posttoday

จันทรายาน ความหวังอินเดียก้าวสู่มหาอำนาจทางอวกาศ

22 สิงหาคม 2566

การลงจอดยานอวกาศบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์โดยหน่วยงานด้านอวกาศของอินเดียกำลังเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจที่มีผลกระทบต่อสถานะของอินเดียในฐานะมหาอำนาจด้านอวกาศและการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต

ยาน Chandrayaan-3 ของอินเดีย ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม จากศูนย์อวกาศ Satish Dhawan บริเวณชายฝั่งทิศตะวันออก ในรัฐอานธรประเทศทางตอนใต้ของอินเดีย

ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ยาน Chandrayaan-3 ได้โคจรรอบโลกก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ และกลายเป็นจุดสนใจของทั่วโลก สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวอินเดียเป็นอย่างมาก หลังจากที่รัสเซียล้มเหลวในความพยายามนำยานลงจอดขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์

ภารกิจหลัก

ภารกิจหลักของยาน Chandrayaan-3 คือการสำรวจขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำแข็งอยู่จำนวนมากและคาดว่าอาจเป็นแหล่งออกซิเจน เชื้อเพลิง และน้ำสำหรับปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ในอนาคต รวมไปถึงอาจเป็นแหล่งที่สามารถช่วยให้มนุษยชาติตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์แบบถาวรได้

หากสามารถลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ คาดว่ายาน Chandrayaan-3 จะสามารถทำงานได้ต่ออีกราว 2 สัปดาห์ ซึ่งจะดำเนินการทดลองต่าง ๆ รวมถึงการวิเคราะห์สเปกโตรมิเตอร์ขององค์ประกอบแร่ของพื้นผิวดวงจันทร์

ขณะที่ Bill Nelson ผู้บริหารของ NASA ระบุว่า หน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯยังรอคอย สิ่งที่จะได้เรียนรู้จากภารกิจของอินเดีย

ทั้งนี้ ยาน Chandrayaan-3 มีความสูงประมาณ 2 เมตร และมีน้ำหนัก 1,700 กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับรถ SUV 1 คัน 

ความท้าทาย จากความล้มเหลวในครั้งแรก

ในปี 2019 อินเดียเคยส่งยานอวกาศ Chandrayaan-2 เพื่อสำรวจดวงจันทร์มาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์

ด้วยพื้นผิวที่ขรุขระ จึงนับเป็นหนึ่งในปัญหายุ่งยากสำหรับการลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ของ ISRO กล่าวว่าพวกเขาได้ทำการปรับปรุงระบบต่างๆ ทั้งระบบการลงจอด ระบบเชื้อเพลิง และเพิ่มความแข็งแรงให้กับยาน เพื่อให้ภารกิจปัจจุบันเข้าใกล้กับความสำเร็จมากขึ้น 

ขณะที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของรัสเซียในรอบ 47 ปี ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน จากการที่ยานอวกาศ Luna-25 พุ่งชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์

ส่วนในเดือนเมษายน บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศของญี่ปุ่น ispace ก็ล้มเหลวในการพยายามลงจอดบนดวงจันทร์

ผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

หากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้ รองจากสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ และจีน ซึ่งนับเป็นการก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจด้านอวกาศ 

ขณะที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนดรา โมดี กำลังเล็งกระตุ้นการลงทุนในด้านธุรกิจอวกาศและธุรกิจดาวเทียมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอินเดียต้องการให้บริษัทด้านอวกาศของเอกชนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกได้อีก 5 เท่า ในช่วงอีก 10ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นเรนดรา โมดี กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นบทใหม่ของชาวอินเดียที่จะผจญภัยในห้วงอวกาศไปพร้อมกัน รวมถึงเป็นการยกระดับความฝันและความทะเยอทะยานของชาวอินเดียทุกคน