posttoday

Ardern ลาออก สะท้อนบทบาทผู้หญิงบนเวทีโลก

20 มกราคม 2566

การลาออกของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) ถือเป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยนโฉมการเมืองโลก เนื่องจากเธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดขณะรับตำแหน่ง ทำให้ตอนนี้บทบาทของสตรีบนเวทีโลกกลายมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง

หลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์กว่า 5 ปีครึ่ง จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ วัย 42 เกรงว่าเธออาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศหากยังอยู่ในบทบาทนี้ ในการแถลงการณ์พร้อมกลั้นน้ำตา เธอกล่าวว่า “นักการเมืองก็ปุถุชนคนธรรมดา เราทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ และเมื่อถึงเวลาเราก็ต้องไป”

Anne-Marie Brady ศาสตราจารย์ด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัย Canterbury ของนิวซีแลนด์กล่าวว่าจาซินดาต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างและหนึ่งในนั้นคือเรื่องครอบครัว

นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์เคยบอกกับนีฟ (Neve) ลูกสาวของเธอว่า เธอกำลังตั้งหน้าตั้งตารอที่จะอยู่กับลูกสาวในวันแรกที่เข้าเรียน รวมถึงยังบอกกับคลาร์ก เกย์ฟอร์ด (Clarke Gayford) คู่ชีวิตของเธอว่าถึงเวลาแล้วที่เราทั้งคู่จะแต่งงานกัน

“เธอล่วงหน้าไปไกล แต่ยังไงเสียฉันก็คิดว่าผู้หญิงที่โตมาในยุคนี้ก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังมีสายสัมพันธ์เชื่อมกับคนที่เรารัก ในยุคนี้ผู้หญิงมีอิสรภาพ แต่สถาบันปิตาธิปไตยยังพัฒนาไม่มากพอที่จะพยุงหรือจุนเจือสถาบันครอบครัว”

“เราต้องการคนอย่างจาซินดา อาร์เดิร์นในวงการการเมือง ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้เป็นตัวสะท้อนว่า เราสามารถทำอะไรที่มากกว่านี้ได้บ้าง เพื่อผลักดันและสนับสนุนสตรีเพศบนเวทีการเมือง รวมถึงครอบครัวของพวกเธอด้วย” Anne-Marie Brady ให้ความเห็น

ช่วงเวลาที่เธอดำรงตำแหน่ง จาซินดา ไม่เคยกลัวที่จะสร้างความแตกต่าง เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกนับตั้งแต่ Benazir Bhutto แห่งปากีสถานที่มีลูกในขณะดำรงตำแหน่งและใช้สิทธิ์ลาคลอด

ที่ผ่านมา จาซินดา อาร์เดิร์น เคยผลักดันให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องไม่มีค่าใช้จ่าย แก้ปัญหาความยากจน รวมถึงกำหนดให้การทำแท้งถูกกฎหมาย

Marian Baird ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าวว่า “จาซินดาเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองโลกแค่เพราะเธอเป็นตัวเอง เธอเป็นแบบอย่างให้กับนักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ และบางทีอาจเป็นแบบอย่างให้กับนักการเมืองชายที่อายุยังน้อยด้วย ถ้าหากพวกเขาต้องการนำเสนอตัวตนในรูปแบบที่แตกต่าง แน่นอนว่าจาซินดาถือเป็นความท้าทายด้านทัศนคติที่เหมารวมว่าเฉพาะผู้ชายเท่านั้นถึงเป็นนายกรัฐมนตรีได้"