posttoday

"เหรียญโลหิต" เหตุผลที่จีนกวาดล้าง Bitcoin

25 พฤษภาคม 2564

มีปมเงื่อนบางอย่างที่ทำให้จีนต้องเร่งกวาดล้างการทำเหมืองคริปโต มันเกี่ยวกับปัญหาระดับโลกและปัญหาระดับชาติ

"หลิวเฮ่อ" เป็นเทคโนแครตที่สีจิ้นผิงให้ความไว้วางใจที่สุด เขาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, ผู้อำนวยการหน่วยงายภายใต้คณะกรรมการกิจการการเงินและเศรษฐกิจกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังเป็นเป็นหัวหน้าคณะกรรมการความมั่นคงทางการเงินและการพัฒนา เรียกได้ว่าเป็น "ซาร์เศรษฐกิจ" ของจีนก็ว่าได้

หลิวเฮ่ออยู่ในกระแสความสนใจอย่างมากในเวลานี้ และคนในวงการคริปโตเคอร์เรนซี่อาจจะคุ้นชื่อเขาขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะเขาเป็นพลังเบื้องหลังในการที่จีนออกคำสั่งแบนการทำเหมืองขุด Bitcoin จนทำให้ราคาของมันดิ่งพรวดจากที่อยู่ในช่วงขาลงอยู่แล้ว

ปัจจัยต่างๆ รวมถึงท่าทีแข็งกร้าวของจีนทำให้มูลค่าของ Bitcoin ดิ่งลง 50% ช่วงกลางเดือนเมษายน ส่วนมูลค่าของตลาดคริปโตทั้งหมดทั้งมวล หายไป 1.3 ล้านดอลลาร์ เพียง 2 สัปดาห์หลังจากทำออลไทม์ไฮท์

ท่าทีของจีนแข็งกร้าวมากเพราะมีความจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แต่ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดทุน เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เงินหมุนในมือนักเก็งกำไรได้ง่าย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม คณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาของสภาแห่งรัฐ ได้ประชุมโดยหลิวเฮ่อเข้าร่วมด้วยแถลงการณ์การประชุมถึงกับใช้คำว่า "ระบบการเงินจะต้องปฏิบัติตามการตัดสินใจและการปรับใช้ของคณะกรรมการกลางพรรคและสภาแห่งรัฐอย่างเฉียบขาด"

ดังนั้นจึง "จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่หลากหลายเพื่อรักษาสภาพคล่องที่เหมาะสมและเพียงพอ ป้องกันและคลี่คลายความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมวัฏจักรเศรษฐกิจและการเงินในด้านที่เป็นคุณ" การจะทำเช่นนั้นได้ทางคณะกรรมการได้ระบุเป้าหมาย 3 ข้อ ซึ่งข้อที่ 2 ที่ทำให้โลกคริปโตถึงกับสั่นสะเทือนก็คือ ...

"ประการที่สอง คือการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงทางการเงินอย่างเฉียบขาด ยึดมั่นในแนวความคิดการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เสริมสร้างการตรวจสอบที่ครอบคลุม และการเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงิน ส่งเสริมการปฏิรูปสถาบันการเงินขนาดเล็กและขนาดกลาง มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงด้านเครดิต เสริมสร้างการกำกับดูแลกิจกรรมทางการเงินขององค์กรแพลตฟอร์ม"

"ปราบปราม Bitcoin พฤติกรรมการขุดและการซื้อขายและป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงของปัจเจกบุคคลไปยังภาคสังคมอย่างเด็ดขาด จำเป็นต้องรักษาการดำเนินการอย่างราบรื่นของตลาดหุ้น, หนี้ และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ปราบปรามกิจกรรมด้านหลักทรัพย์ที่ผิดกฎหมายอย่างรุนแรง และลงโทษกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายและเป็นอาชญากรรมอย่างรุนแรง"

ทางคณะกรรมการไม่ได้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องปราบปราม Bitcoin แต่เราสามารถอนุมานได้ว่าทางคณะกรรมการมองมันเป็นความเสี่ยงหรืออาจถึงขั้นเป็น "กิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายและเป็นอาชญากรรมอย่างรุนแรง"

"หลิวเฮ่อ" คงจะจับตา Bitcoin มาสักพักแล้วถึงออกคำสั่งเด็ดขาดแบบนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลิวเฮ่อได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดงาน "ฟอรั่มถนนการเงินประจำปี" โดยกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปสำหรับระบบการเงินของจีนคือการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มใหม่ๆ

ข้อที่สี่ที่เขากล่าวถึงคือ "การมุ่งเน้นไปที่บทบาทของเทคโนโลยีทางการเงิน, บิ๊กดาต้า, การประมวลผลแบบคลาวด์, บล็อกเชน, ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงนิเวศวิทยาทางการเงินในอนาคตอย่างมาก จำเป็นต้องแสวงหาข้อดีและหลีกเลี่ยงข้อเสียเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่มีสุขภาวะที่ดี"

จะเห็นว่าปาฐกถานี้สะท้อนออกมาในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมนั่นเอง และย้ำว่าจีนสนใจเรื่องบล็อกเชนเพราะมันคือการเงินแห่งอนาคต แต่พวกเขาจะเลือกเอาเฉพาะข้อดีของมัน ส่วนข้อเสียจะตัดทิ้งไป

มีสองสามเหตุผลที่เป็น "ข้อเสีย" ที่จีนจะต้องกวาดล้าง Bitcoin

ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าจีนคือประเทศที่ทำการขุดคริปโตมากที่สุดในโลก (โดยเฉพาะ Bitcoin ในอัตราสูงถึง 60% - 95%) เนื่องจากมีเงื่อนไขปัจจัยที่เหมากับการขุด คือมีไฟฟ้าราคาถูกและมีพื้นที่กว้างขวางและอุณหภูมิไม่สูงนักซึ่งดีต่อระบบให้ความเย็น ดังนั้นพื้นที่ของจีนที่มีการขุดคริปโตมากที่สุดคือทิเบต (ที่อากาศเย็น) และมองโกเลียใน (ที่ค่าไฟถูกมาก)

ดังนั้นนักขุด Bitcoin จากทั่วทุกมุมโลกจึงหลั่งไหลกันมาที่จีนเพื่ออาศัยข้อดีจุดนี้ แต่ข้อดีของนักขุดคือข้อเสียของชาวโลก เพราะค่าไฟราคาถูกในจีนได้มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งการใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลกในการผลิตไฟฟ้าและในทิเบตไฟฟ้ายังมาจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งก่อความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ยังไม่นับปัญหาการสร้างเขื่อนของจีนที่ขวางลำน้ำสำคัญของเอเชียซึ่งไหลมาจากทิเบต เช่น แม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำโขง

การที่จีนปล่อยให้มีการขุด Bitcoin โดยอาศัยปัจจัยเหล่านี้ทำให้จีนถูกโจมตีมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือ เควิน โอเลียลี (Kevin O’Leary) นักลงทุนชื่อดังชาวอเมริกันที่เมื่อต้นเดือนเมษายนเขาบอกกับ CNBC ว่า “ผมเห็นเหรียญสองชนิดในปีหน้าหรือสองปีข้างหน้า (คือ) เหรียญโลหิตจากประเทศจีน (และ) เหรียญสะอาดที่ขุดได้อย่างยั่งยืนในประเทศที่ใช้พลังน้ำไม่ใช่ถ่านหิน ผมจะอยู่เคียงข้างเหรียญที่สะอาด”

โอเลียลีถึงกับเรียก Bitcoin จากจีนว่าเป็น "เหรียญโลหิต" (Blood coin) เพราะเขาเห็นว่ามันเกิดขึ้นจากการทำลายโลก ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นการใช้คำที่รุนแรงไปสักหน่อยอาจเป็นเพราะบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนไม่สู้ดีนัก อะไรๆ ที่เป็นจีนจึงมักถูกมองว่าเป็น "ผู้ร้ายไปซะหมด"

หลังจากโอเลียลี โพล่งเรื่องเหรียญโลหิตขึ้นมาตลาดก็ยังไม่แยแสเท่าไร แถม Bitcoin ยังทำราคาถึงจุดพีคในช่วงกลางเดือนเมษายนด้วย

จนกระทั่งอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก้าวเข้ามา

มัสก์มีส่วนทำให้ Bitcoin ร้อนแรงสุดๆ ด้วยการเชียร์มันอย่างออกหน้าออกตาและโดยการปฏิบัติจริงเช่นการให้บริษัท Tesla รับ Bitcoin ในการทำธุรกรรมซื้อขายรถยนต์

แต่แล้วเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมก็เหมือนฟ้าผ่าลงกลางตลาด Bitcoin เมื่อเขาทวีตว่า

