posttoday

มิติใหม่ทางการแพทย์ การตรวจอัลไซเมอร์และพาร์กินสันผ่านน้ำลาย

06 ธันวาคม 2566

อัลไซเมอร์ และ พาร์กินสัน ถือเป็นโรคทางสมองร้ายแรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อประคองอาการ แต่การตรวจวินิจฉัยก็ทำได้ยากจากข้อจำกัดหลายด้าน แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น ชุดตรวจอัลไซเมอร์และพาร์กินสันผ่านน้ำลาย

เมื่อพูดถึงโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางสมองผู้คนพากันนึกถึงคือ อัลไซเมอร์ และ พาร์กินสัน เป็นอันดับแรกๆ ด้วยโรคทั้งสองชนิดถือเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากความผิดปกติและการเสื่อมสภาพของร่างกาย ไม่สามารถระบุสาเหตุต้นตอการเกิดโรคอย่างแน่ชัด และยังปราศจากแนวทางรักษาให้หายขาด

 

          แม้แนวทางรักษาปัจจุบันยังไม่สามารถช่วยให้หายจากอาการนี้ได้ แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ เป็นไปได้สูงว่าจะช่วยทุเลาและประคับประคองอาการได้ยาวนาน ช่วยขยายเวลาให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตตามปกติไปได้อีกหลายปี น่าเสียดายที่เรื่องแบบนั้นกลับมีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

 

          วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคทางสมองกันเสียหน่อยว่าเหตุใดจึงกลายเป็นข้อจำกัด

 

มิติใหม่ทางการแพทย์ การตรวจอัลไซเมอร์และพาร์กินสันผ่านน้ำลาย

 

ปัญหาจากแนวทางตรวจวินิจฉัยโรคทางสมอง

 

          ตามที่กล่าวไปข้างต้นการรับมือโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินกันได้ดีที่สุดคือ ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรก นอกจากช่วยประคับประคองอาการ ยืดเวลาให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เริ่มแสดงอาการ รวมถึงโอกาสเรียนรู้และปรับตัวของผู้ป่วยรวมถึงคนรอบข้าง

 

          แต่ในความจริงโอกาสในการตรวจพบโรคทางสมองในช่วงเริ่มต้นถือเป็นเรื่องยาก ด้วยผู้ป่วยส่วนมากมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุนี้เองทำให้กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นคือเรื่องปกติตามวัยหรือความผิดปกติจากโรค

 

          กระทั่งในกลุ่มแพทย์เฉพาะทางเองการวินิจฉัยรายละเอียดยังเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยการตรวจสอบอาการเบื้องต้นและซักประวัติค่อนข้างละเอียดซึ่งกินเวลามาก ในกรณีมีแนวโน้มและต้องการยืนยันความผิดปกติให้แน่ชัดก็จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือการแพทย์เฉพาะทาง

 

          นี่เองจึงเป็นข้อจำกัดของขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคทางสมองในปัจจุบัน ทั้งการเอ็กซ์เรย์, การตรวจ MRI, ตรวจวัดการทำงานของสมอง ไปจนการเจาะไขสันหลัง แม้จะเป็นรูปแบบการตรวจที่สามารถชี้วัดผลได้แม่นยำ แต่ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นก็ทำให้ผู้ป่วยไม่เต็มใจเข้ารับการตรวจเท่าไหร่นัก

 

          อีกหนึ่งข้อจำกัดสำคัญในการเข้ารับการตรวจโรคทางสมองคือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล แต่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรือผู้อยู่พื้นที่ห่างไกลการเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อรวมกับข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายยิ่งทำให้โอกาสเข้ารับการตรวจน้อย ทำให้ผู้ป่วยพลาดโอกาสในการรักษาไป

 

          แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีแนวคิดพัฒนาอุปกรณ์ตรวจอัลไซเมอร์และพาร์กินสันผ่านน้ำลายและสามารถทำได้ง่ายที่บ้าน

 

มิติใหม่ทางการแพทย์ การตรวจอัลไซเมอร์และพาร์กินสันผ่านน้ำลาย

 

