posttoday

มิติใหม่ทางการแพทย์ Exoskeleton สำหรับดูแลผู้ป่วย

09 ตุลาคม 2566

Exoskeleton ชุดเพิ่มพลังให้แก่ผู้สวมใส่ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากแวดวงอุตสาหกรรมและการแพทย์ และล่าสุดเริ่มมีการออกแบบชุดนี้ไว้สำหรับใช้งานรองรับการดูแลผู้ป่วย

เมื่อพูดถึงชุดเกราะไฮเทคที่ช่วยเพิ่มพละกำลังแก่ผู้สวมใส่ หลายท่านอาจคิดว่าอุปกรณ์ประเภทนี้สามารถพบเห็นได้เพียงในภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงชนิดต่างๆ แต่อันที่จริงนี่เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการคิดค้นและประสบความสำเร็จในการพัฒนามาเป็นเวลานานในชื่อ Exoskeleton

 

          เดิมเทคโนโลยีนี้ได้รับการออกแบบให้ใช้ในทางการทหารมาเป็นเวลานาน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่และพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่ได้รับความนิยม เมื่อเวลาผ่านไปความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น ปัจจุบันจึงเริ่มมีการใช้งานชุดนี้ในหลากหลายสายงานตามไปด้วย

 

          โดยล่าสุดเริ่มมีการพัฒนา Exoskeleton เพื่อนำไปใช้รองรับในงานดูแลผู้ป่วยขึ้นมา

 

มิติใหม่ทางการแพทย์ Exoskeleton สำหรับดูแลผู้ป่วย

 

ชุดจอมพลังสำหรับดูแลผู้ป่วย

 

          ผลงานนี้เป็นของบริษัท German Bionic กับการเปิดตัว Apogee+  ชุด Exosuit รุ่นใหม่จากเทคโนโลยี Exoskeleton ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการดูแลผู้ป่วย ตัวชุดจะช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้ดูแล ให้สามารถดูแลรักษาและสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          ปัญหาสำคัญของเจ้าหน้าที่การแพทย์คือ การดูแลผู้ป่วยต้องใช้พละกำลังและร่างกายเป็นอย่างมาก หลายครั้งต้องช่วยพยุง ประคอง ไปจนอุ้มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหรือทำกายภาพบำบัด ซึ่งสร้างภาระแก่ร่างกายจนนำไปสู่ความเครียดและเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ

 

          จริงอยู่มีการออกแบบอุปกรณ์สนับสนุนหลายชนิด ทั้งเครนยกน้ำหนักหรือราวช่วยประคอง แต่อุปกรณ์เหล่านั้นขาดความคล่องตัวและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ค่อนข้างเป็นปัญหาในการใช้งานจริง นำไปสู่การพัฒนา Exoskeleton ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วย

 

          ตัวชุดได้รับการออกแบบให้รองรับการประคองและพยุงผู้ป่วย ช่วยรองรับน้ำหนักแก่ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 30 กิโลกรัม ออกแบบให้มีราวจับเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ในการพยุงร่างกาย ตัววัสดุยังได้รับการออกแบบให้กันน้ำจึงสามารถใช้พาผู้ป่วยไปอาบน้ำ อีกทั้งยังสามารถนำมาถอดเพื่อเช็ดล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้สะดวก

 

          ในส่วนแบตเตอรี่ที่เป็นแกนกลางสำคัญรองรับการใช้งานเป็นเวลา 4 – 5 ชั่วโมง อาจน้อยไปนิดสำหรับการใช้งานตลอดวัน แต่นี่จะเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อโรงพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์ดูแลสุขภาพต่างๆ โดยสนนราคาเริ่มต้นที่ 9,990 ดอลลาร์(ราว 356,000 บาท) หรืออัตราค่าเช่ารายเดือนอยู่ที่ 299 ดอลลาร์ (ราว 10,700 บาท)

 

มิติใหม่ทางการแพทย์ Exoskeleton สำหรับดูแลผู้ป่วย

 

Exoskeleton เทคโนโลยีแห่งอนาคต

 

          การใช้งานเทคโนโลยี Exoskeleton ไม่ได้จำกัดเพียงในด้านการดูแลผู้ป่วย ปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาจนมีการนำมาใช้งานหลายด้าน จากคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและรักษาสวัสดิภาพของผู้ใช้งาน ซึ่งทางผู้พัฒนาเชื่อว่า ในอนาคต Exosuit จะเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้และใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน

 

          กลุ่มที่สนใจนำ Exoskeleton ไปใช้งานคือ ภาคอุตสาหกรรม อย่างผลิตภัณฑ์จากบริษัท SuitX ตัวชุดได้รับการออกแบบให้ลดภาระของกล้ามเนื้อส่วนหลัง, บ่า, เขา และแขน ช่วยลดโอกาสและอัตราการบาดเจ็บให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน จึงลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้นตามไปด้วย

 

          ลำดับต่อมาคือ บริษัท Bioservo ที่พัฒนาอุปกรณ์ Iron hand ถุงมือตรวจจับสัญญาณที่มีมอเตอร์อยู่ภายในแต่ละนิ้ว สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานหยิบจับสิ่งของและรองรับน้ำหนักของวัตถุได้มากขึ้น เพิ่มความแข็งแรงและพละกำลังในส่วนมือจากเดิม 20% และลดภาระกล้ามเนื้อมือและนิ้ว มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับงานทีต้องใช้พละกำลังควบคู่ความละเอียดอ่อน

 

          เทคโนโลยีนี้ยังช่วยขยายขีดความสามารถของมนุษย์อย่างน่าทึ่ง จากชุด Exoskeleton ของทางบริษัท Sarcos Robotics ที่ออกแบบชุดสำหรับพนักงานซ่อมบำรุงภาคพื้นดิน พบว่าตัวชุดสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานรองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 80 กิโลกรัม และใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 8 ชั่วโมง

         

          นอกจากถูกใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว Exoskeleton ยังถูกใช้งานแพร่หลายในแวดวงการแพทย์ โดยเฉพาะการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยอัมพาตช่วงล่าง ประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บต่างๆ ช่วยประคองให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาลุกขึ้นยืน เสริมสร้างฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้พร้อมสำหรับกลับมาเดินตามปกติได้อีกครั้ง

 

          ล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาใช้ Exoskeleton สำหรับการท่องเที่ยวผจญภัย ด้วยตัวชุดที่จะมีหน้าตาคล้ายสนับแข้งและเข่าช่วยพยุงร่างกายในการเดินเหิน ลดภาระกล้ามเนื้อ ช่วยให้สามารถปีนเข่าและเดินป่าได้เป็นเวลานาน อีกทั้งด้วยขนาดกระทัดรัดและถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ จึงน่าจะได้รับความนิยมสำหรับผู้ชอบความท้าทาย

 

          ทั้งหมดคือการพัฒนา Exoskeleton ในปัจจุบัน และคาดว่าเราอาจได้เห็นการใช้งานทั่วไปในไม่ช้า

 

 

 

          แน่นอนว่าการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้จบลงเท่านี้ ในอนาคตอาจมีการพัฒนา Exoskeleton สำหรับรองรับการทำงานในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกร หรือการพัฒนาชุดสำหรับรองรับการเดินและเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้ผู้พิการสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง

 

          นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมน่าจับตามองและอาจได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างแพร่หลายในอนาคต

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.bbc.com/thai/international-56891165

 

          https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=3669

 

          https://newatlas.com/outdoors/hypershell-packable-ai-exoskeleton/

 

          https://newatlas.com/robotics/german-bionic-apogee-plus-powered-exoskeleton/