posttoday

ดาวโจนส์ปิดดิ่ง 626.15 จุด การผลิตหดตัว Nvidia ฉุด-ราคาน้ำมันร่วงเกือบ 4.5%

04 กันยายน 2567

ตลาดหุ้นสหรัฐปิดดิ่งหนัก 626.15 จุด รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเทขายหุ้นทั่วโลกต้น ส.ค. หลังดัชนีการผลิตสหรัฐหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ทำให้ตลาดวิตกเศรษฐกิจถดถอย บวกแรงเทขายหุ้น Nvidia ด้านราคาน้ำมันร่วงแรงวันเดียว 3.21 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์วานนี้ (3 ก.ย.) ปิดที่ 40,936.93 จุด ลดลง 626.15 จุด หรือ -1.51% ดัชนี S&P500 ลดลง 119.47 จุด หรือ -2.12% ปิดที่ 5,528.93 จุด ดัชนี Nasdaq ลดลง 577.33 จุด หรือ -3.26% ปิดที่ 17,136.30 จุด โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนี ปิดร่วงลงเป็นเปอร์เซ็นในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.ปีนี้

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบอย่างรุนแรงในวันอังคารที่ 3 ก.ย. เริ่มการซื้อขายวันแรกของเดือนกันยายนอย่างเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเทขายหุ้นทั่วโลกเมื่อวันที่ 5 ส.ค. หลังจากมีรายงานภาคการผลิตสหรัฐของ ISM หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลเศรษฐกิจถดถอยกลับมาอีกครั้ง

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือน ส.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.2 จากระดับ 46.8 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 แต่ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.อยู่ในระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 47.5 นอกจากนี้ ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.9 ในเดือน ส.ค. จากระดับ 49.6 ในเดือน ก.ค. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 2

หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลง 4.43% ตามด้วยดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 2.41%

หุ้น 7 บริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง หรือ "หุ้น 7 นางฟ้า" (Magnificent Seven) ร่วงลงทั้งหมด นำโดยหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) ร่วงลงเกือบ 10% ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปของอินวิเดียทรุดตัวลง 2.79 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 2.65 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมาร์เก็ตแคปของอินวิเดียร่วงลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนหุ้นไมโครซอฟท์ (Microsoft) ร่วงลง 1.75%, หุ้นแอปเปิ้ล (Apple) ร่วงลง 2.7%, หุ้นอัลฟาเบท (Alphabet) ดิ่งลง 3.6%, หุ้นอะเมซอน (Amazon) ลดลง 1.26%, หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms) ร่วงลง 1.83%

หุ้นเทสลา (Tesla) ร่วงลง 1.6% หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทสลาวางแผนที่จะผลิตรถยนต์รุ่น Model Y แบบ 6 ที่นั่งในประเทศจีน โดยจะเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2568

หุ้นโบอิ้ง (Boeing) ดิ่งลง 7.3% หลังจากนักวิเคราะห์ของเวลส์ ฟาร์โก (Wells Fargo) ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทนุของหุ้นโบอิ้งลงสู่ระดับ "Underweight" จากระดับ "Equalweight"

ดัชนี VIX ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้น 33.2% ปิดที่ระดับ 20.72 จุด ซึ่งเป็นระดับสุงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค.ปีนี้

เจสัน บราวน์ ประธานบริษัท Alexis Investment Partners ในรัฐเท็กซัส กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลังไปจนถึงทศวรรษที่ 1950 เดือน ก.ย.ถือเป็นหนึ่งในเดือนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กทำผลงานย่ำแย่ที่สุด

ขณะที่ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า เดือน ก.ย.มักจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ร่วงลงเฉลี่ย 2.3% ในเดือน ก.ย.

FactSet ยังระบุด้วยว่า ในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐ จะทำให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กยิ่งมีแนวโน้มดิ่งลงในเดือน ก.ย. เนื่องจากนักลงทุนมักจะเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักในเดือน ก.ย.และเดือน ต.ค.ในปีเลือกตั้ง ก่อนที่จะกลับเข้าซื้อหุ้นในไตรมาส 4

ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากเท่าใด โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. และอัตราว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.2% ในเดือน ส.ค. จากระดับ 4.3% ในเดือน ก.ค.

ทางด้านสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคารที่ 3 ก.ย. โดยปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 เดือน หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าข้อพิพาทด้านการเมืองในลิเบียมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังจากที่ข้อพิพาทดังกล่าวได้ส่งผลให้ลิเบียระงับการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา

สัญญา น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.21 ดอลลาร์ หรือ 4.36% ปิดที่ 70.34 ดอลลาร์/บาร์เรล 

สัญญา น้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 3.77 ดอลลาร์ หรือ 4.86% ปิดที่ 73.75 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมัน WTI และเบรนท์ต่างก็ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2566 หลังจากหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติของลิเบียได้ตกลงที่จะแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ภายใน 30 วัน ภายหลังจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยและจัดให้มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

โอเล แฮนเซน นักวิเคราะห์จาก Saxo Bank กล่าวว่า กระแสคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกจะสามารถทำข้อตกลงกันได้นั้น ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดน้ำมัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ข้อพิพาททางการเมืองในลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ รัฐบาลลิเบียตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเบงกาซีมีความขัดแย้งกับรัฐบาลลิเบียที่ตั้งอยู่ในกรุงตริโปลีในประเด็นที่ว่า ฝ่ายใดควรมีอำนาจในการควบคุมธนาคารกลางลิเบียและรายได้จากน้ำมัน

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันหลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) เตรียมเดินหน้าแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 180,000 บาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ลิเบียลดการผลิตน้ำมัน อันเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน หลังจากที่จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือน ส.ค.ลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน