posttoday

การส่งข้อมูลระดับ Petabits สู่อีกก้าวของอนาคตแห่ง 6G

22 ธันวาคม 2566

เมื่อพูดถึงความเร็วอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันโดยมากจะอยู่ที่ราว 1 Gb/s หรือน้อยกว่านั้น มีไม่มากที่จะมีโอกาสสัมผัสอินเทอร์เน็ตระดับความเร็ว 10 Gb/s จากข้อจำกัดด้านค่าบริการ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการคิดค้นเคเบิลใยแก้วที่รองรับการส่งข้อมูลระดับ Pb/s

เชื่อว่าทุกท่านต่างใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน กลายเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญไม่ต่างจากน้ำประปาหรือไฟฟ้า การรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่านเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ถือเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโฉมและเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง

 

          เมื่อพูดถึงอินเทอร์เน็ตสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงย่อมเป็นความเร็วการรับ-ส่งข้อมูล เพราะถือเป็นหัวใจหลักของระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ระดับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่คนทั่วไปมีโอกาสใช้งานโดยมากจะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1 – 2 Gb/s แต่โดยเฉลี่ยระดับความเร็วในการส่งข้อมูลจะอยู่ที่หลักร้อย Mb/s เสียมากกว่า

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากมีการพัฒนาขีดความสามารถการส่งข้อมูลให้สามารถไปถึงระดับ Petabit/s ได้สำเร็จ

 

การส่งข้อมูลระดับ Petabits สู่อีกก้าวของอนาคตแห่ง 6G

 

สู่อีกระดับแห่งการส่งข้อมูล โลกแห่ง Petabit

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Japan’s National Institute of Information and Communications Technology (NICT) แห่งญี่ปุ่น กับการพัฒนาสายเคเบิลใยแก้วรุ่นใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการส่งข้อมูลให้พุ่งไปถึงระดับ 22.9 Pb/s

 

          เราทราบกันดีว่าการรับ-ส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่สายเคเบิลใยแก้ว นั่นทำให้ทุกครั้งที่สายส่งข้อมูลนี้เกิดความเสียหาย การเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลไปนอกประเทศจึงติดขัดและเชื่องช้าจนน่าหงุดหงิด ขีดความสามารถของเคเบิลใยแก้วจึงเป็นหัวใจสำคัญของโลกอินเทอร์เน็ต

 

          ปัจจุบันความเร็วอินเทอร์เน็ตขั้นสูงสุดที่คนทั่วไปมีโอกาสใช้งานจะอยู่ที่ราว 10 Gb/s แม้แต่องค์กรอวกาศอย่าง NASA ก็มีขีดความสามารถส่งข้อมูลอยู่ที่ 46 Tb/s เท่านั้น น้อยกว่าความเร็ว 22.9 Pb/s เกือบ 500 เท่า ทำให้ปริมาณการส่งข้อมูลจากสายเคเบิลใยแก้วรุ่นนี้ทิ้งห่างเทคโนโลยีปัจจุบันไม่เห็นฝุ่น

 

          แตกต่างจากสายเคเบิลใยแก้วทั่วไปที่มีคอร์จำนวนน้อย เคเบิลใยแก้วที่พวกเขาพัฒนามีการบรรจุคอร์ส่งข้อมูลไปกว่า 38 คอร์ แต่ละคอร์สามารถส่งข้อมูลได้ 3 โหมด จึงมีช่องส่งข้อมูล 114 ช่อง แต่ละช่องมีขีดความสามารถรองรับความยาวคลื่น 750 ช่องที่ครอบคลุมความถี่ระดับ 18.8 THz และรองรับการรับ-ส่งข้อมูลที่ราว 0.3 – 0.7 Pb/s

 

          เมื่อนำทั้งหมดมาทำงานร่วมกันจะทำให้ความเร็วการส่งข้อมูลอยู่ที่ 22.9 Pb/s ถือเป็นขีดความสามารถที่ทำลายสถิติเดิมในปี 2020 ไปกว่าเท่าตัว อีกทั้งทางทีมวิจัยยังระบุว่า หากได้รับการปรับแต่งแก้ไขเพิ่มเติม อาจสามารถดันความเร็วการส่งข้อมูลสูงสุดในระดับ 24.7 Pb/s อีกด้วย

 

          นี่จึงถือเป็นขีดความสามารถสูงสุดของเคเบิลใยแก้วและอินเทอร์เน็ตของมนุษยชาติในปัจจุบัน

 

การส่งข้อมูลระดับ Petabits สู่อีกก้าวของอนาคตแห่ง 6G

 

การพัฒนาที่ช่วยให้เราเข้าใกล้ 6G ไปอีกก้าว

 

          แน่นอนขีดความสามารถของเคเบิลใยแก้วรุ่นใหม่นั้นน่าทึ่ง ระดับความเร็วในการส่งข้อมูล 22.9 Pb/s มากพอจะใช้ในการรับ-ส่งข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันพร้อมกันได้ถึง 20 ครั้งด้วยเคเบิลใยแก้วเส้นเดียว ถือเป็นการยกระดับขีดความสามารถของอินเทอร์เน็ตอย่างก้าวกระโดด

 

          คำถามที่หลายท่านอาจตั้งข้อสงสัยคือ เราจะมีโอกาสได้พบเห็นหรือใช้งานความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับนั้นจริงหรือ ประเมินจากค่าเฉลี่ยนความเร็วอินเทอร์เน็ตทั่วโลกปัจจุบันที่ 1 Gb/s ด้อยกว่าค่าสูงสุดที่เคเบิลใยแก้วรุ่นใหม่รองรับได้ถึง 100 ล้านเท่า ทำให้แม้เทคโนโลยีนี้ดูน่าทึ่งแต่ให้ความรู้สึกเกินจำเป็นไปเสียหน่อย

 

          แต่เราต่างทราบดีว่าการพัฒนาเทคโนโลยีของเราไม่เคยหยุด ภายหลังการมาถึงของเครือข่ายไร้สาย 5G ได้ไม่นาน ก็เริ่มมีการพูดถึงและพัฒนาระบบ 6G แล้วเช่นกัน บริษัทน้อยใหญ่ในหลายประเทศตั้งแต่จีน, สหรัฐฯ, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น ต่างแข่งขันเพื่อขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้ทั้งสิ้น

 

          จากข้อมูลในช่วงต้นการพัฒนาคาดว่า 6G จะมีความเร็วการส่งข้อมูลเหนือกว่า 5G ที่เราใช้งานกันกว่า 50 เท่า รองรับการใช้งานคลื่นความถี่ระดับ Terahertz จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงวีดีโอความละเอียดระดับ 8K, การแพร่หลายของ IOT ไปจนการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย ที่อาจครอบคลุมใช้งานง่ายยิ่งกว่าในปัจจุบัน

 

          นี่จึงเป็นเหตุให้ความสำเร็จในการพัฒนาเคเบิลใยแก้วรุ่นนี้ช่วยให้เราเข้าใกล้ 6G กว่าเก่า รองรับระดับความเร็วและปริมาณการส่งข้อมูลที่มากขึ้น สามารถกระจายสัญญาณออกไปได้ทั่วถึงยิ่งกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับอินเทอร์เน็ตทุกชนิดต่อไป

 

          ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวในการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตให้ไปไกลกว่าที่เราเคยรู้จัก

 

 

 

          อย่างไรก็ตามโอกาสในการเข้าถึงและใช้งานสายเคเบิลใยแก้วรุ่นนี้และ 6G อาจมาไม่ถึงในเร็ววัน มีอีกหลายส่วนที่ต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมจึงสามารถใช้งานได้เต็มที่ ตั้งแต่ระบบประมวลผล, อุปกรณ์ถอดรหัสข้อมูล, ตัวรับข้อมูลที่ต้องถูกพัฒนาขึ้นตามกัน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องถูกยกเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งข้อมูลระดับความเร็ว 1 Pb/s ขึ้นไป

 

          แม้จะมีส่วนที่ต้องได้รับการพัฒนาอีกมากแต่เป็นไปได้ว่าเราอาจได้ใช้งานเทคโนโลยี 6G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/international-news/701162

 

          https://newatlas.com/telecommunications/datat-transmission-record-20x-global-internet-traffic/

 

          https://www.nict.go.jp/en/press/2023/11/30-1.html