"Tesla ระงับการซื้อรถโดยใช้ Bitcoin เรากังวลเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับการขุดและการทำธุรกรรม Bitcoin โดยเฉพาะถ่านหินซึ่งมีการปล่อยเชื้อเพลิงที่เลวร้ายที่สุด คริปโตเคอร์เรนซี่เป็นความคิดที่ดีในหลายๆ ระดับและเราเชื่อว่ามันมีอนาคตที่สดใส แต่สิ่งนี้ไม่ควรจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม Tesla จะไม่ขาย Bitcoin ใดๆ และเราตั้งใจที่จะใช้มันเพื่อการทำธุรกรรมทันทีที่การขุดเปลี่ยนไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น เรากำลังดูสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่ใช้พลังงาน/ธุรกรรมน้อยกว่า 1% ของ Bitcoin"

ผลก็คือราคาของ Bitcoin ดิ่งเหวยาวถึง 2 สัปดาห์ กว่ามันจะเด้งขึ้นมาอีกครั้งก็เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมเมื่อมัสก์ทวีตอีกครั้งว่า

"ได้พูดคุยกับนักขุด Bitcoin ในอเมริกาเหนือ พวกเขามุ่งมั่นที่จะเผยแพร่การใช้งานหมุนเวียนในปัจจุบันและตามแผนและขอให้คนงานเหมือง WW ให้ทำเช่นนั้น มีแนวโน้มที่มีศักยภาพ"

ท่าทีของมัสก์นี้บอกอะไรกับเรา?

ในทวีตแรกเขาเอ่ยถึงการทำลายสิงแวดล้อมและการใช้ถ่านหินเพื่อขุด Bitcoin ถึงแม้จะไม่เอ่ยชื่อแต่เราก็เดาได้ไม่ยากว่าเขาหมายถึงการขุดเหรียญในจีนและเป็นแสดงจุดยืนเหมือนโอเลียรีว่าจะไม่ยอมรับ "เหรียญโลหิต" จากจีน ในทวีตต่อมาที่ทำให้มูลค่าของเหรียญกระเตื้องขึ่้นมา เขาเอ่ยถึงการร่วมมือกับนักขุดใน "อเมริกาเหนือ" ซึ่งไม่น่าจะพ้นสหรัฐหรือแคนาดาเพื่อพัฒนาเหรียญที่ใช้พลังงานหมุนเวียน

มันหมายความว่ามัสก์กำลังนำกระแสสลัด Bitcoin ให้พ้นจากจีนนั่นเอง

แต่ข้อหา "เหรียญโลหิต" ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ทางการจีนต้องควบคุม Bitcoin จีนแสดงท่าทีมาก่อนหน้าที่โอเลียรีและมัสก์จะแสดงออกชัดๆ แล้วว่าจะไม่ปล่อยให้มีการขุดโดยสวาปามพลังงานอย่างบ้าคลั่งอีกต่อไป ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ทางการเขตปกครองตนเองมองโกเลียนอกมีคำสั่งให้ "เก็บกวาดและปิด” การดำเนินการขุดคริปโตทั้งหมดในพื้นที่มองโกเลียในภายในสิ้นเดือนเมษายน 2021 สาเหตุก็เพราะมองโกเลียในเป็นพื้นที่เดียวของจีนที่ทำไม่เข้าเป้าการลดการบริโภคพลังงาน

ยังไม่ทันไรเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปมองโกเลียใน (DRC) กล่าวในการประกาศว่าได้จัดตั้งสายด่วน, อีเมลและที่อยู่อีเมลเฉพาะเพื่อเป็นช่องทางให้กับคนในพื้นที่เพื่อแจ้งให้รัฐบาลทราบหากได้เบาะแสมาว่ายังมีเหมืองคริปโตดำเนินการอยู่ในมองโกเลียใน มาตรการนี้เป็นการเก็บกวาดพวกเหมืองคริปโตเถื่อนหลังจากพ้นเส้นตายไล่ให้หมดจากมองโกเลียในตั้งแต่เดือนเมษายน

ถ้ามองเฉพาะการกวาดล้างของมองโกเลียในมันจะสอดคล้องกับเป้าหมายของจีนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการบริโภคพลังงานฟอสซิลหันมาเน้นพลังงานหมุนเวียนเรื่องนี้สีจิ้นผิงเป็นคนประกาศด้วยตัวเอง เพราะเป็นเรื่องจริงจังระดับวาระแห่งชาติ

