posttoday

ญี่ปุ่นตั้งเป้าลงจอดยานบนดวงจันทร์ ประเทศที่ 5 ของโลก

19 มกราคม 2567

ญี่ปุ่นตั้งเป้าเป็นประเทศที่ 5 ในการส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ และจะลงจอดอย่างแม่นยำภายในรัศมี 100 เมตรจากจุดที่กำหนดในวันศุกร์นี้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของโครงการอวกาศของญี่ปุ่นที่เคยประสบปัญหามากมาย จนถูกจีนคู่แข่งรายสำคัญแซงหน้าไป

ภารกิจ "Moon Sniper" ซึ่งสำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ตั้งเป้าลงจอดบนดวงจันทร์อย่างแม่นยำภายในรัศมี 100 เมตรจากจุดที่กำหนด และลงจอดแบบแนวนอนในวันศุกร์นี้ โดย JAXA ระบุว่า เทคโนโลยีการลงจอดแบบนี้ยังไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้นหาน้ำบนดวงจันทร์เพื่อประเมินศักยภาพในการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอนาคต 

โดยยานสำรวจ "Smart Lander for Investigating Moon" (SLIM) ของ JAXA จะเริ่มภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์เป็นเวลา 20 นาที ในเวลา 15:00 น. GMT ของวันศุกร์ โดยภารกิจนี้เป็นภารกิจเที่ยวเดียว มีเป้าหมายลงจอดบนพื้นที่ขนาดประมาณสองสนามกรีฑา บริเวณเนินลาดของปล่องภูเขาไฟ ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์

ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอวกาศ โดยจับมือกับสหรัฐ พันธมิตรใกล้ชิด เพื่อรับมือกับอิทธิพลด้านการทหารและเทคโนโลยีของจีน ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดยสตาร์ทอัพใหม่ๆด้านอวกาศในญี่ปุ่นได้เกิดขึ้นใหม่มากมาย และยังตั้งเป้าส่งนักบินไปสำรวจดวงจันทร์ร่วมกับโครงการ Artemis ของ NASA

แม้ญี่ปุ่นจะมีความทะเยอทะยานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากแค่ไหน แต่ JAXA ยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความล้มเหลวหลายครั้ง รวมถึงการระเบิดของจรวด H3 ระหว่างการปล่อยเที่ยวแรกในเดือนมีนาคม ปี 2023 โดยจรวดรุ่นใหม่เป็นเรือธงที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะแข่งขันกับผู้ให้บริการจรวดเชิงพาณิชย์อย่าง SpaceX

ในเดือนสิงหาคม Chandrayaan-3 ของอินเดีย ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่ง ถือเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญจากความท้าทายด้านพื้นผิวของขั้วใต้ที่มีความขรุขระ  และสะท้อนถึงการก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในวงการอวกาศของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม JAXA เน้นย้ำว่าเทคโนโลยีความแม่นยำสูงของ SLIM จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจพื้นที่ขั้วดวงจันทร์ที่มีภูมิประเทศเป็นเนินเขาในอนาคต เนื่องจากคาดว่าพื้นที่เหล่านี้มีแหล่งแร่ธาตุสำคัญอย่างออกซิเจน เชื้อเพลิง และน้ำ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังวางแผนร่วมมือกับอินเดียในการส่งภารกิจสำรวจขั้วดวงจันทร์แบบไร้มนุษย์ในปี 2025

Kazuto Saiki อาจารย์มหาวิทยาลัย Ritsumeikan ผู้พัฒนา “กล้องอินฟราเรด” สำหรับวิเคราะห์หินบนดวงจันทร์ของยาน SLIM ยอมรับว่า ในแง่ของทรัพยากร ญี่ปุ่นอาจตามหลังสหรัฐ จีน และอินเดีย ในโครงการสำรวจดวงจันทร์ จึงควรเน้นจุดแข็งทางเทคโนโลยีแทนที่จะแข่งขันด้านทรัพยากรโดยตรง

อย่างไรก็ตาม Bleddyn Bowen ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอวกาศ จากมหาวิทยาลัย Leicester มองว่า เทคโนโลยีความแม่นยำในการลงจอดของ SLIM อาจจะไม่ได้เป็น "game changer" หรือปฏิวัติวงการสำรวจอวกาศโดยทันที แต่จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดต้นทุนภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต