posttoday

ปราการ "อาเซียน" บททดสอบแรกยักษ์ไอทีจีน

04 มิถุนายน 2560

อาเซียน กำลังกลายเป็นบททดสอบแรกสำหรับบริษัทเทคโนโลยีแดนมังกรในการขยายธุรกิจออกไปนอกตลาดบ้านเกิด

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กำลังกลายเป็นบททดสอบแรกสำหรับบริษัทเทคโนโลยีแดนมังกรในการขยายธุรกิจออกไปนอกตลาดบ้านเกิดที่กำลังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ และกรุยทางสู่การครอบครองตลาดอื่นๆ ทั่วโลก

ภาคธุรกิจเทคโนโลยีนับเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จีนกำลังผลักดันให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ และการเคลื่อนไหวของบริษัทไอทีจีนในการเข้าซื้อกิจการและร่วมมือกับสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าจีนจริงจังกับตลาดอาเซียนไม่น้อย โดยไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (พีดับเบิ้ลยูซี) เปิดเผยว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศของจีน เพิ่มขึ้นมา 2 เท่า อยู่ที่ 3.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.28 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2016

บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว อาลีบาบา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีน ลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อ
ลาซาด้า แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซในสิงคโปร์ ด้าน เจดีดอทคอม คู่แข่งอาลีบาบาด้านอี-คอมเมิร์ซ กำลังเจรจาลงทุนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐในโทโกพีเดีย แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์จากอินโดนีเซีย

ขณะที่ เทนเซนต์ ยักษ์ด้านไอที ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นแชต วีแชท เพิ่มการลงทุนใน จูกซ์ แอพพลิเคชั่นฟังเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเข้าลงทุนใน ซี (Sea) สตาร์ทอัพเทคโนโลยีมูลค่าสูงสุดในอาเซียน ซึ่งรีแบรนด์มาจาก การีนา บริษัทอินเทอร์เน็ตและเกมออนไลน์ รวมถึงเตรียมลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) ใน โก-เจ็ก ผู้ให้บริการไรด์-แชริ่ง จากอินโดนีเซีย ด้าน ตีตี้ ผู้ให้บริการไรด์-แชริ่งจากจีน ประกาศจับมือกับ แกร็บ บริษัทในธุรกิจเดียวกันจากสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าธุรกิจไอทีในอาเซียนยังอยู่ในระยะตั้งไข่ แต่ประชากรมหาศาลโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทจีนเห็นศักยภาพตลาดอาเซียน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจ 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม จะโตกว่า 5% ต่อปี จนถึงปี 2022

“โอกาสในเอเชียไม่อาจเทียบกับที่อื่นๆ ได้ อาเซียนกำลังเติบโตในอัตราที่รวดเร็ว และมีความคล้ายคลึงกับจีนหลายอย่างในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค” เกรซ เซีย ผู้อำนวยการระดับสูง ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนองค์กรของเทนเซนต์ กล่าว

รายงานระบุว่า อาลีบาบา เป็นเอกชนจีนที่รุกลงทุนในอาเซียนมากที่สุด เริ่มจากการซื้อลาซาด้า ตามด้วยการเดินทางเยือนมาเลเซียของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา เมื่อเดือน มี.ค. เพื่อเจรจาตั้งศูนย์โลจิสติกส์แห่งแรกนอกจีนในมาเลเซีย รวมถึงขยายธุรกิจ แอนท์ ไฟแนนเชียล บริษัทลูกที่ให้บริการทางการเงินในไทยโดยร่วมมือกับบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ เพื่อวางเครือข่ายระบบชำระเงินออนไลน์ให้ครอบคลุมพลเมืองอาเซียนราว 340 ล้านคน และลงนามข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันกับบริษัท เอ็มเทก กรุ๊ปของอินโดนีเซีย

“ตอนแรกมีแค่อาลีบาบา แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นบริษัทจีนขนาดใหญ่รองลงมาให้ความสนใจตลาดอาเซียนมากยิ่งขึ้น” ไมเคิล ลินท์ หุ้นส่วนบริษัทร่วมทุน โกลเด้นเกต เวนเจอร์ ของสหรัฐ กล่าว

สมาร์ทโฟนจีนบุกแรง

ไอดีซี บริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐ เปิดเผยว่า บรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนอย่างออปโป้ วีโว่ และหัวเว่ย กำลังเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในอาเซียนแข่งกับซัมซุง ยักษ์สมาร์ทโฟนจากเกาหลีใต้อย่างดุเดือด โดยสมาร์ทโฟนจีน สามารถครองตลาดอาเซียนไปได้ 21% ในปี 2016 ห่างจากเบอร์หนึ่งอย่างซัมซุงเล็กน้อยที่ 23%

รายงานระบุว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนทั้งสามทำได้ดีในการพัฒนาด้านการถ่ายภาพ โดยสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธง เช่น ออปโป้เอฟ1 วีโว่วี5 และหัวเว่ยพี9 ต่างมีจุดเด่นเรื่องกล้อง โดยออปโป้และวีโว่เน้นการถ่ายเซลฟี่เป็นหลัก ส่วนหัวเว่ย มุ่งพัฒนาคุณภาพและความคมชัดกล้องเพื่อจับกลุ่มผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพ

นอกจากนี้ ไอดีซีเสริมว่า ความนิยมสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นมาจากกลยุทธ์การตลาดอันยอดเยี่ยม โดยแคมเปญโฆษณาของออปโป้ใช้คนดังในประเทศนั้นๆ มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ และสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นสินค้าสำหรับคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับวีโว่ที่ใช้เซเลบริตี้ในประเทศอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่หัวเว่ยเน้นนำเสนอคุณสมบัติโดดเด่นของสมาร์ทโฟนเรือธงเป็นหลัก

“เมื่อตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตขึ้น ความต้องการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่จะกลายเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการขยายตัวของตลาด โดยเฉพาะในเขตเมือง บริษัทที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีกว่าย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า” เจนเซ่น โออิ นักวิจัยตลาดฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของไอดีซี กล่าว

ภาพ...เอเอฟพี