posttoday

WHO เรียกร้องมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เหมือนบุหรี่ธรรมดา

15 ธันวาคม 2566

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมือนกับบุหรี่ธรรมดา รวมถึงเรียกร้องให้ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรสชาติเนื่องจากรสชาติที่หวานหรือแปลกใหม่เป็นสิ่งดึงดูดให้เยาวชนหันมาเป็นนักสูบหน้าใหม่มากขึ้นขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างแรงสั้นสะเทือนต่อบริษัทบุหรี่หลายแห่งที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนการสูบบุหรี่ เช่น  Philip Morris International และ British American Tobacco เนื่องจากมองว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และสามารถช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้

เช่นเดียวกับนักวิจัยบางกลุ่ม และรัฐบาลของหลายประเทศที่มองว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตและโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าจำเป็นต้องมี "มาตรการเร่งด่วน" ในการควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

องค์การอนามัยโลก (WHO) อ้างอิงผลการวิจัยหลายชิ้น โดยระบุว่ายังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอจะยืนยันได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ธรรมดาลิกสูบได้ และยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพ รวมถึงอาจกระตุ้นให้กลุ่มคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนติดนิโคตินได้

องค์การอนามัยโลก (WHO) เสริมต่อว่า ในทุกภูมิภาคที่อยู่ภายใต้การดูแลของ WHO มีจำนวนเด็กอายุ 13-15 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตลาดเชิงรุก 

Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า "เด็กๆ กำลังถูกชักจูงและติดกับดักการใช้บุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุยังน้อย และอาจติดนิโคตินได้ ซึ่งประเทศต่างๆ ควรเร่งดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มงวด"

องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ห้ามใช้สารแต่งกลิ่นทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเมนทอล รวมถึงนำกฎควบคุมยาสูบมาใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น เพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีและห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ระบุว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและควรใช้เพื่อจุดประสงค์ต่อการเลิกสูบบุหรี่เท่านั้น แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดมะเร็ง ขณะที่การสูบบุหรี่ธรรมดาก่อให้เกิดมะเร็งอย่างน้อย 15 ชนิด

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่มีอำนาจโดยตรงในการบังคับใช้กฎหมายระดับประเทศ  เนื่องจากหน้าที่หลักคือการให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ  อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของ WHO มักได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้โดยสมัครใจ