posttoday

นักวิทยาศาสตร์เฟ้นสารพัดวิธีฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดิน

05 กุมภาพันธ์ 2566

กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเสื่อมโทรมลง นักวิทยาศาสตร์จึงมองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อรักษาดินสำหรับการทำเกษตร

ตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ปัญหาการสึกกร่อนของดิน หรือการสูญเสียหน้าดินอันสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและปุ๋ย คาดว่าจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงราว 10% ภายในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิกฤตอาหารโลกเป็นทอดๆ

เทคนิคการรักษาดินที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น การไถพรวนให้น้อยลงและการหว่านเมล็ดพืชนอกฤดูกาล พิสูจน์แล้วว่าไม่เหมาะกับพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วมบ่อย รวมถึงพื้นที่ที่อุณหภูมิร้อนจัด

หลายบริษัทได้สรรหาวิธีฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินเพื่อการเกษตรไม่ว่าจะฉีดดินโพลิเมอร์เหลวลงในทะเลทรายแคลิฟอร์เนียเพื่อดักจับความชื้นและช่วยให้ผลไม้เจริญเติบโด หรือใช้ตัวอ่อนแมลงวันเพื่อฟื้นฟูคุณภาพดิน

ขณะที่ในโนวาสโกเทีย Vicky Levesque นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา ได้เติมถ่านชีวภาพที่ได้มาจากซากพืชและเศษไม้ เพื่อช่วยให้แอปเปิ้ลเติบโตได้ดีขึ้น

วิธีใหม่ๆที่ช่วยปรับปรุงดิน คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณสมบัติของดินให้ดีกว่าที่เคยเป็นมา

ถ่านชีวภาพ, ดินโพลิเมอร์เหลว และตัวอ่อนแมลงวันล้วนผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่ายในกลุ่มเฉพาะ โดย Ole Kristian Sivertsen หัวหน้าผู้บริหารบริษัท Desert Control  ซึ่งผลิตดินโพลิเมอร์เหลวระบุว่า บริษัทได้เปิดจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่แย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ Bayer AG บริษัทการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังร่วมมือกับบริษัทอื่นๆเพื่อหาวิธีการที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพิ่มสารอาหารให้กับพืช เช่น การเพิ่มจุลินทรีย์ลงในดิน ส่วนการใช้ถ่านชีวภาพและดินโพลิเมอร์เหลวยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของดินในการกักเก็บน้ำอีกด้วย