แนวคิดพัฒนาอุปกรณ์ตรวจโรคทางสมองอย่างง่ายแบบพกพา

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of California - San Diego ร่วมกับมหาวิทยาชั้นนำมากมาย กับการคิดค้นอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยโรคทางสมองรูปแบบใหม่ สู่เครื่องมือพกพาที่สามารถตรวจโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันที่สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา

 

          แนวคิดนี้เริ่มต้นจากความพยายามพัฒนาการตรวจหาโปรตีน Amyloid beta กับ Tau peptide ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และโปรตีน Alpha-synuclein ตัวบ่งชี้สำคัญของโรคพาร์กินสันจากช่องทางน้ำลายหรือปัสสาวะ แทนที่จะใช้การตรวจผ่านอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่แบบเดิมๆ

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้เริ่มดัดแปลงจากแนวคิดอุปกรณ์ชุดตรวจโควิดที่พวกเขาคิดค้น สู่การไบโอเซ็นเซอร์ความไวสูงความหนาระดับอะตอมคอยทำหน้าที่ประมวลผล เชื่อมต่อเข้ากับขั้วไฟฟ้าของแบตเตอรี่ และสายดีเอ็นเอทำหน้าที่ตรวจจับโปรตีนโดยเฉพาะอย่าง Aptamer ที่จะแสดงปฏิกิริยาเมื่อได้รับสารประกอบที่กำหนดจากตัวอย่างที่ทำการทดสอบ

 

          กลไกการทำงานของอุปกรณ์นี้คือการหยดสารประกอบที่น่าจะมีโปรตีนชนิดที่กำหนดอยู่ หากตรวจพบโปรตีนชนิดที่กำหนดจะทำการแจ้งเตือนออกมา โดยสามารถส่งแจ้งเตือนและเก็บบันทึกผลการตรวจผ่านสมาร์ทโฟนที่ทำการเชื่อมต่อ เพื่อนำไปใช้อ้างอิงทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

 

          จุดเด่นของการทดสอบในรูปแบบนี้คือ เซ็นเซอร์สามารถทำงานได้เป็นอย่างดีแม้จะมีการปะปนของโปรตีนหลายชนิดในตัวอย่าง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดได้แม้ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำมาก ช่วยให้สามารถลดปริมาณตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบให้เหลือเพียงไม่กี่ไมโครลิตร รวมถึงอาจเปลี่ยนตัวอย่างที่ใช้ทดสอบไปเป็นสารชนิดอื่นที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า

         

          จากการทดสอบตรวจหาโปรตีนชนิดที่กำหนดจากเซลล์สมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพาร์กินสันที่เสียชีวิตพบว่า เซ็นเซอร์สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมีความแม่นยำเทียบเท่าอุปกรณ์การแพทย์เฉพาะทาง นั่นทำให้พวกเขาวางแผนจะทดสอบการตรวจหาโปรตีนผ่านเลือดต่อไป

         

          โดยเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือการสามารถตรวจโรคทางสมองทั้งสองชนิดผ่านน้ำลายหรือปัสสาวะ

 

 

          จริงอยู่ตัวอุปกรณ์ยังอยู่ในขั้นระหว่างการค้นคว้าวิจัย จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมากเพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่พวกเขาจะทำการทดสอบภายในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถขออนุมัติการใช้งานเป็นทางการจากทาง FDA ภายในหนึ่งปี แม้จะยังไม่ทราบว่าต้นทุนการตรวจต่อครั้งจะมีราคาเท่าใดก็ตาม

 

          อีกไม่ช้าบางทีการตรวจโรคอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันอาจทำได้ง่ายและสะดวกเหมือนการตรวจโควิดก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/alzheimer-dementia

 

          https://www.phyathai.com/th/article/1919-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99___parkinsons_disease_branchpyt3

 

          https://newatlas.com/medical/portable-device-alzheimers-parkinsons-biomarkers/

 

          https://today.ucsd.edu/story/this-wireless-handheld-non-invasive-device-detects-alzheimers-and-parkinsons-biomarkers