posttoday

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3

03 พฤษภาคม 2566

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันเสาร์ ที่ 6 พ.ค.นี้ จะปรากฏพิธีกรรมต่างๆตามขนบธรรมเนียมโบราณซึ่งผู้คนทั่วโลกต่างรอเฝ้าชม โดยในงานนี้แขกที่เข้าร่วมจะมีใครบ้าง? ทำไมต้องจัดพิธีนี้ขึ้น? เราลองมาหาคำตอบกัน

ประวัติความเป็นมาของพิธีบรมราชาภิเษก

เป็นเวลากว่าพันปีที่กษัตริย์และราชินีของสหราชอาณาจักรได้รับการสวมมงกุฎที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอน ซึ่งในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาพระราชพิธีมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทำไมต้องมีพิธีบรมราชาภิเษก?

พิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้จัดขึ้น นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์อื่นๆทั่วโลกไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดพิธีให้ออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ Alice Hunt ระบุว่า สาเหตุที่พระราชพิธีนี้ยังต้องมีอยู่เพราะเสมือนหนึ่งในเครื่องมืออันชอบธรรมที่สามารถสร้างการรรับรู้ให้กับสาธารณชนต่อการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ มีกษัตริย์และราชินีทั้งหมด 38 พระองค์ที่ได้รับการสวมมงกุฎ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

สำหรับพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 GMT โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมที่ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง เนื่องจากคิงชาร์ลส์ต้องการแสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับอังกฤษยุคใหม่ซึ่งมีวัฒนธรรมหลากหลาย รวมถึงต้องการร่นระยะเวลาของพระราชพิธีลง เผื่อประหยัดงบประมาณของประเทศ เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรจะยังคงทวีความรุนแรง 

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาจะเสด็จออกจากพระราชวังบักกิงแฮมด้วยรถม้าพระที่นั่ง Gold State Coach สีดำขลิบทองที่เคยใช้ในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาแล้ว โดยระยะทางที่จะเสด็จมีระยะทางราว 2 กิโลเมตร ซึ่งเดิมที เส้นทางที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยเสด็จจะมีระยะทาง 8 กิโลเมตร โดยขบวนจะเคลื่อนผ่าน Admiralty Arch จัตุรัส Trafalgar รูปปั้นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 และด้านข้างของอาคารรัฐสภา ก่อนจะเริ่มพิธีทางศาสนาเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

 

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในพิธีบรมราชาภิเษก?

โดยปกติแล้วพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ การถวายความจงรักภักดี, กล่าวคำปฏิญญา, การเจิม, การเครื่องราชกกุธภัณฑ์, การประทับบนราชบัลลังก์ และพิธีสำหรับราชินี
  

1. กษัตริย์จะยืนบริเวณกลางมหาวิหาร ก่อนจะกันหน้าไปทิศเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตก เพื่อแสดงตัวต่อประชาชน จากนั้นอาร์คบิกชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะประกาศการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยพิธีกรรมนี้มีมาตั้งแต่สมัยแองโกล-แซกซอน

2.กษัตริย์จะกล่าวคำปฏิญญา ว่าจะปกครองประเทศด้วยความเมตตาและยุติธรรมตามกฎหมาย และจะรักษาไว้ซึ่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)

3.การเจิม เป็นขั้นตอนการถวายพระพรแก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ตามพิธีทางศาสนาด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์  กษัตริย์จะถอดเสื้อคลุมออกและนั่งบนพระราชอาสน์ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ด

4. อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ โดยเริ่มจากลูกโลกประดับกางเขน แหวน และคทา 

5.กษัตริย์จะประทับบนบัลลังก์ และรับมอบมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward's Crown) ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะตะโกนว่า "God Save the King (ขอพระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองพระราชา)"

6. หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะมอบมงกุฎให้กับสมเด็จพระราชินี โดยคามิลลาจะสวมมงกุฎของสมเด็จพระราชินีแมรี ขณะที่สมาชิกราชวงศ์จะแสดงความเคารพโดยจุมพิตพระหัตถ์ขวา

แขกที่เข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับแขกในพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คาดว่าจะอยู่ที่ 2,200 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยกว่าในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่จัดขึ้นในปี  1953 ซึ่งอยู่ที่ 8,000 คน

แขกที่เข้าร่วมงานประกอบไปด้วยเชื้อพระวงศ์ ผู้นำประเทศ ประมุขแห่งรัฐต่างๆ ผู้แทนจากมูลนิธิ พระสหายของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3และคามิลลา รวมถึงคนดังอย่างไลโอเนล ริชชี จะเข้าร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน

จิลล์ ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ จะเป็นตัวแทนของอเมริกา และรองประธานาธิบดีหาน เจิ้ง (Han Zheng) ของจีน คาดว่าจะเข้าร่วมในนามของปักกิ่ง

อย่างไรก็ดี สมาชิกราชวงศ์อังกฤษอย่าง เจ้าชายแฮร์รีจะไม่เสด็จพร้อมกับเมแกน หรือบุตรอีก 2 คน