เหมืองคริปโตคือตัวผลาญพลังงานและสร้าง "เหรียญโลหิต" ที่ฆ่าโลกทางอ้อมขึ้นมา ดังนั้นจึงควรแล้วที่จะถูกปิด แต่มันยังมีเหตุผลเรื่องที่เหมืองขุดต่างๆ ทำตัวเป็น "นักโหน" ที่ใช้พื้นที่จีนกอบโกยความมั่งคั่งโดยาอาศัยค่าไฟถูก อาศัยที่ดินของจีน และยังอำพรางเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เพราะบางแห่งไม่ได้บอกว่ากำลังขุด Bitcoin แต่เป็นศูนย์ดาต้าต่างหาก

เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเหตุให้กวาดล้างได้ แต่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลหนักเท่ากับความกังวลของจีนเรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน

ก่อนที่หลิวเหอจะออกมาขึงพืด Bitcoin ไม่กี่วัน (18 พฤษภาคม) มันมีสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วจากแถลงการณ์ของสมาคมการเงินทางอินเทอร์เน็ตของจีน, สมาคมการธนาคารของจีน, สมาคมการชำระเงินและเคลียริ่งของจีน ซึ่งเป็นสมาคมกึ่งหน่วยงานรัฐ

ทั้งสามสมาคมออกมาเตือนเรื่อง "การป้องกันความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในธุรกรรมสกุลเงินเสมือนจริง" เพราะ "เมื่อเร็วๆ นี้ราคาสกุลเงินเสมือนได้เพิ่มสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วแล้วกิจกรรมการซื้อขายสกุลเงินเสมือนได้ดีดตัวขึ้นอีก สร้างความปั่นป่วนต่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้คนอย่างร้ายแรงและขัดขวางความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจและการเงินตามปกติ"

ทางสมาคมได้ย้ำว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะใช้เงินคริปโตไปทำธุรกรรมในโลกแห่งความเป็นจริง (ซึ่งเรื่องนี้จีนประกาศว่าผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2013) แต่ย้ำถึงปัญหาใหม่ที่น่ากังวลคือการเก็งกำไร โดยกล่าวว่า

"สกุลเงินเสมือนจริงไม่มีการรองรับมูลค่าที่แท้จริงและราคาสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายมาก กิจกรรมการซื้อขายเก็งกำไรที่เกี่ยวข้องมีความเสี่ยงหลายประการ เช่น ความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ที่ผิดพลาด, ความเสี่ยงจากความล้มเหลวทางธุรกิจและความเสี่ยงจากการเก็งกำไรการลงทุน เมื่อพิจารณาจากแนวทางการพิจารณาคดีในประเทศจีนแล้ว สัญญาการทำธุรกรรมสกุลเงินเสมือนไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและผลที่ตามมา และความสูญเสียที่เกิดจากธุรกรรมการลงทุนจะตกเป็นภาระของคู่สัญญาเอง"

มีไม่กี่เรื่องในทางเศรษฐกิจการเงินที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจีนกับสหรัฐเห็นตรงกัน นั่นคือเห็นตรงกันว่าคริปโตคือการเก็งกำไร และเตือนนักลงทุนให้ระวังอยู่ตลอด แต่คำเตือนนี้ถูกมองว่าเป็น "อาการริษยา" ของธนาคารกลาง/รัฐบาลที่มีต่อคริปโตที่ถูกวางให้เป็นการเงินแห่งอนาคต และเป็นความริษยาที่เกิดจากการถูก "การเงินแบบระจายอำนาจ" ท้าทายการเงินแบบรวมศูนย์

หลังจากการแสดงจุดยืนของภาคการเงินซึ่งเป็นการเตือนในจีนเป็นหลัก หลิวเฮ่อผู้เป็นซาร์เศรษฐกิจก็ออกโรง ทำเอาเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในวงการคริปโต

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนเล่นงาน Bitcoin และเคยเล่นจนราคาตกพรวดแบบนี้มาแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือจีนไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่นักลงทุน แต่เล็งไปที่นักขุด ผลก็คือไม่กี่หวันหลังจากนั้นบริษัทที่ทำเหมือนขุดในจีนเริ่มถอนตัวออกไป ต่อจากนี้คงต้องไปหาทำเลทองกันใหม่ ซึ่งมัสก์พบแหล่งแล้วคือนักขุดในอเมริกาเหนือ

ตอนนี้จีนกำลังกังวลเรื่องหนี้พอกพูนในภาคการเงินและกิจกรรมการเก็งกำไรอยู่ในระดับที่น่าห่วงซึ่งอาจเป็นวิกฤตได้ง่ายๆ ไม่น่าแปลกใจหรอกว่าทำไมจีนถึงปิดเหมืองและกำจัด "เหรียญโลหิต" ให้พ้นไปจากประเทศ

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Lars Hagberg / AFP