posttoday

ราคาอาหารโลกพุ่ง หลังรัสเซียยุติข้อตกลงธัญพืชและอินเดียจำกัดส่งออกข้าว

05 สิงหาคม 2566

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารทั่วโลก เช่น ข้าวและน้ำมันพืชพุ่งขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนหลังจากที่รัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงอนุญาตให้ยูเครนส่งธัญพืชไปทั่วโลก และอินเดียจำกัดการส่งออกข้าวบางส่วน

ดัชนีราคาอาหารของ FAO ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงรายเดือนในราคาระหว่างประเทศของสินค้าอาหารที่มีการซื้อขายกันทั่วไป เพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนกรกฎาคมต่อเดือนมิถุนายน โดยมีปัจจัยจากต้นทุนราคาข้าวและน้ำมันพืชที่สูงขึ้น นับเป็นการพุ่งขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน ในช่วงที่ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นส่งผลให้ดัชนีขยับขึ้นเล็กน้อยเป็นครั้งแรกในรอบปี

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ลดลงนับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในปีที่แล้วเนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย อุปทานที่หยุดชะงักจากทั้งสองประเทศทำให้วิกฤตอาหารทั่วโลกรุนแรงขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้นำในการจัดหาข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันดอกทานตะวัน และผลิตภัณฑ์อาหารราคาถูกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ซึ่งหลายล้านคนต้องเผชิญกับความหิวโหย

 

โลกกำลังเผชิญกับปัญหาของราคาสิงค้าอาหาร ซึ่งได้เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า

 

ขณะนี้มีความเสี่ยงใหม่หลังจากเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม รัสเซียไม่ขยายเวลาข้อตกลงที่สหประชาชาติและตุรกีเป็นตัวกลางประสาน เพื่อให้ความคุ้มครองเรือที่บรรทุกสินค้าเกษตรของยูเครนผ่านทะเลดำ นอกเหนือจากการโจมตีของรัสเซียต่อท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานของธัญพืชในยูเครนแล้ว ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดยังแกว่งไปมาในตลาดโลก

 

Maximo Torero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ FAO กล่าวว่า ราคาข้าวสาลีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนกรกฎาคมสูงกว่าเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน 

 

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือการห้ามการค้าข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติบางสายพันธุ์ของอินเดีย ทำให้เกิดการกักตุนวัตถุดิบในบางส่วนของโลก ข้อจำกัดที่บังคับใช้เมื่อปลายเดือนที่แล้วมีขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เร็วกว่าที่คาดไว้ทำให้อากาศแห้งและร้อนขึ้นในบางส่วนของเอเชีย และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว

 

ราคาข้าวเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนกรกฎาคมจากเดือนก่อนหน้า และ 19.7% ในปีนี้ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 

 

องค์กรระบุในถ้อยแถลงว่า ข้าวที่มีราคาแพงขึ้น “สร้างความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรโลกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ยากจนที่สุดและผู้ที่ต้องใช้เงินรายได้ส่วนใหญ่เพื่อซื้ออาหาร” 

 

ที่ชัดเจนกว่านั้นคือราคาน้ำมันพืชที่พุ่งสูงขึ้นถึง 12.1% ในเดือนที่แล้วเหนือเดือนมิถุนายน หลังจากร่วงลงเป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน FAO ชี้ว่าราคาน้ำมันทานตะวันพุ่งขึ้น 15% เนื่องจาก “ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นใหม่” เกี่ยวกับอุปทานหลังจากสิ้นสุดข้อตกลงธัญพืช

 

“ในขณะที่โลกมีเสบียงอาหารเพียงพอ แต่ความท้าทายในการจัดหาเสบียงจากผู้ผลิตรายใหญ่เนื่องจากความขัดแย้ง ข้อจำกัดในการส่งออกหรือการขาดแคลนการผลิตที่เกิดจากสภาพอากาศ อาจนำไปสู่ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานทั่วทั้งภูมิภาค นั่นจะนำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงอาหารเนื่องจากราคาที่สูงขึ้นและความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจเกิดขึ้น”

 

Torero ตั้งข้อสังเกตว่าราคาสินค้าอาหารทั่วโลกแตกต่างจากที่ผู้คนจ่ายที่ตลาดและร้านขายของชำ แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะดิ่งลงตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่สภาวะนั้นยังไม่ลงถึงระดับครัวเรือน

 

ราคาอาหารท้องถิ่นยังคงเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เนื่องจากสกุลเงินของพวกเขาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งใช้ในการนำเข้าธัญพืชและน้ำมันพืช

 

“การส่งผ่านจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงไปยังราคาผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ เช่นการขนส่งและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เราผลิต เช่น ขนมปัง เป็นต้น ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา” Torero กล่าว

 

การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารสูงขึ้นอีกครั้ง “อาจทำให้การแก้ปัญหาด้านราคาอาหารใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้”