posttoday

สู่มหาอำนาจอวกาศรายใหม่ Chandrayaan ของอินเดียลงจอดบนดวงจันทร์

25 สิงหาคม 2566

ความสำเร็จของอินเดียในการส่งยาน Chandrayaan-3 ลงจอดบนดวงจันทร์ อาจไม่ได้รับความสนใจนักด้วยนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่สำหรับในเชิงเทคโนโลยีนี่ไม่ใช่เพียงการก้าวสู่มหาอำนาจอวกาศของอินเดีย แต่อาจเป็นก้าวแรกสำหรับการตั้งอาณานิคมบนอวกาศในอนาคต

เทคโนโลยีอวกาศ ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างอีกครั้งในช่วงหลัง ทั้งจากบริษัทเอกชนที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยวและมีเป้าหมายในการตั้งรกรากบนอวกาศ ไปจนภาครัฐของนานาประเทศซึ่งทยอยส่งยานอวกาศเพื่อไปสำรวจทรัพยากรไม่ขาดสาย

 

          แน่นอนว่านั่นย่อมนำไปสู่การแข่งขันครั้งใหญ่จากนานาประเทศ ทั้งจากมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯซึ่งหมายมั่นปั้นมือกับโครงการ Artemis เช่นเดียวกับชาติอื่นไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีน ไปจนประเทศที่ไม่เคยมีชื่อด้านนี้ต่างเริ่มสนใจจนทยอยส่งยานอวกาศขึ้นสู่ฟากฟ้าอย่างต่อเนื่อง

 

          นำไปสู่ความสำเร็จของอินเดียในวันนี้ที่สามารถส่งยานอวกาศลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์

 

สู่มหาอำนาจอวกาศรายใหม่ Chandrayaan ของอินเดียลงจอดบนดวงจันทร์

 

Chandrayaan-3 กับการลงจอดบนดวงจันทร์

 

          ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2023 ในช่วงเวลาประมาณ 19:32 ตามเวลาประเทศไทย เมื่อยานอวกาศ Chandrayaan-3 ของอินเดีย ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ บนพื้นขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ บริเวณหลุมอุกกาบาต Manzinus และ Simpelius

 

          นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศสู่ดวงจันทร์ และสามารถลงจอดบนพื้นผิวได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศสามารถลงจอดบนบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งจะกลายเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียและมนุษยชาติ

 

          ภารกิจที่ยาน Chandrayaan-3 ได้รับคือ การสำรวจพื้นที่แถบบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลที่เคยได้รับจากยาน Chandrayaan-1 ว่า มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นผิวบริเวณขั้วโลกหลายจุด ด้วยปัจจัยทางด้านอุณหภูมิต่ำกว่า -163 องศาเซลเซียสและไม่ได้รับแสงอาทิตย์เป็นเวลานาน

 

          การสำรวจของอินเดียในครั้งนี้จึงได้รับการจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากพวกเขาเป็นชาติแรกที่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรนี้ก่อนใคร ช่วยให้รวบรวมข้อมูลและเก็บตัวอย่างโดยสะดวก ไปจนสามารถตรวจสอบแหล่งน้ำ สิ่งเจือปน ไปจนแร่ธาตุที่มีอาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

 

          ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้อินเดียถือเป็นชาติที่ 4 ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจอาจทำให้อินเดียกลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอวกาศรายใหม่ ต่อจาก สหรัฐ, รัสเซีย และจีนเป็นลำดับต่อไปอีกด้วย

 

          วันนี้เราจึงมาย้อนมองก่อนจะมาถึงความสำเร็จกันเสียหน่อยว่าที่กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

 

สู่มหาอำนาจอวกาศรายใหม่ Chandrayaan ของอินเดียลงจอดบนดวงจันทร์

 

จากวันนั้นสู่วันนี้กับการส่งยานไปดวงจันทร์

 

          บางท่านอาจแปลกใจเรื่องที่อินเดียส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ แต่หากติดตามข่าวสารจะทราบว่าพวกเขาพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมายาวนาน เห็นได้จากกรณีของยาน Chandrayaan-1 ในปี 2008 ที่นำข้อมูลเรื่องธารน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้ของดวงจันทร์เองก็เป็นยานอวกาศของอินเดีย

 

          จากข้อมูลนี้เองที่กระตุ้นความสนใจของทั่วโลกที่มีต่อเทคโนโลยีอวกาศให้หวนกลับมาอีกครั้ง ภายหลังความสนใจของสองมหาอำนาจที่ต้องการแสดงแสงยานุภาพจบลง ประกอบกับโศกนาฎกรรมกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ จึงไม่มีการส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์อีกเลยนับแต่ปี 1976 เป็นต้นมา

 

