posttoday

รองผอ. APERC แนะ โลกไม่ควรเร่งเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

25 พฤศจิกายน 2566

Glen Sweetnam รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิก (APERC) ชี้ ยิ่งโลกเร่งเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมากเท่าไหร่ ราคาพลังงานทางเลือกยิ่งเพิ่มตามไวเท่านั้น เหตุต้นทุนการผลิตยังสูง Mass Production ยังไม่เกิด แนะหาจุดสมดุลในราคาจับต้องได้

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) จัดงานสัมนา CARBON NEUTRALITY UPDATE AND CHALLENGES; Is 2050 Target Realistic for Thailand เพื่ออัปเดตข้อมูลเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับประเทศไทยว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2050 ได้หรือไม่ โดยได้รับเกียรติบรรยายจาก Glen Sweetnam รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Centre (APERC)

Glen Sweetnam กล่าวว่าช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การจัดหาพลังงานหลักทั่วโลกมีการเติบโตที่อัตรา 1.7% ต่อปี  การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของประชากร และการพัฒนาในด้านอื่นๆ ส่งผลให้เรามีความต้องการด้านพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งข้อมูลในปี 2021 ระบุว่า การใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีสัดส่วนถึง 79%

เมื่อเราพูดถึงการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero เชื้อเพลิงฟอสซิลต้องถูกแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ และต้องลดสัดส่วนการใช้ลงจาก 79% ให้เหลือ 18% 

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเราจะมีพิธีสารเกียวโต ที่ทุ่มเทดำเนินงานอย่างหนักมาเป็นเวลากว่า 35 ปี เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ทุกวันนี้เรากลับปล่อยก๊าซมลพิษมากกว่าในอดีต

การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนหรือลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วงกลางทศวรรษ 1970 สหรัฐฯ เกิดวิกฤตพลังงานที่ทำให้เราต้องพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันลง ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

เราได้คาดการณ์สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้สัดส่วนการใช้เกิน 10% แล้ว แต่สำหรับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทางการทุ่มเทอย่างหนักในการผลักดันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีสัดส่วนการใช้แค่ 4% ของพลังงานหลักในสหรัฐฯ ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือ เรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ทำไมเทคโนโลยีบางประเภทจึงได้รับความนิยม แต่เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กลับไม่ดึงดูดความสนใจจากคนส่วนใหญ่ ความนิยมคงอยู่แค่ช่วงปี 2000 เท่านั้นก่อนจะค่อยๆอยู่ในระดับทรงตัว

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างรวดเร็วได้แก่ ปัจจัยด้านราคาว่าพลังงานทางเลือกมีราคาที่ถูกกว่าพลังงานเดิมที่เราเคยใช้กันหรือไม่ ซึ่งสืบเนื่องไปถึงต้นทุนการผลิต และข้อจำกัดทางโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ 

หลายอุตสาหกรรมกำลังดิ้นรนหาแนวทางเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่จำเป็นต้องใช้วัสดุอย่างโคบอลต์ ทองแดง ลิเธียม นิกเกิล รวมถึงแร่หายากอื่นๆ ที่ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าอาจสูงเกินไปจนประชาชนจับต้องได้ยาก อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์และกังหันลมก็เช่นกัน และสิ่งที่น่าจับตาที่สุดคือยิ่งโลกของเราเร่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมากแค่ไหน ราคาวัสดุเหล่านี้ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากเท่านั้น

รถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในเรื่องการช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยเองก็เช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราต้องพิจารณามีมากกว่าแค่การเลิกใช้รถยนต์เครื่องสันดาปภายใน หากเรากำลังพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจริง สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆคือกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก รวมถึงต้องขุดหาแร่จำนวนมหาศาลเพื่อใช้เป็นวัสดุผลิตแบตเตอรี่

แน่นอนว่าการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์เครื่องสันดาป ส่งผลดีในแง่ของการลดมลพิษบนท้องถนน และในระดับท้องถิ่น แต่หากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกแค่การปรับมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผลลัพธ์ไม่ได้เป็นที่ประจักษ์ขนาดนั้น นั่นไม่ใช่แนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซแต่เป็นการถ่ายโอนหรือย้ายสถานที่ที่เกิดมลพิษเท่านั้น 

นอกจากนี้ เมื่อไทยปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 25% ซึ่งปัญหาที่จะเกิดตามมาคือ ไทยต้องเร่งผลิตพลังงานไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ถึงจะตอบสนองได้ทันตามความต้องการ ทั้งในภาคยานยนต์และภาคครัวเรือน

ขณะที่การพึ่งพาวัสดุเพื่อผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จีนถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งความเสี่ยงทางธุรกิจอาจเกิดขึ้นได้หากมีการพึ่งพิงกันมากเกินไป 

ในปัจจุบัน ความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆอย่างไฮโดรเจนก็มีราคาสูงเกินไป ส่วนพลังงานไฟฟ้าก็ไม่สามารถทำความร้อนในกระบวนการผลิตได้ในระดับที่ต้องการ

เทคโนโลยี CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นแนวคิดที่เริ่มถูกจับตามากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้ความร้อนสูง แต่ประเด็นคือความเป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยี CCUS  และไฮโดรเจนจะสามารถนำไปใช้อย่างแพร่หลายได้มากแค่ไหน? 

ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนตอนนี้อยู่ที่ 35 เหรียญสหรัฐฯ /MMBTU ขณะที่ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐฯ /MMBTU ซึ่งเฉลี่ยแล้วราคาไฮโดรเจนนั้นสูงกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 4 เท่า และไม่ว่าจะพยายามลดต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนลงแค่ไหน ความสามารถในการแข่งขันในตลาดก็ยังสู้ก๊าซธรรมชาติไม่ได้

กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีต้นทุนต่ำไปสู่พลังงานสะอาดที่ยังมีต้นทุนการผลิตสูงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเราเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานมากเท่าไหร่ ราคาพลังงานสะอาดยิ่งเพิ่มตามอย่างรวดเร็วเท่านั้น 

วิธีแก้ปัญหาที่พอจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือ ประมาณการประโยชน์ที่ได้และต้นทุนทั้งหมดของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, เทียบต้นทุนสัมพันธ์และประโยชน์ระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแผนปรับตัวเพื่อรับเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาใช้ 

การบูรณาการและวางแผนทรัพยากรต้องคำนวณต้นทุนของระบบพลังงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่ภาคส่วนเดียวและต้องประเมินภาระที่จะเพิ่มขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ 

ดังนั้น การหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพของพลังงานทดแทน ความสามารถในการรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ และความสามารถในการจับจ่ายของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และพึงตระหนักไว้ว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาน”