posttoday

AI กับ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่ไม่อาจเลี่ยงเมื่อเทคโนโลยีเติบโต

06 ธันวาคม 2566

AI อาจคล้ายกับพลังที่มองไม่เห็นซึ่งสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยประชากรนับพันล้านต่างได้รับผลกระทบโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตามการมีอยู่ของ AI บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ทุกครั้งที่แอปพลิเคชัน AI ทำการคำนวณตัวเลข วิเคราะห์ข้อมูล หรือตอบคำถาม จะใช้ "หน่วยประมวลผลกราฟิก" หรือ GPU  ซึ่งมักจะถูกเก็บไว้ภายในเซิร์ฟเวอร์ของศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดย GPU เหล่านี้จะใช้พลังงานมากกว่าเดิมถึงสี่เท่าสำหรับการใช้บนระบบคลาวด์

และนั่นหมายความว่าการใช้พลังงานในศูนย์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยสำนักวิจัย McKinsey ประมาณการว่าความต้องการพลังงานของศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 17 กิกะวัตต์ (GW) ในปี  2022 เป็น 35  กิกะวัตต์ (GW) ในปี 2030

Dominic Ward ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทศูนย์ข้อมูล Verne Global กล่าวว่า แนวโน้มดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันทางด้านทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูลยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ศูนย์ข้อมูลในบางประเทศกำลังถูกตีตราว่าใช้ทรัพยากรมากเกินความจำเป็น โดยช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หัวหน้าบริษัทยุทโธปกรณ์ของนอร์เวย์ระบุว่า ศูนย์ข้อมูลของ TikTok ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานของบริษัท ทำให้บริษัทมีไฟฟ้าไม่เพียงพอสำหรับการขยายการผลิต และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขัดขวางแผนการเพิ่มการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครน

นอกจากนี้ ตามศูนย์ข้อมูลแต่ละแห่งยังใช้น้ำในปริมาณมากไปกับระบบทำความเย็น ซึ่งการเข้ามาของ AI จะทำให้ทรัพยากรที่ต้องใช้ในศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เนื่องจาก GPU ที่ต้องใช้พลังงานมากเป็นทุนเดิม จึงต้องการระบบระบายความร้อนที่มากกว่าเซิร์ฟเวอร์ทั่วไป

ข้อมูลยังระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำของ Microsoft เพิ่มขึ้น 34% ในปี 2022 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากการลงทุนของบริษัทไปกับ  generative AI

อย่างไรก็ตาม Andrew Jay หัวหน้าฝ่ายโซลูชันศูนย์ข้อมูล EMEA ของ CBRE ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลสามารถจัดการความร้อนได้อย่งน่าทึ่ง พวกเขามีระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ปัจจัยสำคัญในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของศูนย์ข้อมูลอย่างยั่งยืนคือความพร้อมของพลังงานหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ บางภูมิภาคจึงกุมความได้เปรียบในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล เช่น ในไอซ์แลนด์ที่ระบบกริดไฟฟ้าทั้งหมดเป็นพลังงานทดแทน หรือในฟินแลนด์ซึ่งมีเครือข่ายไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงภูมิภาคในเขตนอร์ดิกยังกุมความได้เปรียบเรื่องสภาพอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้ระบบระบายความร้อน

สำหรับข้อเสียเมื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในพื้นที่ห่างไกลคือจะทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อลดลง แต่ประเทศในแถบนอร์ดิกได้แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับปรุงระบบเชื่อมต่อไฟเบอร์ออปติกเข้ากับตลาดชั้นนำ

Dominic Ward ยังเน้นย้ำว่าแอปพลิเคชัน AI ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในกระบวนการ “ฝึก” AI ดังนั้นหากไม่เริ่มปรับแนวทาง กระบวนการดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่ใช่แค่ในยุโรป แต่เป็นระดับโลก ภายใน 5-10 ปี 

Alex de Vries นักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อ AI เริ่มรุกคืบว่า การขยายศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับการเติบโตของ AI จะทำให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือคือต้องย้อนคิดดูว่าเราจำเป็นต้องใช้ AI มากขนาดนั้นเลยหรือ? เราสังเกตได้ว่าปีนี้มีแอปพลิเคชันมากมายที่พยายามใส่ความเป็น AI ลงไป แม้กระทั่งบริษัทต่างๆก็พยายามยัดเยียด AI เข้ากับผลิตภัณฑ์ของตน และสุดท้ายผลลัพธ์ก็ไม่ได้ออกมาสวยหรูอย่างที่คาดไว้ แต่ความสูญเสียทางทรัพยากรได้เกิดขึ้นจริงไปแล้ว