          จนกระทั่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากข้อมูลเรื่องธารน้ำแข็งบนดวงจันทร์ และความสนใจท่องอวกาศของบริษัทเอกชนหลายแห่ง นำไปสู่ความสนใจของหลายชาติเริ่มมุ่งตรงมายังการสำรวจอวกาศอีกครั้ง โดยที่คราวนี้ไม่จำกัดเพียงเหล่ามหาอำนาจ ชาติอื่นต่างให้ความสนใจด้านนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการส่งยานอวกาศไปบนดวงจันทร์ที่ถือเป็นประตูบานแรก

 

          การส่งยานไปดวงจันทร์แม้สหรัฐฯและโซเวียตจะประสบความสำเร็จมานานเกือบ 50 ปี แต่การพัฒนายานให้สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลกหลายเท่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้หลายชาติจึงทุ่มเทเวลา กำลังคน และงบประมาณมากมาย กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

 

          ความพยายามในการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์เกิดขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่การส่งยาน Bartesheet ของอิสราเอลสู่พื้นผิวดวงจันทร์ล้มเหลว ในเดือนเมษายนปี 2019, การส่งยาน Hakuto-R ของญี่ปุ่นลงจอดบนดวงจันทร์ผิดพลาด ในเดือนเมษายน 2023, ความล้มเหลวของรัสเซียมหาอำนาจเก่าในการส่ง Luna-25 ลงสู่ดวงจันทร์ในเดือนสิงหาคม 2023 แม้แต่อินเดียเองก็เคยประสบเหตุการณ์ยาน Chandrayaan-2 ผิดพลาดจนเกิดการระเบิดในปี 2019

 

          มีเพียงจีนที่ประสบความสำเร็จในการนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ โดย Chang' e 3 ในปี 2013 สามารถลงจอดและสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้, Chang' e 4 ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ ไปจน Chang' e 5 ที่สามารถนำตัวอย่างหินและแร่ธาตุบนดวงจันทร์กลับสู่โลก ผลักดันให้จีนกลายเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจทางอวกาศในที่สุด

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกด้วยความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันและเปิดประตูบานใหม่ของอินเดีย เปลี่ยนให้นี่กลายเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจทางอวกาศ กระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม สามารถนำไปใช้ต่อรองบนเวทีทางการเมือง จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการสำรวจอวกาศต่อไปในอนาคต

 

สู่มหาอำนาจอวกาศรายใหม่ Chandrayaan ของอินเดียลงจอดบนดวงจันทร์

 

 

          ทำไมถึงต้องเป็นขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์

 

          คำถามที่หลายท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมุ่งความสนใจไปที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ไม่เพียงแค่ยาน Chandrayaan-3 ของอินเดียเท่านั้น แม้แต่โครงการ Artemis ของสหรัฐฯที่มุ่งพานักบินอวกาศกลับสู่ดวงจันทร์เอง ก็ตั้งเป้าจะลงจอดเพื่อสร้างแคมป์ของนักบินอวกาศในบริเวณนี้เช่นกัน

 

          สาเหตุที่เป็นแบบนี้เนื่องจากการค้นพบธารน้ำแข็งบนพื้นที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ถือเป็นการค้นพบทรัพยากรครั้งสำคัญ ด้วยเราต่างทราบดีว่า น้ำ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หากสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำที่อยู่บนดวงจันทร์ได้สำเร็จจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตบนอวกาศ

 

          นอกจากประโยชน์ในการบริโภคแล้ว น้ำยังสามารถนำมาแยกองค์ประกอบในการสร้างออกซิเจน อีกหนึ่งปัจจัยพื้นฐานดำรงชีพสำหรับสิ่งมีชีวิต และยังสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิง ทำให้ยานอวกาศไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มความคล่องตัวและขอบเขตการสำรวจอวกาศให้กว้างขวางขึ้นมาก

 

          อีกทั้งหากการใช้ประโยชน์จากน้ำที่สะสมบนดวงจันทร์สำเร็จ จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบและใช้ประโยชน์จากน้ำที่อยู่บนอวกาศได้ง่ายดายขึ้น เช่น น้ำที่สะสมบนดาวเคราะห์น้อย หรือ ดาวบริวารต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวอันห่างไกลจากโลกได้ในที่สุด

 

          การสำรวจพื้นที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ในครั้งนี้ จึงอาจเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งอาณานิคมบนอวกาศในอนาคต

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.engadget.com/india-is-the-first-country-to-land-at-the-moons-south-pole-133322596.html

 

          https://www.bbc.com/thai/articles/cd10d3lpq73o

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/690490

 

          https://www.posttoday.com/international-news/698600

 

          https://spaceth.co/artemis-plan/

 

          https://spaceth.co/chandrayaan-3/

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/694257