posttoday

“ไทยใกล้ชิดจีน” เหตุผลเบื้องหลังสหรัฐไม่ขาย F35?

23 พฤษภาคม 2566

รายงานข่าวที่ระบุว่า สหรัฐปฏิเสธการขายเครื่องบินขับไล่ล่องหนยุคที่ 5 F35 ให้กับกองทัพอากาศไทย เนื่องจากไทยยังไม่มีความพร้อมเรื่องอาคารสถานที่/สนามบินที่จะรองรับ รวมถึงการที่ไทยใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป เรื่องนี้ เป็นไปได้หรือไม่?

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัย เมื่อพูดถึงเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่จากค่ายตะวันตก หากไม่นับ F22 Raptor ซึ่งเป็นเครื่องบินสุดยอดชั้นความลับของกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งไม่ยอมขายให้กับประเทศใดแล้ว เครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยว แบบ F35 Lightning ถือว่าเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัย และ “อันตราย” ที่สุดบนน่านฟ้าในปัจจุบัน 

“ไทยใกล้ชิดจีน” เหตุผลเบื้องหลังสหรัฐไม่ขาย F35?

เครื่องบินรุ่นนี้ เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม JSF หรือ Joint strike fighter โดยมีชาติพันธมิตรของสหรัฐ เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนา/วิจัย ในการสร้างเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดี่ยวล่องหน หรือเครื่องบินรบยุคที่ 5 นี้ รวม 9 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี ตุรกี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย แคนาดา และเดนมาร์ก ซึ่งเริ่มในปี 2538  โดยบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน ได้รับสัญญาจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐเป็นผู้ผลิต เริ่มส่งมอบและบรรจุเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ส่งมอบไปแล้วเกือบ 1 พันลำ ในกองทัพอากาศ 15 ชาติ และยังมีอีกอย่างน้อย 12 ชาติ ที่กำลังต่อคิวรอคำอนุมัติสั่งซื้อจากทางการสหรัฐ

“ไทยใกล้ชิดจีน” เหตุผลเบื้องหลังสหรัฐไม่ขาย F35?

F-35 นับเป็นโครงการอาวุธเดียวที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ค่าใช้จ่ายล่าสุดของกระทรวงกลาโหมสำหรับการพัฒนาและจัดหาเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 สำหรับกองทัพสหรัฐฯ จนถึงสิ้นปี 2022 อยู่ที่ 412 พันล้านดอลลาร์ การดำเนินงานและบำรุงรักษาเครื่องบินจนถึงปี 2088 จะมีราคาอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ประกอบกับข้อมูลด้านเทคโนโลยี สมรรถนะ ระบบการบิน หรือระบบอาวุธ ยังถือว่ามีความก้าวหน้าและเป็นความลับสุดยอด ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงต้องแน่ใจว่าความสามารถและเทคโนโลยีของเครื่องบินรบรุ่นล่าสุดของตนนี้ จะไม่ถูกลักลอบถ่ายทอดไปยังฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ ขั้นตอนการอนุมัติการขายเครื่องบิน F35 จึงมีความเข้มงวดมาก แม้กระทั่งพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐก็ตาม

“ไทยใกล้ชิดจีน” เหตุผลเบื้องหลังสหรัฐไม่ขาย F35?

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีที่สหรัฐฯ สั่งห้ามนักบินชาวอิสราเอลที่มีหนังสือเดินทางต่างประเทศบินเครื่องบินขับไล่ F-35 Lightning Stealth รุ่นที่ 5 ของกองทัพอากาศอิสราเอล (IAF) เพื่อเป็นการป้องกันการจารกรรมที่อาจเกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังการห้ามตุรกีในปี 2019 ไม่ให้ซื้อ F-35 หลังจากอังการาซื้อขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย โดยวอชิงตันยืนยันว่าการครอบครอง S-400 ของตุรกีอาจทำให้รัสเซียสามารถรวบรวมข้อมูลข่าวกรองที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับความสามารถในการล่องหนของ F-35 ได้ 

“ไทยใกล้ชิดจีน” เหตุผลเบื้องหลังสหรัฐไม่ขาย F35?

แต่ตุรกีก็ยืนยันจะซื้อระบบขีปนาวุธดังกล่าว ทำให้สหรัฐตัดสินใจ แบน ตุรกี ห้ามซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ แม้ว่า ตุรกีจะเป็นหนึ่งในชาติที่ร่วมในการลงทุนเริ่มต้นในการวิจัยพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้ไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์

 และในปี 2021 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระงับข้อตกลงหลักในการซื้อเครื่องบินไอพ่น 50 ลำโดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นที่ "ยุ่งยาก" เนื่องจากสหรัฐฯ กลัวว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ Huawei 5G ที่จีนกำลังติดตั้งในประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์หลายร้อยเสา อาจรวบรวมข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับเครื่องบินล่องหนโดยที่อาบูดาบีไม่รู้

แม้จะเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด สหรัฐฯ ก็ยังรู้สึกว่าจำเป็นต้องกำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่ารายละเอียดที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับความสามารถของเครื่องบินยังคงถูกปกปิดไว้อย่างปลอดภัย

“ไทยใกล้ชิดจีน” เหตุผลเบื้องหลังสหรัฐไม่ขาย F35?

การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่น่าแปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่คาดเดาไม่ได้และมีความผันผวนของโลก

ในกรณีของไทย ความใกล้ชิดทางการทูตกับจีน อาจไม่ใช่เหตุผลหลักที่สหรัฐจะมองว่า ไทยมีการเลือกข้างในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยก็ใช้นโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศในลักษณะของการประสานผลประโยชน์มาโดยตลอด แต่ความใกล้ชิดทางเทคโนโลยีที่ไทยกับจีนมีระหว่างกัน ทั้งในระดับเอกชน-เอกชน และรัฐ-รัฐ เป็นสิ่งที่สหรัฐต้องจับตามองมากกว่า ไม่เพียงเทคโนโลยี 5G และระบบสื่อสารจากค่ายจีนที่มีบทบาทในสังคมไทยเท่านั้น แต่ระบบอาวุธ โดยเฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศรวมถึงเรดาร์จากค่ายจีน ก็มีใช้ในกองทัพบกและกองทัพเรือไทยอยู่ไม่น้อย ก็ไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐจะ “ระแวง” ว่าหากไทยมี F35 เข้าประจำการ ข้อมูลความลับทางเทคนิคต่างๆ จะรั่วไหลไปจีนได้ไม่ยากนัก