posttoday

จีน-สหรัฐฯ-ยุโรป จับมือ หาทางรับมือความเสี่ยงจาก AI

02 พฤศจิกายน 2566

จีนยอมร่วมมือสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินงานที่ปลอดภัยสำหรับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

ผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและผู้นำทางการเมืองบางส่วน ระบุว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ก่อให้เกิดภัยคุกคามหากยังไร้มาตรการควบคุม โดยจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างรัฐบาลและสถาบันระหว่างประเทศ

การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ Bletchley Park ในสหราชอาณาจักร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของชาติตะวันตกที่พยายามจัดการและพัฒนาความปลอดภัย ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการของจีน ได้เข้าร่วมกับผู้นำสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง Elon Musk และ  Sam Altman ซีอีโอจาก OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT

ปัจจุบัน ประเทศที่ลงนามในปฏิญญา Bletchley มีมากกว่า 25 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป โดยระบุว่า ประเทศต่างๆ ต้องทำงานและหาแนวทางร่วมกันในการกำกับดูแล

ปฏิญญาดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก AI จนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงสร้างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ และปรับปรุงนโยบายระหว่างประเทศ

ขณะที่ ช่วงที่ผ่านมาสหภาพยุโรปจะมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัวจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน 

Wu Zhaohui รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า ปักกิ่งพร้อมเพิ่มขีดความร่วมมือด้านความปลอดภัยของ AI เพื่อสร้าง "กรอบการกำกับดูแล" ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ทุกประเทศยังมีความเท่าเทียมกันที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และพัฒนาไปพร้อมกัน

ความกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว เมื่อ OpenAI เปิดตัวแชทบอทปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT ที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงความสามารถในการใช้ภาษาที่มีความเป็นธรรมชาติและใกล้เคียงกับมนุษย์

การประชุมในครั้งนี้ เป็นแนวคิดของ Rishi Sunak นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ต้องการสร้างจุดยืนของประเทศในฐานะคนกลางของโลก AI ระหว่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการประชุมครั้งนี้ หากพิจารณาจากบทบาทประเทศกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แม้สมาชิกสภานิติบัญญัติของอังกฤษบางส่วนจะแสดงความกังวลของการมีส่วนร่วมของจีนในครั้งนี้