posttoday

NASA ปรับแผนส่งตัวอย่างจากดาวอังคารกลับโลก เฟ้นเทคโนโลยีลดต้นทุน

16 เมษายน 2567

NASA ปรับแผนภารกิจ Mars Sample Return ส่งตัวอย่างจากดาวอังคารกลับโลก เร่งหาเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนขนส่ง หลังถูกหั่นงบหนัก!

ยานสำรวจอวกาศ Perseverance ซึ่งลงจอดบนดาวอังคารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เพื่อปฏิบัติภารกิจ Mars Sample Return ได้เก็บตัวอย่างหินจากบริเวณหลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) ซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณบนดาวอังคารที่เคยมีแม่น้ำไหลผ่านในอดีต ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ตัวอย่างเหล่านี้อาจช่วยให้มนุษยชาติค้นพบคำตอบว่าบนดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายกังวลว่าภารกิจนี้อาจมีความซับซ้อนมากเกินไป จากค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว และกำหนดการส่งยานกลับที่กินเวลาหลายปีเกินไป (เดิมกำหนดไว้ในปี 2031 แต่ถูกเลื่อนออกไปอีก หลังคณะกรรมการตรวจสอบอิสระได้ทำการประเมิน)  นอกจากนี้ การตัดงบประมาณที่ส่งผลต่อองค์การนาซายังกระทบต่อภารกิจนี้โดยตรงเช่นกัน

ทางด้าน Bill Nelson ผู้บริหารองค์การนาซา และ Nicky Fox ผู้ช่วยผู้บริหารสำนักงานภารกิจทางวิทยาศาสตร์ของนาซา ได้ชี้แจงแนวทางขององค์การโดยระบุว่า จากการประเมินโดยคณะกรรมการตรวจสอบอิสระ  ต้นทุนของภารกิจนี้ ไม่ควรเกิน 5,000 - 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นาซากำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ลดลงจากการถูกตัดงบในปีงบประมาณ 2024 และ 2025 ส่งผลองค์การสูญเงิน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานในภารกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ การส่งตัวอย่างกลับมายังโลกตลอดระยะทางกว่า 53 ล้านกิโลเมตรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และการต้องรอจนถึงปี 2040 เพื่อนำตัวอย่างกลับมายังโลกนั้นล่าช้าเกินไป ทางนาซาจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ให้ครอบคลุมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและสามารถนำตัวอย่างกลับมายังโลกภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม

Bill Nelson ยังระบุว่า ต้นทุนที่สูงของภารกิจ Mars Sample Return ยังส่งผลกระทบต่อภารกิจอื่นๆของนาซา เช่น NEO, Dragonfly และ DAVINCI เนื่องจากต้องดึงงบจากภารกิจอื่นมาเกลี่ยให้กับภารกิจนี้ ซึ่งผู้บริหารองค์การนาซาได้แต่เพียงแค่หวังว่า ในปีงบประมาณ 2026 ทางองค์การจะไม่ถูกตัดงบไปมากกว่าเดิม 

จนถึงขณะนี้ ทางออกสำหรับภารกิจ Mars Sample Return ยังหาบทสรุปและข้อยุติไม่ได้ ทางองค์การจึงประกาศขอความร่วมมือจากศูนย์วิจัยของนาซาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเทคโนโลยี ให้บรรลุเป้าหมายการส่งตัวอย่างราว 30 ชิ้นกลับคืนสู่โลกภายในช่วงปี 2030 ภายใต้ต้นทุนที่จำกัด

สำหรับเหตุผลที่องค์การนาซาไม่ยอมยุติภารกิจดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการศึกษาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารถือเป็นองค์ความรู้ที่มีค่ามากต่อมนุษยชาติ ขณะเดียวกันทางนาซาเองก็มีแผนส่งนักบินอวกาศไปยังดาวอังคารในอนาคตเช่นกัน

ทั้งนี้ ยานสำรวจอวกาศ Perseverance จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการตัดสินใจดังกล่าว โดยตัวยานยังคงสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคารและเก็บตัวอย่างต่อไป