posttoday

คาด "ไข้หวัดนก" ระบาดขั้วโลกใต้ เพนกวินจักรพรรดิเสี่ยงสูญพันธุ์หนัก

23 ธันวาคม 2566

ตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อร้ายแรง "ไข้หวัดนก" มีแนวโน้มแพร่ระบาดไปทั่วภูมิภาคแอนตาร์กติกา ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศที่เปราะบาง โดยเฉพาะเพนกวินจักรพรรดิที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) มีแนวโน้มว่าจะแพร่ระบาดไปยังขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าประชากรสัตว์ในภูมิภาคดังกล่าวอย่าง เพนกวิน และแมวน้ำ ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HPAI หากติดเชื้ออาจทำให้เกิดอัตราการตายสูง ส่งผลกระทบต่อความสมดุลย์ของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ

ไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H5 หรือ H7 พบได้ในสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ห่าน นกกระทา เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้สัตว์ปีกป่วยและตายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการตายสูงถึง 90%

ตามรายงานของ OFFLU ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 ถูกตรวจพบในภูมิภาคแอนตาร์กติกา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ในนกสคัวขั้วโลกใต้ (brown skua) บนเกาะ Bird Island ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษในหมู่เกาะเซาท์จอร์เจียและเซาท์แซนด์วิช

และในช่วงเวลาเดียวกัน ยังตรวจพบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 ในนก fulmars และ นก albatrosses บนหมู่เกาะ Falkland Islands ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง การตรวจพบไวรัสในนกหลายสายพันธุ์และหลายพื้นที่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ยิ่งตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในภูมิภาคแอนตาร์กติกา

ไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) สายพันธุ์ H5 มีแนวโน้มแพร่ระบาดในสัตว์แอนตาร์กติกา โดยอาจส่งผลต่อนก 48 สายพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล 26 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้

ผลกระทบเชิงลบของไวรัสชนิดดังกล่าวที่มีต่อสัตว์ในแอนตาร์กติกาอาจทวีความรุนแรง เนื่องจากการอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น โดยเฉพาะแมวน้ำนับพันตัวและนกหลายแสนตัว ซึ่งเอื้อให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายและส่งผลให้มีอัตราการตายสูง

ไข้หวัดนกที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดในแอนตาร์กติกานับเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเพนกวินจักรพรรดิ ซึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งหากไวรัสแพร่ระบาดอาจส่งผลให้ติดเชื้อไปทั่วทั้งฝูงได้ 

ทั้งนี้ OFFLU ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัส และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของมนุษย์