posttoday

ลาวยอมให้จีนครอบงำ? เรื่องที่เราอาจไม่รู้เกี่ยวกับทางรถไฟจีนในลาว

23 มิถุนายน 2564

เส้นทางรถไฟช่วงบ่อหาน-เวียงจันทน์ถูกโจมตีมาตลอดว่าทำให้ลาวติดกับดักหนี้ของจีน แต่กับดักหนี้มันคืออะไร มันมีจริงหรือไม่ หรือว่าจริๆ แล้วลาวตั้งใจให้ตัวเองตกในกับดักนี้?

ยังไม่ทันที่ทางรถไฟสายคุนหมิง-เวียงจันทน์จะแล้วเสร็จ บางเพจในเมืองไทยก็ปั่นข่าวกันซะว่าเสร็จแล้วและยังมีคนเชื่อกันเสียอีก และตามฟอร์มของพี่น้องชาวไทยที่ต้องมีแซะทางรถไฟบ้านตัวเองเป็นธรรมดาว่า "ตามหลังลาวซะแล้ว"

เพจเหล่านี้ไม่ใช่เพจข่าวอาชีพดังนั้นมักจะไม่กรองข่าวหรือตรวจข้อเท็จจริง เป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าปั่นข่าวปลอม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็คือเรื่องไม่จริงวันยังค่ำ

ข่าวที่บอกว่าทางรถไฟสายคุนหมิง-เวียงจันทน์เสร็จนั้นไม่จริง เพราะข่าวล่าสุดจากสำนักข่าวซินหัวคืออุโมงค์ทางรถไฟ ความยาว 9.5 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งเชื่อมระหว่างจีนกับลาว ถูกขุดเจาะทะลุสำเร็จเมื่อวันเสาร์ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา

เส้นทางนี้ยังไม่เสร็จ แต่มีการตกแต่งสถานีรถไฟ 11 แห่ง การวางรางแล้วเสร็จมากกว่าร้อยละ 95 และอุโมงค์ที่เป็นข่าวก็เป็นอุโมงค์แห่งสุดท้าย ถือปิดฉากการขุดอุโมงค์ทั้ง 167 แห่งของทางรถไฟสายดังกล่าว ที่มีกำหนดเปิดบริการภายในสิ้นปีนี้

บางคนอาจจะอุทานว่าว่าแม่เจ้าอุโมงค์อะไรจะมากขนาดนั้น? ต้องบอกว่าเยอะจริงๆ กับเส้นทางแค่ 414 กิโลเมตร เพราะมันตัดผ่านพื้นที่ที่เต็มไปด้วยภูเขาและแม่น้ำ คิดเป็นอัตราส่วนแล้วเส้นทางนี้มีอุโมงค์เกือบจะเกินครึ่งของเส้นทาง

คนที่ชอบนั่งรถไฟผ่านอุโมงค์ขอแนะนำสายนี้ ไม่ต้องไปนั่งไกลถึงทางรถไฟญี่ปุ่นที่อุดมไปด้วยอุโมงค์รถไฟเช่นกัน

แต่ก็นั่นแหละ แม้จะบอกว่าเสร็จปีนี้แต่กว่าจะเปิดให้ใช้บริการก็น่าจะอีกระยะหนึ่ง ไหนจะต้องรอทั้งลาวและจีนเปิดประเทศก่อน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคงไม่เปิดง่ายๆ ในเร็วๆ นี้

กลับมาที่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บางเพจประโคมเสียคนเชื่อไปตามๆ กันค่ารถไฟสายนี้แค่ไม่ถึง 500 บาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด

ที่บอกว่าราวๆ 400 กว่าบาทนั่นก็ถูก แต่ถูกครึ่งเดียวเพราะราคานี้ (คิดเป็นเงินลาว 140,000 กีบ/112หยวน) เป็นค่าโดยสารเฉลี่ยต่อหัวเดินทางจากเวียงจันทน์ไปแถึงแค่บ่อเต็นซึ่งเป็นด่านชายแดนลาว (แต่คับคั่งไปด้วยคนจีน ธุรกิจจีนและบ่อนจีน)

การจะไปถึงคุนหมิงต้องต่อจากบ่อเต็นเข้าไปด่านบ่อหาน (หรือตำบลมั๋วฮาน) เทศมณฑลเมืองล้า เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา

เส้นทางนี้ไม่ได้ใกล้ๆ รวมแล้วไกลถึง 1,022 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7-10 ชั่วโมง วิ่งด้วยความเร็ว 160/200 กม./ชม. แต่ก็ยังเร็วกว่ารถไฟไทย (รถด่วนพิเศษวิ่ง 90-120 กม./ชม.)

ข้อมูลที่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ตของจีน (ซึ่งยังยืนยันไม่ได้) ราคาตั๋วทั้งสายแบบไปกลับอยู่ที่ 700 หยวนหรือหรือเกือบ 3,500 บาท ซึ่งไม่ได้ถูกเลยเมื่อเทียบกับค่าตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปคุนหมิงที่บางฤดูกาลถูกกว่านี้อีก

บอกกันตามตรงว่าราคาตั๋วขนาดนี้ อย่าว่าแต่คนลาวเลยคนไทยสักกี่คนที่จะยอมจ่าย

แต่มันไม่ใช่ปัญหาของคนชอบเดินทางโดยรถไฟ สำหรับนักเดินทางสายสโลว์ไลฟ์มันคือเส้นทางในฝันเลยทีเดียว เพราะการเดินทางจากกรุงเทพฯไปคุนหมิงและจากคุนหมิงไปปักกิ่ง และจากปักกิ่งสู่เส้นทางสายทรานส์ไซบีเรียจะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป และไม่ต้องไปเสียเวลาอ้อมไปขึ้นเส้นทางรถไฟเวียดนาม-จีนอีกด้วย

ลางเนื้อชอบลางยา อันนี้ก็ว่ากันไป

อีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ฝันของการเดินทางจากกรุงเทพฯไปคุนหมิงโดยทางรถไฟยังเป็นหมัน คือเส้นทางในไทยยังไม่เสร็จ กว่าจะเสร็จก็คงจะปาเข้าไปในปี 2027 ซึ่งฟังดูอาจจะช้า แต่พอมดีมีการระบาดเกิดขึ้นทำมันยังพอช้าแบบกล้อมแกล้มไปได้

แน่ล่ะ เส้นทางนี้เป็นรถไฟความเร็วสูงเหมือนกับในลาวนั่นเอง แต่ที่มีภาษีดีกว่าคือไทยยังพอที่จะต่อรองเอาเทคโนโลยีมาจากจีนได้ด้วย ต่างจากลาวที่พลีร่างให้เป็นที่ตั้งทางรถไฟให้จีนสถานเดียว

แถมลาวยังแบกรับหนี้บานเบอะ ในปี 2019 Lowy Institute ในออสเตรเลียประเมินหนี้ของลาวที่ติดจีนอยู่ที่ 45% ของจีดีพีเป็นตัวเลขที่น่าขนลุกมาจนบางประเทศที่เป็นคู่กรณีกับจีนประโคมว่านี่คือกับดักหนี้ที่จีนดึงลาวเขามาเป็นเหยื่อ

ค่าใช้จ่ายของโครงการเส้นทางรถไฟบ่อเต็น-เวียงจันทน์อยู่ที่ประมาณ 5,965 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 37,425 ล้านหยวน รัฐบาลลาวกู้ยืมเงิน 60% (3,600ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน และส่วนที่เหลืออีก 40% (2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้รับทุนจากบริษัทร่วมทุนระหว่างลาว-จีนโดยจีนถือหุ้น 70% ของบริษัท ส่วนที่เหลือของสัดส่วนการถือหุ้นรัฐบาลลาวจ่ายเงิน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากงบประมาณของประเทศ และกู้ยืมอีก 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน

พุดกันตรงๆ คือจีนให้ลาวกู้เพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าจีนอีกต่อหนึ่งนั่นเอง

แล้วผลมันเป็นอย่างไร? เมื่อเดือนกันยายน 2020 สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์รายงานที่อ้างว่าเนื่องจากภาระหนี้ก้อนโต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจีน ทำให้ลาวถูกบังคับให้ยอมยกอำนาจการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศส่วนใหญ่ให้แก่บริษัทจีน

ไบรอัน เอย์เลอร์ (Brian Eyler) แห่งองค์กรที่ปรึกษา Stimson Center ในวอชิงตันถึงกับบอกผ่านรอยเตอร์ว่า "การให้จีนมีส่วนสำคัญใน 'แผนแบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' ทำให้ลาวกลายเป็นกึ่งๆ มณฑลของจีนได้อย่างรวดเร็ว" 'แผนแบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' ก็คือแผนการของลาวที่จะขายกระแสไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นรายได้เดียวของลาวที่เป็นเป็นกอบเป็นกำที่สุด แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าแผนนี้จะถูกจีนเขมือบไปซะแล้ว

แต่หนี้ของลาวไม่ไดเกิดจากการสร้างทางรถไฟ หรือของลาวเกิดจาก 'แผนแบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' นั่นแหละ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจกแจงว่า

เหตุผลแรกที่ทำให้หนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นคือเงินกู้ยืมจำนวนมหาศาลที่นำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ

ประการที่สอง เงินกู้จำนวนมากที่ทุ่มเข้าไปในโครงการที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือสร้างรายได้เพื่อให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้ได้ โครงการเหล่านี้ไม่ได้ผลและไม่ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ไม่แต่เท่านั้น ยังมีการใช้งบประมาณส่วนใหญ่ในการซื้อรถยนต์และสร้างสำนักงานสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลต้องใช้เงินในการบำรุงรักษามากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ใช้เงินกู้เพื่อสร้างโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าเมื่อโรงงานสามารถสร้างรายได้จากการดำเนินงานก็จะทำให้รัฐบาลสามารถชำระคืนเงินที่ยืมมาได้

สมดี ดวงดียังแจกแจงไปถึง 5 ข้อซึ่งล้วนแต่กลับมาที่ข้อ 2 คือลาวบริหารงานการคลังไม่มีประสิทธิภาพ นำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน แม้แต่การนำเงินไปสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขายซึ่งถือว่าชาญฉลาดในระดับหนึ่งก็ยังไม่ให้ผลเต็มเม็ดเต็มห่วย แสดงว่าลาวมีปัญหามากๆ เรื่องการบริหารการคลัง

ทำไมถึงเป็นแบบนี้? David Hutt แห่ง The Diplomat ตั้งข้อสังเกตว่าเพราะลาวปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวจนไม่กล้าตรวจสอบกันเอง เขาบอกว่า "แทบไม่มีการกำกับดูแล ระบบราชการทำงานด้วยความจงรักภักดีไม่ใช่ความสามารถ ไม่มีองค์กรอิสระที่จะตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ... ที่สำคัญที่สุด ระบบการเมืองทั้งหมดขึ้นอยู่กับการแสวงผลในระยะสั้น เนื่องจากไม่มีการรับประกันว่าระบอบเลนินนิสต์จะยืนยงต่อไปอีกยี่สิบปีข้างหน้าหรือไม่"

ข้อสังเกตนี้นับว่าแหลมคมมาก และอาจเป้นคำตอบว่าทำไมดังนั้นลาวไม่มีทางเลือกนอกจากต้อง 'ขอความช่วยเหลือ' จากจีน และลาวเป็นประเทศแรกๆ ที่ตอบสนองแนวคิดเรื่อง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ของสีจิ้่นผิง และที่สำคัญลาวกับจีนคุยกันง่ายเพราะเป็นระบอบมารร์ซิสต์เหมือนกัน

ที่สำคัญก็คือลาวอาจหวังให้จีนเข้ามาช่วยคานอำนาจกับเวียดนาม ซึ่งมีอิทธิพลต่อลาวในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมาอย่างยาวนาน

นับตั้งแต่ที่จีนสยายปีเข้ามาในอาเซียนและช่วยโครงการสร้างเขื่อนของลาว เวียดนามก็ร้อนรนเป็นพิเศษ ทั้งจากการที่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงส่งผลต่อเวียดนาที่อยู่ท้ายน้ำ และจากการที่จีนกลายเป็นเจ้าหน้าที่รายใหญ่ของลาวแทนที่ตนไปเสียแล้ว

เวียดนามนั้นไม่ต้อนรับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนเอาเลย ต่างจากยาวที่อ้าแขนรับประเทศแรกๆ นักวิชาการชาวเวียดนามบางคนกลัวว่าโครงการโครงการรถไฟคุนหมิง–สิงคโปร์ (คือเส้นเดียวกับคุนหมิง-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์) มีเจตนเพื่อเพื่อแยกเวียดนามออกจากส่วนอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะไม่ได้แล่นผ่านเวียดนาม

การที่ลาวดึงจีนเข้ามาทำให้เวียดนามอยู่ไม่เป็นสุข เวียดนามจึงทั้งยื่นเงินและความช่วยเหลือต่างๆ นัยว่าเพื่อซื้อใจลาว ไม่ใช่แค่เวียดนาม ญี่ปุ่นที่กังวลกับอิทธิพลของจีนที่จะเข้ามาแทนที่ทธิพลของตนในแผ่นดินใหญ่อาเซียนก็ยื่นเงินให้ลาวเช่นกัน ญี่ปุ่นนั้นเดิมทีมีแผนการที่จะคุมเส้นทางสายที่เชื่อมต่อภาคอีสานของไทย ข้ามไปลาว และออกเวียดนาม แต่ตอนนี้แผนการดังกลาวถูกจีนไล่บี้อย่างหนัก

ตอนนี้เวียดนาม ญี่ปุ่น และไทยพยายามซื้อใจลาว แต่ญี่ปุ่นทุ่มเงินก้อนใหญ่สุดและเวียดนามก็เร่งสานต่อความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ไม่ให้เสีย "มิตรสหาย" ที่ร่วมการปฏิวัติกันมา

เวียดนามนั้น "มีอิทธิพล" ต่อกัมพูชาและลาวมาแต่าไหนแต่ไร แม้ว่าฉากหน้าจะเรียกว่า "มิตรสหาย" แต่น่าสงสัยว่าอำนาจของเวียดนามที่มีเหนือประเทศเหล่านี้อาจมีมากมากว่าความเป็นมิตรสหาย

เราไม่รู้ว่าฮุนเซ็นคิดอย่างไร ตัวเขามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเวียดนาม การที่เขามีอำนาจมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะเวียดนามช่วยอยู่ไม่น่อย แต่ปรากฎวาระยะหลังฮุน เซ็นไปซบกับจีนแบบแนบแน่นจนเรียกว่าเป็นสหายใหม่ที่แน่นแฟ้นมาก ทั้งเงินและการลงทุนใหญ่ๆ ที่ไหลเข้ากัมพูชาล้วยมาจากจีน

เวียดนามเสียกัมพูชาไปแล้วหนึ่ง ตอนนี้กำลังเสียลาวให้กับจีน

คนนอกที่เป็นอริกับจีนอาจคิดว่านี่เป็นการล่าอาณานิคมแบบใหม่อย่างหนึ่งที่จีนอาศัยหนี้และการลงทุนมาเป็น "อาวุธ แต่พวกเขาไม่ได้คิดลึกๆ ว่าทำไมผู้นำกัมพูชาและลาวจึงอ้าแขนรับจีน

เช่นกัน ในแง่การคลังโครงการทางรถไฟที่ผ่านลาวอาจไม่สมประโยชน์ลาวเอาเลย เพราะสร้างทั้งหนี้และเป็นที่ให้จีนกอบโกย แต่ในแง่การเมืองมันอาจมีนัยสำคัญที่ลาวยอมพร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้มันมา

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo - ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว (ซ้าย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน (ขวา) พูดคุยกันก่อนพิธีลงนามที่ห้องโถงใหญ่ของประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2020 (ภาพโดย Mark Schiefelbein / POOL / AFP)