posttoday

UNESCO ถอน แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟออกจากมรดกโลกที่ถูกคุกคาม

02 สิงหาคม 2566

คณะกรรมการมรดกของ UNESCO ประกาศถอนแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ของออสเตรเลียจากกลุ่มมรดกโลกที่ถูกคุกคาม แต่ยังเตือนว่าระบบนิเวศแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังคงอยู่ในระดับ "ภัยคุกคามร้ายแรง" จากมลพิษและอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น

หลายปีแห่งความพยายาม ที่ออสเตรเลียพยายามวิ่งเต้นเพื่อรักษาแนวปะการังไม่ให้ถูกเพิ่มลงไปในรายชื่อ “ใกล้สูญพันธุ์” ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียสถานะมรดก และจำนวนนักท่องเที่ยวอาจลดลง เนื่องจากแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ก่อให้เกิดรายได้ต่อประเทศประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานกว่า 64,000 ตำแหน่ง 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน UNESCO เพิ่งประกาศให้แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟอยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่ถูกคุกคาม เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ฟอกขาวบ่อยครั้ง

ทั้งนี้ จากรายงานล้าสุดที่คณะกรรมการมรดกของ UNESCO ได้พิจารณาแล้วว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีความมุ่งมั่นและได้ดำเนินการเบื้องต้นของในการอนุรักษ์แนวปะการัง จึงประกาศถอนแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลียออกจากกลุ่มมรดกโลกที่ถูกคุกคาม

นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Anthony Albanese กล่าวระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า “ร่างดังกล่าวจาก UNESCO แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียมีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพน้ำ และการประมงที่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ทำให้แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ”

ที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคแรงงานได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องแนวปะการังของประเทศด้วยมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย รวมถึงปฏิเสธคำอนุญาตสำหรับการทำเหมืองถ่านหินและสร้างเขื่อนเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแนวปะการัง

ทั้งนี้ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลของออสเตรเลีย (World Wide Fund for Nature-Australia) ให้ความเห็นว่า หากทางการล้มเหลวต่อคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ UNESCO อาจจัดให้แนวปะการังอยู่ในรายชื่อที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างแน่นอน