posttoday

หวั่นน้ำทะเลหนุนสูงจากธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เหตุ Climate change ทำพิษ

14 ธันวาคม 2566

Climate change ทำพิษ! ฤดูร้อนในขั้วโลกเหนืออุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หวั่นทั่วโลกกระทบหนักจากเหตุน้ำทะเลหนุนสูงเมื่อธารน้ำแข็งละลาย

ตามรายงานของ NOAA  ปี 2023เขตอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือต้องประสบกับอุณหภูมิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1900 นอกจากนี้อุณหภูมิในเขตอาร์กติกยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของโลก จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่มนุษย์เป็นตัวเร่งให้วิกฤตดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรง

นอกจากนี้ ในรายงานประจำปีของ NOAA ยังแสดงให้เห็นว่าปรากฎการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศทั่วโลกเกิดขึ้นถี่กว่าในอดีต

ด้วยปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ ประกอบกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจนปกคลุมทั่วทางตอนเหนือของแคนาดาและหมู่เกาะอาร์กติกของแคนาดา ส่งผลให้ในบริเวณดังกล่าวต้องเผชิญกับเหตุไฟป่าครั้งรุนแรง

ขณะที่ทางฝั่งกรีนแลนด์ ธารน้ำแข็งพื้นทวีป (ice sheet) ยังละลายหายไปกว่า 350 ล้านล้านปอนด์ โดยแนวโน้มการละลายของธารน้ำแข็งพื้นทวีปของกรีนแลนด์เริ่มส่อเค้าให้เห็นตั้งแต่ปี 1998

รายงานระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นซึ่งเขตอาร์กติกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ภายในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น แต่ธารน้ำแข็งที่ละลายเพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อครัวเรือน การคมนาคม รวมถึงธุรกิจในเขตชายฝั่ง

นอกจากนี้ ความเสียหายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในเขตอาร์กติกจะไม่มีทางแก้ไขได้ และผลกระทบจะแผ่ไปไกลทั่วทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย ซึ่งหนึ่งในหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิในเขตอาร์กติกสูงขึ้นคือ ต้นไม้และพืชต่างๆที่เริ่มผลิเขียวขจี จากการละลายของชั้นน้ำแข็งที่เคยปกคลุมผิวดิน 

ทั้งนี้ ชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ที่มีส่วนทำให้พืชกลับมาผลิบานอีกครั้ง ยังเร่งให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่เคยสะสมไว้ในชั้นผิวดิน รวมถึงยังเต็มไปด้วยแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคที่เคยถูกแช่แข็ง แต่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย