posttoday

IUCN เผยปลาน้ำจืด 1 ใน 4 เสี่ยงสูญพันธุ์จาก Climate Change

12 ธันวาคม 2566

ข้อมูลจากบัญชีแดง IUCN ซึ่งบันทึกสถานะความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกเผยว่า พันธุ์ปลาน้ำจืดราว 1 ใน 4 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และมลภาวะ

ข้อมูลจากบัญชีแดง IUCN เผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change) คือภัยคุกคามหลักที่ทำให้พันธุ์ปลาน้ำจืดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากวัฏจักรของน้ำเกิดความเสียหาย เช่น ระดับน้ำที่สูงขึ้นและลดลง ทำให้น้ำทะเลไหลสู่น้ำจืด

โดยการวิเคราะห์พันธุ์ปลาน้ำจืดอย่างละเอียด IUCN ระบุว่า จากปลาน้ำจืด 15,000 สายพันธุ์ มีมากกว่า 3,000 สายพันธุ์ ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

นอกจากนี้ ปลาแซลมอนแอตแลนติกที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ยังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน โดย IUCN ได้ปรับสถานะแซลมอนแอตแลนติกจาก “น่ากังวลน้อยที่สุด” เป็น "ใกล้ถูกคุกคาม" เนื่องจากมีหลักฐานชี้ว่าจำนวนแซลมอนแอตแลนติกทั่วโลกลดลง 23% ในช่วงปี 2006-2020 ทั้งสาเหตุจากพยาธิในแซลมอน และถูกคุกคามจากสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น

Kathy Hughes ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดและหนึ่งในคณะกรรมาธิการของ IUCN ให้ความเห็นว่า “หากเราต้องการลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ลง เราต้องจัดการระบบนิเวศน้ำจืดให้น้ำสามารถไหลได้อย่างอิสระ มีปริมาณน้ำเพียงพอ และมีคุณภาพน้ำที่ดี ”

วงศ์ปลาเตตร้าแอฟริกันอย่าง Brycinus ferox ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ Turkana ประเทศเคนยา ถือเป็นสายพันธุ์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน จากเดิมที่มีสถานะถูกจัดอยู่ที่ “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์” ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำลดลง