posttoday

อีกระดับของความยั่งยืน การนำเคสสมาร์ทโฟนไปปลูกพืช

10 พฤศจิกายน 2566

เคสสมาร์ทโฟน หนึ่งในอุปกรณ์เสริมที่มีการใช้งานกันแพร่หลาย แต่ทราบหรือไม่ว่าแต่ละปีมีเคสสมาร์ทโฟนถูกทิ้งกว่า 1 พันล้านชิ้น สร้างขยะพลาสติกขึ้นมามหาศาล นำไปสู่การคิดค้นหาแนวทางแก้ไขอย่าง เคสสมาร์ทโฟนที่สามารถนำไปปลูกพืชได้

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผลักดันสมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จากคุณสมบัติครอบจักรวาลสามารถทำทุกสิ่งได้รอบด้าน ตั้งแต่ติดต่อสื่อสาร, ถ่ายรูป, จ่ายเงิน, อ่านหนังสือ, ท่องอินเทอร์เน็ต แม้แต่ช่วงเวลาเรียนและทำงานก็มีการใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

         เมื่อมีการใช้งานสมาร์ทโฟนกันทั่วไปสิ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันย่อมเป็น เคสสมาร์ทโฟน อีกหนึ่งส่วนเสริมที่ได้รับการให้ความสำคัญจากคนทุกกลุ่มไม่แพ้สายชาร์จ เพราะไม่เพียงสามารถนำมาใช้ประดับเพื่อเพิ่มความสวยงาม แต่ยังมีคุณสมบัติช่วยปกป้องสมาร์ทโฟนของเราจึงมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย

 

         แต่ภายใต้ความนิยมในการใช้งานนี้เอง เคสสมาร์ทโฟนก็มีส่วนในการเป็นต้นตอของปัญหาไม่แพ้กัน

 

อีกระดับของความยั่งยืน การนำเคสสมาร์ทโฟนไปปลูกพืช

 

เคสสมาร์ทโฟน อีกหนึ่งเรื่องเล็กที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่

 

         ปัจจุบันมีการใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟนกันทั่วไปในเกือบทุกมุมโลก จากการรวบรวมสถิติจำนวนการใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ 6.37 พันล้านเครื่อง สำหรับประเทศไทยมีอัตราการใช้งานราว 57.5 ล้านเครื่อง เรียกได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและโลกล้วนใช้สมาร์ทโฟนแทบทั้งสิ้น

 

         แน่นอนเมื่อมีการใช้งานสมาร์ทโฟนจำนวนมากอัตราการใช้งานเคสสมาร์ทโฟนยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ บางส่วนยังมองเจ้าอุปกรณ์เสริมชิ้นนี้ไม่ได้เพียงใช้สำหรับป้องกันแต่เป็นแฟชั่นประดับตกแต่ง ยิ่งทำให้อัตราการใช้งานเคสสมาร์ทโฟนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าสร้างสีสันแก่วงการ

 

         นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้เคสสมาร์ทโฟนกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัว โดยพื้นฐานเคสสมาร์ทโฟนได้รับการผลิตให้ใส่เฉพาะรุ่นที่กำหนด ไม่สามาถใช้ข้ามรุ่นได้ ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเราก็จำเป็นต้องทิ้งเคสทั้งหมดอย่างช่วยไม่ได้ และจากค่าเฉลี่ยอายุการใช้งานสมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องอยู่ที่ 2- 3 ปี นำไปสู่การเกิดขยะปริมาณมหาศาล

 

         ตามปกติวัสดุที่ใช้ในการผลิตเคสสมาร์ทโฟนมักผลิตจากพลาสติก ขยะชนิดนี้จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังวิกฤติทั่วโลกให้ทวีความรุนแรง ทั้งจากการเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ นำไปสู่การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกที่แพร่กระจายไปทั่วโลก สร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

         แต่ละปียอดจำหน่ายของเคสสมาร์ทโฟนมีมากกว่าพันล้านชิ้น แต่ละชิ้นมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20 กรัม ทำให้เรามีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจากเคสสมาร์ทโฟนมากกว่า 20,000 ตัน/ปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนรุ่นและอัตราการแข่งขันของบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก

 

         นั่นทำให้หลายภาคส่วนเริ่มมองหาตัวเลือกอื่นนอกจากพลาสติกในการผลิตเคสสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช่นกัน

 

อีกระดับของความยั่งยืน การนำเคสสมาร์ทโฟนไปปลูกพืช

 

เคสสมาร์ทโฟนชิ้นใหม่ที่สามารถนำมาปลูกผักได้ทันที

 

         ผลงานนี้เป็นของบริษัท iGreen gadgets กับการคิดค้น iGreen cover เคสสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงทำการผลิตเคสสมาร์ทโฟนจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ แต่สามารถนำเคสที่ยุติการใช้งานมาหว่านลงดินและนำมาใช้ปลูกพืชได้ทันที

 

         พวกเขาไม่ใช่เจ้าแรกที่มีแนวคิดในการผลิตเคสสมาร์ทโฟนรักษ์โลก อันที่จริงความพยายามในการนำวัสดุทดแทนมาใช้ผลิตเคสมือถือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการผลิต ไปจนวัสดุตามธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ล้วนได้รับความสนใจใช้งานทดแทนขยะพลาสติกทั้งสิ้น จนมีการผลิตจัดจำหน่ายทั่วไปแม้แต่ในประเทศไทย

 

         อย่างไรก็ตามแม้ได้รับการผลิตและพัฒนาให้รักษาสิ่งแวดล้อม บางส่วนยังจำเป็นต้องผ่านกระบวนการหรือได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีจึงสามารถย่อยสลายได้ แต่เมื่อประเมินจากแนวทางจัดการและปริมาณขยะในแต่ละปี เป็นไปได้ว่าวัสดุย่อยสลายได้ก็อาจยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาขยะเช่นเดิม

 

         นำไปสู่การพัฒนาเคสสมาร์ทโฟนชนิดใหม่ที่ได้รับการพัฒนาจากเมล็ดพันธุ์พืช ตามปกติอุปกรณ์นี้จะอยู่ในฐานะเคสสมาร์ทโฟนทั่วไป แต่เมื่อผู้ใช้ต้องการยุติการใช้งาน สิ่งที่ต้องทำมีเพียงการนำเคสนี้ไปฝังในดินที่อุดมสมบูรณ์ รดน้ำแล้วนำไปตากแดดอย่างพอเหมาะ เคสสมาร์ทโฟนจะย่อยสลายตัวเองและเติบโตขึ้นมาเป็นต้นพืชในที่สุด

 

         ปัจจุบัน iGreen cover เป็นเคสสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานกับสมาร์ทโฟนรุ่น Iphone 13 เป็นต้นไป มีทั้งหมด 3 สี ได้แก่สีเขียวที่งอกออกมาเป็นต้นโหระพา, สีเหลืองงอกออกมาเป็นดอกเดซี่ และสีฟ้าที่จะงอกออกมาเป็นดอก Forget me not สนราคาต่อชิ้นอยู่ที่ 17.99 ยูโร(ราว 683 บาท)

 

         ถือเป็นอีกแนวทางจัดการขยะจากเคสสมาร์ทโฟนที่ไม่เพียงช่วยสิ่งแวดล้อมแต่ยังได้ต้นไม้สวยๆ มาปลูกอีกด้วย

 

 

         จริงอยู่เคสสมาร์ทโฟนนี้อาจจำกัดการใช้งานในกลุ่มผู้ใช้ไอโฟนเป็นหลักแต่เป้าหมายของพวกเขาไม่ได้มีเท่านั้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่สามารถย่อยสลายได้หลังสิ้นสุดการใช้งาน ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างลำโพง หรือข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปอย่างดินสอ ผ้าเช็ดตัว ไปจนเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะลงได้มาก

 

         คงต้องรอดูต่อไปว่านอกจากอุปกรณ์ที่กล่าวไปข้างต้นพวกเขาจะผลิตสินค้าชนิดใดขึ้นมาให้ใช้งานอีก

 

 

         ที่มา

 

         https://marketeeronline.co/archives/266656

 

         https://www.vgadz.com/tips-to-buy-phone-case-phone-screen/

 

         https://www.thansettakij.com/lifestyle/438764

 

         https://aa-88162.medium.com/the-1-billion-plastic-phone-case-problem-4f4431e227ce