posttoday

เอชทีซีประกาศลุยวีอาร์ ชู 4 เสาหลักผู้ท้าชิงโซนี่

09 พฤศจิกายน 2560

ตลาดเกมเป็นสินค้าตัวแรกที่เข้ามาจุดชนวนวีอาร์ให้ครึกครื้น แต่ต่อไปอุตสาหกรรมต่างๆ จะหันมาใช้วีอาร์เพิ่มขึ้น

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีที่เปิดประตูสู่โลกเสมือนจริง (Virtual Reality : VR) หลายคนมักมองว่าอุปกรณ์เสมือนจริงในขณะนี้กำลังแพร่หลายในตลาดเกมมิ่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว “วีอาร์” กำลังขยายตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ บนโลกใบนี้ หนึ่งในผู้เล่นที่กำลังเข้ามาท้าชิงในตลาดวีอาร์อีกหนึ่งแบรนด์คือ เอชทีซี

เรย์มอนด์ เปา รองประธานบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์วีอาร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เอชทีซี ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมศีรษะเวอร์ชวลเรียลิตี้ยี่ห้อไวฝ์ (VIVE) เปิดเผยว่า เอชทีซีวางแผนรุกกลุ่มธุรกิจวีอาร์ที่ไม่ใช่แค่เกม แต่จะลุยทุกธุรกิจที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ขณะนี้ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่อย่างทรานส์ฟอร์เมอร์ส และแบทแมน เริ่มนำเทคโนโลยีวีอาร์เข้ามาใช้เพื่อการโปรโมทหนังบ้างแล้ว นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ การใช้วีอาร์สำหรับเทรนนิ่งบุคลากรด้านต่างๆ อาทิ โลจิสติกส์ 

ขณะที่ธุรกิจทางด้านการศึกษายังไม่ค่อยเห็นถึงการเคลื่อนไหว เบื้องต้นบริษัทได้ดีลกับองค์กรภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจการผลิต 3 มิติ วีอาร์จะเป็นตัวช่วยสำคัญ เช่น Dassault Systèmes คือ บริษัทในเยอรมนี ขายทั้งซอฟต์แวร์และเซอร์วิสที่เกี่ยวกับงาน 3D การเทรนนิ่งต่างๆ ของยูพีเอส ซึ่งเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อฝึกอบรมการขับรถ ตามด้วยอิเกีย ธุรกิจรถยนต์อย่างโฟล์คสวาเกน อีกทั้งยังมีแผนธุรกิจแบบให้เช่ากับสถานศึกษาหรือองค์กรที่สนใจอีกด้วย

สำหรับการดำเนินธุรกิจวีอาร์มีด้วยกัน 4 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักแรก กลุ่มผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะเน้นพัฒนาสินค้าให้ผู้ใช้ได้สัมผัสการใช้งานที่ดี โดยได้เปิดตัว ไวฝ์ (VIVE) ผู้นำต้นแบบแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลิตี้แบบ Room-scale และพัฒนาประสบการณ์เสมือนจริงในรูปแบบต่างๆ ไวฝ์นำเสนอนวัตกรรมใหม่พลิกโฉมวงการเกมและผลิตคอนเทนต์คุณภาพบนแพลตฟอร์ม SteamVR ซึ่งมีการพัฒนาคอนเทนต์ให้ครอบคลุมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเกม ด้านการศึกษา นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ โซลูชั่นทางธุรกิจ

เอชทีซีประกาศลุยวีอาร์ ชู 4 เสาหลักผู้ท้าชิงโซนี่ เรย์มอนด์ เปา รองประธานบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์วีอาร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เอชทีซี

ล่าสุดได้เปิดตัวเทคโนโลยีวีอาร์ในไทยเป็นแห่งที่สองรองจากสิงคโปร์เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยราคาเริ่มต้น 30,599 บาท ซึ่งปีแรกบริษัทจะเร่งสร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง โดยมุ่งเจาะช่องทางร้านเกมคาเฟ่ อาเขต เพื่อทำให้คนได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์จากเอชทีซี นอกจากนี้ในอนาคตวางเป้าหมายจะนำวีอาร์ที่ไร้สาย เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้มากขึ้น พัฒนาคอนเทนต์ภาษาไทยลงตลาด

เสาหลักที่ 2 ไวฝ์ พอร์ต อาเขต (Viveport Arcade) เป็นแหล่งรวมซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มทางด้านวีอาร์ที่มีดำเนินการทั่วโลก เพื่อรองรับการขยายขององค์กรธุรกิจต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงประสบการณ์เทคโนโลยีเสมือนจริง ไวฝ์ พอร์ต อาเขต ใช้งานง่ายและสามารถใช้ร่วมกันกับระบบเดิมที่องค์กรใช้อยู่แล้ว สามารถนำไปใช้ในหลากหลายธุรกิจทั้งอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือสถานความบันเทิงต่างๆ ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดตัวในไทย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถผลิตคอนเทนต์ของตัวเองได้ในโลกของวีอาร์

ตามด้วยเสาหลักที่ 3 ไวฝ์ แลนด์ (VIVELAND) เป็นโครงการเริ่มต้นของสถาบัน Institute for Information Industry ร่วมกับบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรมต่างๆ ไวฝ์แลนด์ ศูนย์รวมความบันเทิงจำลองบรรยากาศเติมเต็มทุกจินตนาการในโลกของวีอาร์ เปิดให้บริการแห่งแรกที่ ประเทศไต้หวัน ศูนย์แห่งนี้จะ
ช่วยสนับสนุนทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นด้านวีอาร์ใหม่ๆ

ในส่วนของเสาหลักที่ 4 โครงการไวฝ์ เอ็กซ์ (VIVE X) เราต้องการช่วยพัฒนา เกื้อหนุน และสร้างการเติบโตให้กับการสร้างระบบ Eco system อันแข็งแกร่งที่เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้านวีอาร์ต่างๆ ของบริษัทโครงการมีเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนให้แก่เหล่าสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเพื่อใช้ในการพัฒนาโปรเจกต์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีวีอาร์ร่วมกันกับบริษัท

สำหรับไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือกระทั่งเกม ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีวีอาร์ ในอนาคตหวังว่าจะได้ร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์กับนักพัฒนาเกมในประเทศไทย ส่วนการแข่งขันของตลาดวีอาร์ แม้ว่าสถานการณ์ตลาดคู่แข่งจะเริ่มลดราคาลงแล้ว เช่น โซนี่ แต่สำหรับเอชทีซีเปิดตัวไวฝ์ในระดับที่กว่า 3 หมื่นบาทนั้น มองว่าการเปิดตัวสินค้าระดับพรีเมียมในตลาดไทย ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดมากนัก เพราะต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานให้ที่ดีที่สุด

ตลาดเกมเป็นสินค้าตัวแรกที่เข้ามาจุดชนวนวีอาร์ให้ครึกครื้น แต่ต่อไปอุตสาหกรรมต่างๆ จะหันมาใช้วีอาร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการเพิ่มยอดขาย “เอชทีซี” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่พร้อมจะพัฒนาคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อป้อนกับธุรกิจ แต่ความท้าทายของเอชทีซีในเวลานี้ คงเป็นเรื่องของการแข่งขันสมรภูมิเกมที่มีคู่แข่งขันแข็งแกร่งอย่างโซนี่นั่นเอง

เอชทีซีประกาศลุยวีอาร์ ชู 4 เสาหลักผู้ท้าชิงโซนี่