posttoday

สงครามราคากดดันยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมรถ EV (1)

04 ตุลาคม 2566

รถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการยนตรกรรมและอุตสาหกรรมพลังงาน ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่หลายรายต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ

แม้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่จะเร่งปรับตัวด้วยการลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Tesla, BYD และ Xpeng ถือเป็นบริษัทที่อยู่แนวหน้าในอุตสาหกรรมนี้

ในปี 2022 Tesla ได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 1.31 ล้านคัน ขณะที่ BYD มียอดขายเพิ่มขึ้น 3 เท่า จนยอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022 มีมากกว่า 900,000 คัน แต่หากรวมยอดกับรถปลั๊กอินไฮบริดแล้ว ตัวเลขส่งมอบของ BYD เพิ่มขึ้นเกือบแตะ 1.86 ล้านคัน

ส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ Volkswagen, Audi และ Porsche รวมกันอยู่ที่ 572,100 คัน ขณะที่ Chrysler และ Jeep มียอดขายรวมกัน 288,000 คัน ส่วน Toyota, Ford และ General Motors (GM) ยังถือว่าตามหลังอยู่อีกมาก

ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไปแล้วทั่วโลก จีนถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่กำลังครองตลาดนี้และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา กำลังพยายามตีตื้นขึ้นมาเพื่ออยู่แนวหน้าในตลาดนี้

ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ช่วงปี 2015 - 2022 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Volkswagen, General Motors, Toyota, Stellantis, Honda (HMC), the Renault-Nissan-Mitsubishi alliance, Ford, Hyundai-Kia, Geely, Mercedes-Benz และ BMW มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงมากกว่า 55%

ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนแบ่งการตลาดรวมของ Tesla และ BYD เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็นมากกว่า 30%

ธนาคาร UBS บริษัทจัดการลงทุนรายใหญ่ของโลกมองว่าภายในปี 2030 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีนอาจมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดครั้งใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะ Volkswagen และ General Motors ที่ลงทุนมหาศาลในจีน แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับบริษัทผู้ผลิตในท้องถิ่น

สงครามอันดุเดือดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ต่างประกาศว่าจะลงทุนมากกว่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า จนถึงปี 2030 รวมถึงตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อลดความได้เปรียบของ Tesla และคู่แข่งจากบริษัทจีนลง แต่นักวิเคราะห์ของ UBS ให้ความเห็นว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปจะคุ้มหรือไม่ ซึ่งการพยายามไล่ตาม Tesla และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนถือเป็นเรื่องยากมาก

นอกจากนี้ เมื่อบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำปรับรูปแบบมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหาเรื้อรังด้านห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้าถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยมลพิษลงได้ ขณะที่ทางฝั่งยุโรปและอเมริกากำลังวางแผนห้ามจำหน่ายรถยนต์สันดาปในอนาคต อย่างไรก็ตาม เรื่องราคายังเป็นปัญหาใหญ่ที่รถยนต์ไฟฟ้าต้องปรับให้คนส่วนใหญ่สามารถจับต้องได้ 

ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ชี้ว่า ผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าถือว่ามีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ขณะที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำทำให้สามารถตั้งราคารถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงได้ สิ่งนี้เป็นจุดได้เปรียบที่ทำให้บริษัทจากจีนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