านอร์เวย์จะโชคดีที่สุด เพราะแหล่งพลังงานหลักที่ได้จากน้ำ ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกที่สุด ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายประเทศไปขอดูงานและหวังจะเอามาเป็นแบบอย่าง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีประเทศไหนบนโลกนี้ที่จะมีองค์ประกอบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเหมือนนอร์เวย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเรา แทบจะเรียกได้ว่า เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรณ์ด้านพลังงานเป็นของตนเองเลยก็ว่าได้ ถ้าจะพิจารณาที่พลังน้ำ ก็ต้องบอกว่า น้ำท่าในบ้านเรามีความจำเป็นต้องกักเก็บและจัดสรรสำหรับการเกษตรกรรมเสียมากกว่า  ส่วนเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น แม้เราจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีมากพอที่จะทำให้อุ่นใจได้ในระยะยาว ซึ่งนั่นอาจจะเป็นที่มาว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

แต่หนทางก็ไม่ราบรื่นนัก เมื่อกลุ่มผู้เห็นต่างออกมาแสดงความเห็นว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการสวนกระแสโลก เพราะบรรดาประเทศพัฒนาแล้วกำลังมีนโยบายยกเลิกการใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินกันแทบทั้งนั้น

แล้วกระแสโลกกำลังจะยกเลิกการใช้ถ่านหินจริงหรือไม่ หากเรามองในกลุ่มประเทศตะวันตก ก็อาจได้คำตอบว่า “ใช่” แต่หากมองใกล้เข้ามาในประเทศแถบตะวันออก ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาไปที่ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นจีน  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ ก็ล้วนแล้วแต่พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์แทบทั้งสิ้น

เพราะเรากำลังพัฒนา ค่าไฟฟ้าจึงต้องไม่แพง!!!

จีนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุด เพราะเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดในโลก และเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ก็ไม่สามารถพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนได้เหมือนชาติตะวันตก จึงยังคงต้องอาศัยถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักต่อไป ซึ่งนั่นก็ทำให้จีนยังคงรักษาอันดับ ประเทศที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำเป็นอันดันต้นๆ ของโลกต่อไป

นอกจากจีนแล้ว หากเรามองไปที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่แพ้ชาติตะวันตก อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ก็ได้ตัดสินใจหันกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ยิ่งถ้าพิจารณาเกาหลีใต้ด้วยแล้ว ยิ่งเห็นภาพชัดว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ได้อย่างต่อเนื่องนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และราคาไม่แพง ซึ่งถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังคงเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดสำหรับประเทศในภูมิภาคตะวันออก

ขยับเข้ามามองใกล้ตัวเราอีกนิด แล้วพิจารณาประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว  กัมพูชา  เมียนมา  เวียดนาม มาเลเซีย  อินโดนีเซีย ล้วนแต่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินกันทุกประเทศ ดังนั้น คำถามที่ว่าทั่วโลกจะยกเลิกการใช้ถ่านหินหรือไม่ คงได้คำตอบว่า ไม่ใช่เวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน และคงไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศตะวันออกของพวกเราในเร็ววันนี้

เพราะเรากำลังพัฒนา ค่าไฟฟ้าจึงต้องไม่แพง!!!

แม้ว่าเราจะอยากได้แหล่งพลังงานหมุนเวียนเหมือนประเทศตะวันตก แต่ดูเหมือนว่า บริบทของประเทศไทยเราจะสอดคล้องกับประเทศในแถบตะวันออกเสียมากกว่า เพราะเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราจึงยังคงต้องการแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ในราคาที่ประชาชนพอจ่ายไหว และไม่สร้างผลกระทบในระดับที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นถ่านหิน แต่ถ้าจะทำทั้งทีก็ต้องทำให้ดี ทำให้โปร่งใส ทำให้ประชาชนยอมรับได้อย่างสนิทใจ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องเสริมความรู้ และสร้างความเชื่อมั่นกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนก็คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไม่ละทิ้ง เพียงแต่ทำในสัดส่วนที่เหมาะสม ทำในระดับที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีของบ้านเรา ส่วนแนวคิดที่ว่า จะยกเอาโมเดลความสำเร็จของประเทศอื่นมาใช้กับประเทศไทยคงเป็นเรื่องยาก เพราะ “บริบท มันไม่เหมือนกัน!!”