posttoday

ชีวิตสิ้นหวังของคนศรีลังกา ต่อคิวรอเติมน้ำมันถึง12ชั่วโมง

31 พฤษภาคม 2565

เสียงสะท้อนจากชาวศรีลังกาที่ต้องรอคิวเติมน้ำมันกว่า 12 ชั่วโมง บางครั้งถึงคิวแล้วแต่น้ำมันหมดก่อน

สำนักข่าว Reuters รายงานเสียงสะท้อนจาก ลาซานดา ทีปติ หญิงชาวศรีลังกาวัย 43 ปีที่มีอาชีพขับรถตุ๊กตุ๊กในแถบชานเมืองกรุงโคลอมโบที่แผนการในแต่ละวันของเธอต้องขึ้นอยู่กับการรอคิวเติมน้ำมันรถ

ก่อนรับลูกค้าเธอต้องก้มมองเกจ์น้ำมันรถเพื่อดูให้แน่ใจว่ายังมีพอ และเมื่อมันใกล้หมดเธอก็ต้องไปต่อแถวด้านนอกปั๊มน้ำมันร่วมกับชาวศรีลังหาคนอื่นๆ ซึ่งบางครั้งเธอต้องเฝ้ารอไปตลอดคืน และเมื่อถึงคิวก็ต้องพบว่าราคาน้ำมันสูงกว่าราคาเมื่อ 8 เดือนก่อนถึง 2.5 เท่า

ทีปติคือหนึ่งในชาวศรีลังกาหลายล้านคนที่ต้องดิ้นรนต้อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ที่ลดลง และความขาดแคลนทุกๆ อย่างตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงยารักษาโรค ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1948

การที่ผู้หญิงขับรถตุ๊กตุ๊กไม่ค่อยมีให้เห็นในศรีลังกา แต่มันก็เป็นงานที่ทีปติทำมา 7 ปีแล้วเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องสมาชิกในครอบครัวที่มีด้วยกัน 5 คนคือ แม่ น้องชาย 3 คน และตัวเธอ โดยการใช้แอพพลิเคชันให้บริการเรียกรถสาธารณะอย่าง PickMe ของศรีลังกา

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงิน เธอต้องดิ้นรนกับการหาน้ำมันและรายได้ให้เพียงพอ เนื่องจากมีคนใช้บริการรถตุ๊กตุ๊กน้อยลงและภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานทะลุ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

รายได้เดือนละ 50,000 รูปีศรีลังกา หรือ 138 เหรียญสหรัฐ เริ่มลดลงตั้งแต่เดือน ม.ค. และตอนนี้หดลงมาเหลือไม่ถึงครึ่งของเงินที่เธอเคยหาได้

ธีปติเผยว่า “ฉันใช้เวลาไปกับการเติมน้ำมันมากกว่าทำอย่างอื่น บางครั้งฉันไปต่อคิวตั้งแต่บ่าย 3 กว่าจะได้เติมก็ 12 ชั่วโมงต่อมา มีสองสามครั้งที่ไปถึงหน้าแถวแล้วแต่น้ำมันหมดก่อน”

ธีปติเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาเธอต้องต่อคิวถึง 2 วันครึ่งเพื่อเติมน้ำมัน “ฉันไม่รู้จะใช้คำไหนมาอธิบายว่ามันแย่แค่ไหน บางครั้งก็รู้สึกไม่ปลอดภัยตอนกลางคืนแต่ก็ไม่มีอย่างอื่นให้ทำ”

กิจวัตรที่หญิงรายนี้ทำเป็นประจำช่วงเช้าคือการเปลี่ยนเสื้อผ้า เติมน้ำใส่ขวด เช็ดรถ แล้วจุดธูปเพื่อขอพรก่อนขึ้นรถ ภารกิจของเธอก็คือการตามหาน้ำมันซึ่งราคาพุ่ง 259% นับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลตัดเงินอุดหนุนเพื่อพยายามรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจที่กำลังสั่นคลอน

รากเหง้าของวิกฤตครั้งล่าสุดของศรีลังหาคือ การแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและลดการส่งเงินกลับบ้านของชาวศรีลังหาในต่างแดน รวมทั้งการลดภาษีตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา

ด้วยความโกรธแค้นต่อการขาดแคลนที่ขยายเป็นวงกว้าง และกล่าวหาครอบครัวราชปักษาที่มีอำนาจว่าจัดการเศรษฐกิจผิดพลาด ทำให้ผู้ประท้วงหลายพันคนไปรวมตัวกันที่ถนนทั่วประเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเพื่อจัดการประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ

รานิล วิกรามาสิงหะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีแผนประกาศงบประมาณใน 6 สัปดาห์ ซึ่งจะมีการตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงอย่างมาก แล้วโยกย้ายเงินส่วนนี้ไปไว้ในโครงการสวัสดิการที่มีระยะเวลา 2 ปีแทน

นโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังรวมถึงการผลักดันการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อให้ได้เงินกู้ที่ศรีลังกาต้องการอย่างมากในเวลานี้

แต่ธีปติไม่เชื่ออีกแล้ว

รถยนต์ที่เธอใช้เงินเก็บซื้อต้องถูกขายไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะเจ้าตัวไม่มีเงินจ่ายค่างวด ส่วนรถตุ๊กตุ๊กอีกคันหนึ่งซึ่งน้องชายของเธอขับเป็นส่วนใหญ่ก็ต้องซ่อม แต่ครอบครัวนี้แทบจะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม และธีปติยังมีค่าที่ดินที่เธอซื้อก่อนเกิด Covid-19 ที่ค้างจ่ายอีกกว่า 100,000 รูปีศรีลังกา

ธีปติยังต้องการไปเยี่ยมหลานสาววัย 3 เดือนแต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินทางไปที่เมืองมาธาราที่ลูกสาวที่เป็นพยาบาลของเธออาสัยอยู่ซึ่งห่างออกไปราว 170 กิโลเมตรได้อย่างไร

“ฉันแทบจะไม่มีข้าวและผักเพียงพอสำหรับครอบครัวของฉัน ฉันไม่สามารถซื้อยาที่แม่จำเป็นต้องใช้ เดือนหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร ฉันไม่รู้เลยว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร”

REUTERS/Adnan Abidi