posttoday

อาจาร์นิติหวั่น นักศึกษาใช้ 'ChatGPT' ช่วยเขียนเอกสารทางกฎหมาย

14 มกราคม 2566

หลังเปิดตัว ChatGPT แชทบอทขับเคลื่อนด้วย AI ที่ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลบนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาล สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างไร้ขีดจำกัด ส่งผลให้อาจารย์นิติศาสตร์หลายรายเกิดความกังวล เนื่องจากแชทบอทตัวนี้ถามอะไรก็ตอบได้ ซึ่งรวมถึงเอกสารทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

Daniel Linna ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและเทคโนโลยีจาก Northwestern University Pritzker School of Law กล่าวว่าอาจารย์นิติศาสตร์ส่วนใหญ่กังวลว่านักเรียนจะใช้เจ้าแชทบอทตัวนี้เขียนรายงานหรือเอกสารทางกฎหมายเพื่อส่งงาน 

แม้คนอื่นจะมองว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการศึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงมองว่าหากไร้ซึ่ง AI นักเรียนกฎหมายก็อาจไม่พร้อมกับการประกอบอาชีพในอนาคตที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ ChatGPT ยังไม่เสถียรพอที่จะช่วยให้นักเรียนกฎหมายคว้าเกรด A มาครอง โดยไม่ต้องทำงานอื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมี AI ที่เน้นด้านกฎหมายโดยเฉพาะซึ่งทำงานได้ดีกว่า

ขณะที่ Jake Heller CEO ของ Casetext บริษัทเทคโนโลยีด้านกฎหมายกล่าวว่าโรงเรียนกฎหมายควรสนับสนุนให้นักเรียนใช้ ChatGPT และเครื่องมืออื่นๆที่คล้ายกันเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดทำเอกสารและช่วยสร้างไอเดีย มันไม่ต่างอะไรจากการชวนเพื่อนไปห้องสมุดเพื่อติวและถกถามในประเด็นที่ไม่เข้าใจ และการใช้ ChatGPT ในทางกฎหมาย ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการใช้เครื่องคิดเลขเพื่อช่วยคำนวณในวิชาคณิต

ส่วน Andrew Perlman คณบดีของ Suffolk University Law School ระบุว่าเขาอยากเห็นนักเรียนเขียนเอกสารทางกฎหมายรวมถึงงานวิจัยอื่นๆที่ใช้ ChatGPT ร่วม เนื่องจากมองว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่าน และคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากในอนาคตบรรดานักกฎหมายมืออาชีพหันมาใช้แชทบอทตัวนี้ในการทำงาน

แม้ ChatGPT จะถามอะไรก็ตอบได้หมด และทำงานได้ดีเกินคาดหลังเปิดตัวไปช่วงปลายปี 2022 แต่ถึงอย่างนั้นแชทบอทตัวนี้ก็ยังไม่เจ๋งถึงขั้นช่วยทำข้อสอบเนติบัณฑิตได้

จากผลการทดสอบการทำงานของ ChatGPT ในการสอบเนติบัณฑิตช่วง 31 ธันวาคม 2022 ศาสตราจารย์ Daniel Martin Katz จาก Chicago-Kent College of Law และ Michael Bommarito จาก Michigan State University College of Law  พบว่าโปรแกรมสามารถตอบคำถามในพาร์ทคำถามแบบปรนัย (Multistate Bar) ได้ถูกต้องประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่มนุษย์ตอบถูกถึง 68%

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์นิติศาสตร์อีกบางส่วนที่ให้ความเห็นว่า ควรพิจารณาการสอบแบบ take-home ที่นักศึกษาไม่จำเป็นต้องมาสอบที่มหาลัยเสียใหม่ เพราะมองว่า ChatGPT เป็นเทคโนโลยีที่อันตราย แชทบอทตัวนี้สามารถช่วยเขียนเอกสารขึ้นใหม่ชนิดที่ซอฟต์แวร์ตรวจจับการลอกเลียนผลงานยังไม่สามารถตรวจจับได้

เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่การหารือในเรื่องดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว